คู่มือ ช่างประจำบ้าน

คำนำ
บ้านคือวิมานของเรา เมืองไทยแดดร้อน ถ้าบ้านร้อน ชีวิตจะหาความเจริญก้าวหน้าไม่ได้ จะอ่านหนังสือก็ไม่มีสมาธิ จะทำงานใช้แรงก็ทำไม่ได้นานต้องหยุดพักให้หายร้อน ถ้ามีรถแล้วแดดส่องรถ ต้องหมั่นหาผ้ามาคลุม ถ้าเข้าออกทุกวัน ต้องหมั่นคลุมผ้าเปิดผ้าทุกวัน เสียเวลาจนไม่ได้ทำอย่างอื่น ถ้าระบบส้วมไม่ดี ส้วมเต็มบ่อย ต้องตักส้วมตักท่อเป็นระยะ

ช่างรับเหมาเป็นอาชีพ ไม่เหมือนกับ เจ้าของบ้านทำเอง เพราะ ช่างอาชีพต้องการปริมาณงานมากกว่าคุณภาพ และส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์ไม่ดีพอ หลายคนทำชุ่ยๆ เช่น ถ้าให้มาเจาะผนังในบ้าน เพื่อแขวนรูป เขาจะไม่มีสว่านดูดฝุ่น พอเจาะเสร็จ ฝุ่นก็เลอะเต็มบ้าน แถมยังไม่มีเครื่องดูดฝุ่นอีกต่างหาก

ช่างรับเหมาเป็นอาชีพ มักจะเรียนมาน้อย คำแนะนำของช่างเหล่านี้ จึงเชื่อไม่ค่อยได้ ยกตัวอย่างเช่น บ้านผู้เขียนมีช่างแอร์เดินผ่านมาดูแล้วบอกว่า ห้องนี้ต้องติดแอร์ 2 ตัน แต่ผู้เขียนไม่เชื่อ เพราะตนเองเคยเรียนวิศวะมา คำนวณแล้วว่าห้องนี้ตันเดียวก็เหลือเฟือ พอติดตันเดียวก็พอจริงๆ ถึงแม้จะเป็นห้องใต้หลังคา ในวันที่ร้อนที่สุดก็ตาม ไม่มีฉนวนกันความร้อนด้วย พอติดแอร์อีกตัว ขนาดตันครึ่งปรากฎว่าแอร์ตัดบ่อยมาก มีเพื่อนบ้านใกล้กับผู้เขียน เชื่อช่างแอร์ ติดแอร์ขนาดใหญ่ 2 ตัน มาบ่นให้ฟังว่า ต้องเสียค่าไฟถึงเดือนละ 4-5 พันบาท ขนาดเป็นห้องสร้างใหม่ และเปิดแอร์แค่ตอนนอน ส่วนห้องผู้เขียน มีขนาดเดียวกับเพื่อนบ้าน แต่ใช้แอร์อินเวอร์เตอร์แค่ตันเดียว แถมห้องเก่ากว่า มีรูรั่วตามขอบหน้าต่างมากกว่า และที่สำคัญ เปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน ยังเสียค่าแอร์เพิ่มแค่เดือนละไม่ถึง 1 พันบาท ถ้าหน้าร้อนจัดก็พันกว่าบาท

ช่างรับเหมาเป็นอาชีพ ที่เรียนมาน้อย มักจะมีความคิดแคบๆ ที่ไม่ตรงกับโลกแห่งความเป็นจริงมากนัก งานบ้านบางครั้งมีความหลากหลายมากกว่างานรับเหมา เช่น ถ้าถามช่างว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องเจียรปรับรอบได้หรือไม่ เขาก็จะบอกว่าไม่จำเป็น แต่พอผู้เขียนซื้อมาใช้ ก็พบว่ามีประโยชน์มาก เคยใช้เพื่อลับมีดที่ยู่มาก ตัดขอบไม้เล็กๆน้อยๆ ฯลฯ แม้แต่ตัดเหล็กก็ยังไม่เคยใช้ถึงครึ่งหนึ่งของรอบสูงสุดสักที หรือ ถ้าถามผู้รับเหมาว่า ต้องการเจาะรูแขวนของแค่ไม่กี่รู ควรจะซื้อสว่านแบบใด เขาก็จะแนะนำให้ซื้อสว่านราคาถูกๆ เพราะเขาไม่รู้ความจริงว่า การซื้อสว่านดีๆสักอัน จะเก็บไว้ใช้ได้นาน เวลาจำเป็นก็หยิบมาใช้ได้ เพื่อนผู้เขียนซื้อสว่านราคาถูกๆมาใช้ เจอบางรูแข็งเจาะไม่เข้า

ช่างบางคนงานเยอะหรือเล่นตัวมาก กว่าจะตามตัวได้ เรื่องรอไม่มีปัญหา แต่บางทีรับปากแล้วไม่มา ทำให้เรารอเก้ออีก บางคนทำชุ่ยๆ เช่น ทำพื้นห้องน้ำไม่เรียบทำให้น้ำขัง บางคนทำเสียเพราะรู้ไม่จริง วันไหนช่างมาทำ เราก็ต้องสละเวลามาเฝ้าดูให้กำลังใจช่างอีก ถ้าต้องมาเฝ้าช่างแค่คนเดียว ก็ไม่ต่างจากเสียเวลาทำเองเลย บางทีซ่อมเสร็จแล้วอาการก็ยังไม่หายเพราะซ่อมผิดจุดเนื่องจากช่างรีบมา รีบกลับ ไม่ได้ดูด้วยความละเอียดรอบคอบ ทำให้เราต้องเสียค่ารถให้ช่างไปฟรีๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงต้องลงมือทำด้วยตนเอง ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ทำแล้วปัญหาจบ ถ้ามีเครื่องมือที่ดีพอก็จะทำงานได้เร็วมาก การซ่อมบ้านด้วยตนเองเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะ ทำครั้งเดียวจบ ถ้าทำอย่างประณีต ใช้วัสดุดีๆ ทำเสร็จแล้วใช้ได้นานมาก

และช่างทั้งหลายเถียงเก่งด้วย ถ้าเราให้ช่างทำ แล้วมองเห็นปัญหาที่เขาทำ แต่พอชี้ปัญหาให้เขาดู เขากลับเถียงไปทางอื่น ซึ่งถ้าเราไม่มีประสบการณ์  จะตอบโต้เขาไม่ได้ ช่างเหล่านี้เชื่อมั่นในประสบการณ์ของตนเอง แต่ประสบการณ์ของเขาอาจจะไม่ได้มาตรฐานที่วิศวกรหรือสถาปนิกรู้ ทำให้ทำออกมาแล้วไม่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสามารถลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่าง แล้วบอกให้เขาทำตาม เพื่อให้เขาทำได้ถูกต้องตามที่เราต้องการ และ เพื่อเวลาเราสั่งให้เขาทำแล้ว เขาจะได้เชื่อฟัง เพราะช่างจะเชื่อคนที่เคยทำจริง

ผู้ เขียนเองไม่ได้มีอาชีพเป็นช่างจึงสามารถเปิดเผยความรู้ได้โดยไม่ปิด บัง อาศัยบิดาเป็นช่างสารพัดมีเครื่องมือมากจึงมีโอกาสรู้จักเครื่องมือ มากและสอนให้ใช้เครื่องมือมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ต่อมาเวลาต้องทำงานช่าง จึงรู้ได้ทันทีว่าใช้เครื่องมือไหนทำอะไร แต่ยุคนั้นยังมีเครื่องมือจำกัด แต่เครื่องมือไหนที่ไม่เคยใช้ก็จะไม่รู้ เมื่อเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมบ้าง ในเรื่องมาตรฐานและแนวคิดว่า เรื่องที่เราคิดตื้นๆมักจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ต้องคิดลึกซึ้งซับซ้อนขึ้น ช่วงนั้นมีรถยนต์ใช้จึงได้รู้จักเฮียบวรเป็นช่างซ่อมรถยนต์ฝีมือดี ช่วยสอนเรื่องเครื่องมือและวิธีคิดเรื่อยมาตลอด 30 ปี ให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ยินมาอาจยังไม่ใช่ความจริง ต้องคิดหลายแง่มุมและลงรายละเอียดลึกจึงจะพบว่าความจริงอาจตรงข้าม กัน เมื่อผู้เขียนเริ่มทำงานด้านไอทีซึ่งเริ่มรุ่งเรืองในยุคนั้น (brinkstudio.com) ต้อง ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า และต่อมาทำงานด้านสุขภาพ (คลายา) ต้องยุ่งเกี่ยวกับสาร เคมีและการก่อสร้าง จึงเริ่มมีโอกาสได้ลงมือทำแต่ยังไม่เคยสนใจทำด้วยตนเองจริงจัง จนกระทั่งวันหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชายทะเลหาดเจ้าไหม ตั้งใจว่าจะนอนกางเต๊นท์ริมชายหาดแต่ยุงเยอะมาก ถ้าใส่เสื้อผ้ามิดชิดก็จะร้อนจนเหงื่อชุ่มแต่ถ้าไม่ใส่ก็จะโดนยุงกัดต้องฉีด ยากันยุงจนแสบผิวและเวียนหัว คืนนั้นเองทำให้ผู้เขียนคิดได้ว่าเหตุผลที่เราต้องมีบ้านอยู่ คือเพื่อกันแดด กันฝน กันยุง ผู้เขียนจึงตัดสินใจจะกลับมาซ่อมบ้าน แต่หาช่างมีฝีมือดีๆไม่ได้จึงต้องลงมือทำด้วยตนเองทำให้ค้นพบว่าหน้าที่ หนึ่งของผู้ชาย คือ สร้างบ้าน เพราะเป็นงานที่ผู้หญิงทำได้ไม่ดีเท่าเรา ถึงแม้จะจ้างช่างแต่ก็ไม่อาจรับประกันคุณภาพได้ ผู้เขียนมีเพื่อนที่จ้างช่างมาสร้างบ้านพอสร้างเสร็จแล้วเขาพบว่า มีปัญหามากมายที่เขาต้องตามแก้ไข สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องกลายมาเป็นช่างเสียเอง เพื่อนหลายคนมีฐานะชอบทดลองเครื่องมือแปลกๆดีๆเพื่อใช้ซ่อมบ้าน ผู้เขียนจึงได้อาศัยเรียนรู้จากความผิดพลาดของเพื่อนๆ แต่ถ้าเป็นความคิดสร้างสรรค์และวิธีคิดให้ตรงตามโลกแห่งความเป็นจริง จะได้จากการฝึกสมาธิตามแนวทางของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมากจนต้องเขียนลงหนังสือเพื่อกันลืมมาตั้งแต่ปี 2553

ถึงแม้ว่ารุ่นพ่อแม่จะสร้างบ้านไว้ให้แล้ว แต่บ้านหลังหนึ่งจะมีอายุประมาณ 50 ปีก็เริ่มโทรม นั่นคือมีอายุอยู่ไม่เกินรุ่นพ่อแม่เรา แม้แต่คอนกรีตก็มีอายุ 50 ปี แต่ฝืนได้ไม่เกิน 100 ปี (จะทำให้นานกว่านั้นก็ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน เพราะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก และบ้านมักจะถูกรื้อสร้างใหม่ก่อนหมดอายุ เพราะล้าสมัย) ถ้าเราไม่สร้างบ้าน รุ่นลูกเราก็จะไม่มีบ้านดีๆอยู่ คนส่วนใหญ่พอใช้ชีวิตคู่แล้ว มักจะลืมคิดไปว่า ต้องมีห้องให้เพียงพอกับลูกๆทุกคน และมีห้องที่สงบและเย็นให้ลูกได้ใช้สมาธิอ่านหนังสือ ผลของบ้านที่ไม่ดี คือโอกาสที่ลูกจะเรียนเก่งแล้วก้าวขึ้นเป็นชนชั้นหนึ่งในสังคม หรือมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานนั้น น้อยเต็มที

หลักการทำงานช่าง
เครื่องมือที่เหมาะสม จะทำให้งานยากกลายเป็นงานง่าย ถ้าไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม งานง่ายจะกลายเป็นงานยาก ต้องเสียเวลานาน หรือทำไม่ได้เลย สาเหตุที่คนเจ็บตัวหรือทำสิ่งของเครื่องใช้เสียหาย ก็เพราะ มีเครื่องมือที่ไม่เหมาะสม เช่น บางคนเปลี่ยนหลอดไฟ โดยใช้เก้าอี้ แล้วเก้าอี้เอียง ทำให้เขาตกลงมาบาดเจ็บ แต่พอเปลี่ยนไปใช้บันไดพับแล้ว ปรากฎว่าสามารถเปลี่ยนหลอดไฟได้อย่างง่ายดาย หรือ อย่างการตัดกิ่งไม้ ผู้เขียนเคยเห็นเพื่อนใช้เลื่อยโซ่ ตัดจนเลื่อยพัง จนน้ำมันหมดไปเป็นลิตร ก็ยังตัดไม่ขาด แต่พอผู้เขียนนำขวานไปให้เขาทดลองฟันแบบเจาะ ปรากฎว่าสามารถตัดกิ่งไม้ขาดได้อย่างง่ายดาย

การจะมีเครื่องมือแต่ละชิ้น ต้องเดินทางออกไปซื้อ ไปแต่ละครั้งเสียทั้งเงินทั้งเวลา ด้วยเหตุนี้ งานช่างจึงต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า คิดแล้วจดไว้ให้ครบว่าต้องซื้ออะไรบ้าง แล้วเดินทางไปซื้อเครื่องมือในเวลาที่เหมาะสม การซื้อในเวลาที่เหมาะสม อย่างช่วงโปรโมชั่น มักจะได้ลดราคาด้วย บางอย่างซื้อ 1 แถม 1 หากรู้ว่าสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านใกล้จะขาดหรือเสีย แล้วจำเป็นต้องแก้ไข ควรซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้าให้นานที่สุด อย่ารอให้ขาดหรือเสียแล้วค่อยมาทำ เพราะเวลานั้นจะเดือดร้อนไม่มีใช้ แล้วการหาซื้อเครื่องมือตอนเร่งรีบ จะมีอุปสรรคมากมาย เช่น ได้ของไม่ครบทำให้ต้องไปหลายเที่ยว และมักจะไม่ค่อยมีทางเลือกในการซื้อของมากนักเพราะเวลาจำกัด

งานช่างมักจะผิดพลาดมากที่สุดในตอนวัดระยะ ถ้าวัดผิดหรือวัดไม่ครบ ก็จะซื้อเครื่องใช้ผิดขนาด หรือ ตัดผิดขนาด ทำให้เสียเงินไปฟรีๆ ส่วนขั้นตอนการทำ ไม่ว่าจะตัดหรือเจาะอะไรก็ตาม เมื่อมีเครื่องมือที่เหมาะสมแล้ว มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความผิดพลาด แต่การวัดไม่จำเป็นต้องวัดให้เที่ยงตรงเป๊ะ บางทีต่างกันครึ่ง ซ.ม. อาจเป็นเพราะตอนวัดจับไม่ตรง บางทีฉาบปูนพลาดก็เกินแล้ว

การสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ต้องใช้เครื่องมือหลายชิ้น เครื่องมือแต่ละชิ้น ควรจะสะอาด หากมีเครื่องมือชิ้นใดสกปรก  ควรจะทำความสะอาดก่อนเก็บ เพื่อป้องกันสนิม และป้องกันฝุ่นติดไปยังที่เก็บ ทำให้เครื่องมืออื่นเลอะไปด้วย แต่ถ้ายังทำไม่เสร็จ ก็ยังไม่ควรเก็บเครื่องมือมาทำความสะอาด เพราะจะเสียเวลาไปกับการเก็บเข้าเก็บออก

เครื่องมือที่มีสายไฟ อย่างเช่น สว่าน ควรวางกับพื้นแล้วหาอะไรมารองกันเสียดสี ไม่ควรวางบนโต๊ะ เพราะมีโอกาสที่จะเดินเตะสายไฟ แล้วเครื่องมือหล่นลงมาเสียหาย

งานช่างที่เราไม่ได้ทำเป็นอาชีพ ไม่ควรจะเดินทางไปทำให้บ้านคนอื่น เพราะบ้านคนทั่วไปจะมีเครื่องมือไม่ครบ แม้แต่บ้านของช่างก็ยังมีเครื่องมือไม่ครบ พอเครื่องมือไม่ครบจะทำงานลำบาก ต้องเดินทางไปมาเพื่อขนเครื่องมือ นอกจากนี้ เจ้าของบ้านแต่ละคนมีนิสัยไม่เหมือนกัน  บางคนจุกจิกจู้จี้ห่วงแต่เรื่องประหยัดไฟหรือทำความสะอาดบ้าน ทำให้เราทำงานลำบากขึ้น ถ้าจำเป็นต้องไปทำงานช่างให้ใคร ก็ต้องเขียนรายการวัสดุและอุปกรณ์ แล้วบอกให้เจ้าของบ้านเตรียมไว้ให้พร้อม แต่ถึงกระนั้นก็ยังอาจจะมีรายการที่เราตกหล่นไป เจ้าของบ้านจึงต้องอยู่ดูแลและคอยจัดหาให้ ถ้าเจ้าของบ้านไม่อยู่อำนวยความสะดวก ก็อย่าไปทำเลย เพราะถ้าวัสดุอุปกรณ์ไม่พร้อม จะทำด้วยความยากลำบาก

ข้อเสียของการทำงานช่างด้วยตนเอง คือ ต้องเสียเงินซื้อเครื่องมือไม่ใช่น้อย และ ยังต้องเสียเวลาทำมาก แต่ข้อดีคือ ทำได้แข็งแรงและเรียบร้อยมากกว่า

ปลอดภัยไว้ก่อน
การ ทำ งานช่างที่ใช้แรงหรือมีความเสี่ยง ควรใส่แว่นตาเสมอ ป้องกันฝุ่นหรือเศษไม้เศษโลหะกระเด็นเข้าตา แม้แต่เครื่องตัดหญ้า ยังเคยดีดน็อตกระเด็นเข้าไปทิ่มตาคน ผู้เขียนเคยเจอมากับตัวเองที่เศษหินกระเด็นมาใส่หน้า ตอนที่คนตัดหญ้าจะอยู่ห่างไปเกือบสิบเมตร แม้แต่งานง่ายๆอย่างฉีดสเปรย์หล่อลื่น อาจมีละอองสเปรย์สะท้อนกลับเข้าตา หรือแค่ซ่อมพัดลมยังเคยเจอใบพัดลมเก่าเปราะ หมุนแล้วสั่นแตกกระจายออกมาเอง

ถ้าอากาศไม่ร้อน งานเกี่ยวกับของแข็งของมีคม ควรจะใส่ถุงมือด้วย ถ้าอากาศร้อนอาศัยเป่าพัดลมช่วยจะดีกว่า เพราะ แม้แต่ขันน๊อต มือก็มีโอกาสลื่นไปกระแทกกับของแข็งที่อยู่ใกล้ ที่เราเห็นช่างส่วนใหญ่ไม่ใส่ถุงมือ ไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันนั้น คือพวกชุ่ย ถ้าใช้พวกหมุนมีคมทั้งหลาย อย่างสว่านเมื่อลงรูแล้วยังไม่อันตรายเท่าไหร่ แต่พวกเครื่องเจียร และ เลื่อยโซ่ ซึ่งมีคมสองด้าน สามารถสะบัดได้ตลอดเวลา แค่สะบัดโดนตัวเราเพียงแค่เสี้ยววินาที ก็อาจทะลุเข้าไปถึงกระดูก เคยมีคนโดนทั้งนิ้วเกือบขาด เด้งกลับมาใส่หน้าหรือหน้าอกจนทะลุถึงกระดูก หรือตัดทะลุขา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงเครื่องมือมีคม 2 ด้านเหล่านี้ ใช้เครื่องมือที่มีคมด้านเดียวอย่างขวาน หรือเลื่อยชัก จะปลอดภัยกว่ามาก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสมอ ถ้าไม่เร่งรีบควรเปลี่ยนไปทำในวันที่อากาศเย็น (เมืองไทยจะมีอากาศร้อนสลับเย็นประมาณทุก 3 วัน) ถ้าอากาศไม่ร้อนควรใส่เสื้อผ้าหนาๆ กินข้าวให้อิ่ม นอนหลับให้เพียงพอ จะได้มีแรงถือให้มั่นคง ถ้าใส่อุปกรณ์ป้องกันไม่ไหวเพราะอากาศร้อนแล้วไม่มีพัดลม ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ใจเย็นๆ ค่อยทำช้าๆ วันละนิดวันละหน่อย ดีกว่ารีบทำแล้วผิดพลาด อุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นตอนใกล้เสร็จ แค่มือกระตุกนิดเดียว นิ้วหายไปได้ทั้งนิ้ว ถ้าจะตัดต้นไม้ด้วยเลื่อยโซ่ ใช้แบบต่อด้ามหรือจ้างคนที่ชำนาญมาทำดีกว่า เคยมีแม้แต่คนที่ถูกกิ่งไม้ล้มทับขณะปีนต้นไม้อยู่ทำให้เสียชีวิต การตัดแผ่นไม้บ่อยๆควรใช้เลื่อยที่ออกแบบมาเฉพาะ อย่างเลื่อยวงเดือนหรือเลื่อยจิ๊กซอว์ เด้งกลับมาแล้วไม่เสี่ยงอันตรายมาก

การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าในบ้าน ต้องระวังเรื่อง ไฟดูด เพราะแค่ไฟดูดทีเดียวก็ตายได้ โดยไฟฟ้าจะไหลผ่านร่างกายลงสู่พื้น สะพานไฟคือตัวตัดไฟเข้าบ้าน ช่วยให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าสับสะพานไฟลงไม่ได้ ต้องป้องกันตัวเอง โดยใส่ถุงมือผ้าหรือยาง ยืนบนเก้าอี้ไม้หรือพลาสติก หรือ อย่างน้อยก็ต้องใส่รองเท้าที่เป็นฉนวน และต้องไม่มีตัวนำไฟฟ้าอย่างอื่นสัมผัสกับส่วนอื่นของร่างกาย อย่างน้ำหรือตู้เหล็ก ส่วนรองเท้าจะเป็นฉนวนดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความต้านทานไฟฟ้าของรองเท้า ถ้าสูงหน่อยอาจจะรอด พวกรองเท้าที่ออกแบบมาเฉพาะจะดีมาก แต่ถ้ารองเท้าเป็นฉนวนน้อยหรือเปียกน้ำอาจจะร่วง หากไม่มีฉนวนกั้นระหว่างร่างกายกับพื้น เวลาจับสวิทซ์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีไฟรั่วหรือไม่ ควรใช้หลังมือแตะ เพราะ เวลาไฟดูด เราจะสะดุ้ง แล้วชักมือกลับ หรือดีดออกมาได้และไม่หดเกร็งเมื่อถูกไฟดูด แต่ถ้าใช้ฝ่ามือจับแล้วไฟดูด กล้ามเนื้อจะหดตัว ทำให้มือบีบติดอยู่อย่างนั้น อย่างเวลาเปิดปิดสวิทซ์ไฟ ผู้เขียนจะใช้หลังมือกดจนเป็นนิสัย โดยงอนิ้วแล้วใช้ข้อนิ้วกด ไม่ใช้นิ้วชี้จิ้มตรงๆ เวลาเจอคนโดนไฟดูดก็เช่นกัน ให้ใช้เท้าที่ใส่รองเท้าถึบออก อย่าใช้มือ เพราะอาจจะโดนดูดไปด้วย ถ้าเป็นการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูปอย่างเช่น พัดลม หรือ ตู้เย็น มักจะไม่จำเป็นต้องป้องกันตัวอะไรเลย แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประกอบใช้เอง อย่างเต้ารับหรือสายไฟพ่วง ก่อนเริ่มใช้นอกจากจะต้องตรวจสอบการลัดวงจรแล้ว ยังไม่ควรทดลองใช้ตอนกลางคืน เพราะถ้าพลาดขึ้นมาจะหาซื้ออะหลั่ยไม่ได้ ผู้เขียนเคยเจอฟิวส์ขาดไฟดับทั้งบ้าน หาซื้อฟิวส์เปลี่ยนไม่ได้ เพราะ ตอนกลางคืนร้านค้าปิดหมด เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือพวกที่มีน้ำร่วมด้วย เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น หรือ ปั๊มน้ำ เพราะ ถ้าไฟรั่ว ไฟฟ้าจะไหลมากับน้ำ และ น้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดี


งานที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายกระจก เช่น ประตู หน้าต่าง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เคยมีคนที่กระจกหลุดจากกรอบแล้วหล่นใส่เท้า

วิธีจ้างช่าง
แน่นอนว่า งานช่างทุกชนิด เราทำเองจะดีที่สุด เพราะ ช่างมีหลายแบบ บางคนไว้ใจได้ เราไม่ต้องทำอะไรเลย แค่อยู่คอยตอบคำถามบางอย่างที่เขาไม่แน่ใจ หรือ ไม่ต้องอยู่ก็ยังได้ แต่ช่างบางคนไว้ใจไม่ได้ ทำชุ่ยๆตามใจตัวเอง สักแต่จะทำให้เสร็จๆ ไม่คิดถึงความแข็งแรง ถ้าไม่คุมให้ดี ทำเสร็จแล้วอาจต้องตามมาซ่อมทีหลัง ขนาดเจ้าของบ้านมีความรู้มาคอยคุม บอกให้ช่างแก้ไขให้ดีกว่านี้ เขายังไม่ทำตาม เช่น ไม่ล้างฝุ่นออกก่อนที่จะเทปูนใหม่ทับปูนเก่า เขาอาจจะตอบรับว่าได้ เวลาที่เราบอกเขา แต่ถึงเวลาจริงๆกลับไม่ทำ แต่บางครั้งงานก็เยอะเกินกว่าที่เราจะทำเองได้หมด จึงจำเป็นต้องจ้างช่าง แต่ก่อนจะจ้างช่าง เราควรจะลงมือทำเองก่อน เพื่อเวลาจ้างช่าง จะได้รู้ว่า ช่างทำถูกหรือไม่ และ จะได้รู้ว่าต้องดูแลช่างอย่างไร ช่างที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ย่อมทำงานได้เร็วขึ้น และ มีกำลังใจทำงานมากขึ้น

การหาช่าง ควรไปตามจุดที่มีการก่อสร้าง ถ้าช่างอยู่แถวนั้นจะดีมาก เพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถแพงเพื่อเดินทางมาทำงาน เราไม่ต้องลำบากเราหาที่พักให้ และเราไม่ต้องไปคลุกคลีหรือรับผิดชอบชีวิตเขาหลังเลิกงาน ดูช่างคนไหนมีผลงานเป็นอย่างไร ถูกใจหรือไม่ ถ้าถูกใจก็ค่อยคุยว่าเขารับจ๊อบหรือไม่ ช่างส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ค่อยมาก เมื่อมีรายได้เพิ่มก็ย่อมจะยินดี คนที่อยู่ในวงการก่อสร้าง อย่างพวกรับถมดิน ร้านวัสดุก่อสร้าง หรือแม้แต่ช่างด้วยกัน จะรู้ว่าช่างคนไหนประวัติและผลงานเป็นอย่างไร มีความรับผิดชอบแค่ไหน โกงลูกค้าหรือไม่

ช่างมีฝีมือดีเพียงใด ถ้าไปดูผลงานจริงจะดูไม่ค่อยรู้ เพราะ สิ่งสำคัญคือพวกโครงสร้าง จะโดนปกปิดหมดแล้ว ถ้าเป็นปูนก็ฉาบและทาสีทับแล้ว แต่ถ้าเราลองคุยกับเขาก็จะรู้ได้ โดยคุยเรื่องการซ่อมแซมบ้าน ซึ่งเป็นงานที่ต้องละเอียดมากกว่าสร้างใหม่ เช่น ถามว่ากระเบื้องเดิมทาสีไว้แล้ว จะปูกระเบื้องทับ เขาจะทำอย่างไร ถ้าช่างคนไหนที่บอกว่าปูทับสีเดิมได้เลย แสดงว่าชุ่ย แต่ช่างคนไหนที่กรีดกำแพงให้ยึดเกาะดีขึ้น ถือว่าดีขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าดีทีสุดจะต้องลอกสีเดิมออก หรือ ถ้าอยากรู้ว่าเขาก่ออิฐมวลเบาเป็นหรือไม่ อาจลองถามว่า ก่ออิฐมวลเบา 300 ก้อน ใช้ปูนก่ออิฐมวลเบากี่ลูก ถ้าเขาประมาณไม่ถูก หรือ ประมาณไว้มากเกินไป (ในขณะที่คนขายหรือผู้ผลิตบอกว่าใช้แค่ถุงเดียว) แสดงว่าเขาก่ออิฐมวลเบาไม่เป็น ผู้เขียนเคยใช้ช่างที่ก่ออิฐมวลเบาไม่เป็น เขาใช้ปูนถึง 5 ถุงต่ออิฐมวลเบาแค่ 100 ก้อน ทำให้สิ้นเปลืองมาก แถมช่างยังเถียงว่า ต้องก่อหนาๆจึงจะแข็งแรง

การจ้างช่างที่ยังไม่รู้นิสัยใจคอกัน ควรจ้างเป็นงานเล็กๆ แล้วดูผลงานและความรับผิดชอบ ถ้าช่างไม่ดี ทำชุ่ยๆ ทำๆหยุดๆ ทิ้งงาน คิดแพงเกินไปเบิกเงินล่วงหน้า หรือ ลักของ ฯลฯ เราจะได้ไม่เจ็บตัวมาก (แค่หยิบวัสดุก่อสร้างที่เหลือใช้ไปโดยไม่ขอ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว แต่การขอสิ่งของบางอย่างจากเราไป ก็ถือว่าใช้ไม่ได้เช่นกัน) ถ้าเจอช่างประเภทนี้ ให้รีบหาข้ออ้างหยุดจ้าง จะได้ไม่ต้องเดือดร้อนมากไปกว่านี้ เช่นอ้างว่าช่วงนี้ยุ่ง ไม่มีเวลามาช่วยดู โดยตกลงกันให้ชัดเจน อย่าเงียบหายไป เพราะจะเกิดความสับสนขึ้นภายหลัง แต่ถ้าช่างดี ทำเสร็จแล้วไม่มีงานค้าง จึงค่อยจ้างทำงานอื่นใหม่ ทำจนแน่ใจจริงๆว่าช่างคนนี้ไม่มีปัญหา จึงค่อยจ้างทำงานใหญ่ วิศวกรถูกสอนมาให้ดื่มเหล้าเป็น เพื่อจะได้ชวนคนงานไปดื่มเหล้า คนงานที่เมาแล้วมักจะเผยความจริงต่างๆออกมา อย่างบางคนเมาแล้วซ้อมเมีย แสดงให้เห็นว่าเขามีจิตใจที่โหดร้ายกับคนอื่นด้วย คนที่ดื่มเหล้าจัดก็พอจะรู้ได้ว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องเงิน มีนิสัยลักขโมย และ ทำงานชุ่ยๆเพียงเพื่อให้ตัวเองได้เงิน ช่างบางคนที่มีหนี้สิน เช่น ออกรถใหม่ ต้องผ่อนทุกเดือน ก็จะต้องเร่งหาเงินจนไม่มีเวลาทำงานให้ดีได้เช่นกัน

การจ้างช่างมาทำ จะนิยมเหมาค่าแรงแล้วเจ้าของหาวัสดุมาให้ เพราะ เคยมีปัญหาเรื่องช่างหาวัสดุคุณภาพต่ำมาให้ หรือ บวกเปอร์เซนต์กับทางร้าน หรือ  ลักวัสดุส่วนหนึ่งไป หรือ สั่งมาเกินเพื่อที่จะขอในภายหลัง ถ้าวัสดุพร้อม ช่างก่อสร้างจะทำได้เร็วมาก เพราะพวกเขามีความชำนาญมาก สาเหตุที่งานก่อสร้างช้า เพราะวัสดุไม่พร้อม ก่อนช่างจะมา จึงต้องเตรียมวัสดุให้พร้อม ซึ่งการเตรียมวัสดุจะต้องใช้เวลา เพราะ วัสดุแต่ละตัวมีรายละเอียด ถ้าเลือกไม่ดีจะได้ของคุณภาพต่ำมา วัสดุก่อสร้างบางตัวหาซื้อไม่ได้ เพราะของหมด จะเสียเวลาช่างมาก เพราะเขามาทำครั้งหนึ่งจะทำได้ไม่ครบทั้งวัน พอไม่มีอะไรทำ เขาก็จะว่าง ถ้าสร้างบ้านก็ต้องเตรียมปูน ทราย หิน ถ้าทำหลังคาก็ต้องเตรียมเหล็ก งานปูนจะต้องรอให้ปูนแห้ง ทั้งโครงสร้างและก่ออิฐ ระหว่างนั้น ช่างจะว่าง จึงมักจะเปลี่ยนไปทำงานอื่น เช่นทำหลังคา

การจ้างแบบเหมา แน่นอนว่า คุณภาพตามราคา ยิ่งถ้าต่อรองมากก็จะได้งานคุณภาพต่ำ ดังนั้น ถ้าต้องการงานคุณภาพดี จะต้องหาช่างที่เชื่อใจได้ และควรจะตกลงกันตั้งแต่แรกว่า ขอให้ทำให้ดี ยอมจ่ายแพง และเจ้าของต้องอยู่อำนวยความสะดวกด้วย มิฉะนั้น พอช่างขาดวัสดุตัวใด ก็จะทำแบบชุ่ยๆอีก แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่รับประกันว่าจะได้งานคุณภาพอย่างแท้จริง เพราะช่างส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับการทำงานราคาถูก ต้องเจอลูกค้าหลากหลาย ลูกค้าบางคนกดราคา เขาจึงต้องหลบเลี่ยงด้วยการทำชุ่ยๆจนเคยชิน เราจึงจำเป็นต้องหาช่างที่ผลงานไว้ใจได้ แต่ถ้า ต้องการงานคุณภาพอย่างแท้จริง ต้องจ้างแบบรายวัน แล้วมีเจ้าของบ้านที่พอรู้เรื่องมาคอยจี้อยู่ตลอดเวลา ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะลูกจ้างรายวัน ถ้าไม่โดนจี้ก็จะไม่ทำ ซึ่งวิธีที่จะจี้ได้ตลอดเวลาคือ เจ้าของบ้านต้องลงมือทำเอง แล้วจ้างคนมาเป็นผู้ช่วย งานที่ไม่ต้องอาศัยความชำนาญมากนัก เช่น ช่วยจับ ช่วยยก ก่ออิฐ หรือทาสี จ้างคนที่ไม่เป็นช่างจะดีกว่า เพราะนอกจากค่าแรงจะถูกกว่าแล้ว คนที่ไม่ใช่ช่าง จะทำตามสั่ง ไม่ทำตามประสบการณ์ของตัวเอง และไม่ลักวัสดุไปใช้กับงานรับเหมาที่อื่น แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้น อย่างเช่น ช่างปูน ก็ให้ค่าจ้างรายวันสูงหน่อย  แต่การที่เจ้าของบ้านลงมือทำเอง ควรจะมีคนช่วยหาซื้อวัสดุให้ด้วย เพราะวัสดุบางชิ้นอาจขาดขึ้นมากระทันหัน ถ้างานไม่เยอะ อาจจะจ้างเป็นครั้งๆไป โดยตกลงกันว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ยกของ เก็บกวาด แล้วให้เขาเสนอราคามา ถ้างานไหนไม่รีบ ควรจดรวมๆกันไว้ แล้วค่อยจ้างมาทำทีเดียวจะคุ้มค่าแรงมากกว่า

การหาวัสดุมาให้ช่าง ควรทำด้วยความรอบคอบ เพราะช่างมักจะไม่รอบคอบ โดยเฉพาะกับวัสดุเล็กๆน้อยๆ ก่อนทำเราต้องคุยกับช่างว่าเขาจะทำอะไรบ้าง แล้วเตรียมวัสดุไว้ให้พร้อม ถึงแม้ว่าช่างจะยังไม่ได้บอกให้ซื้อ หรือ ถามแล้วเขาบอกว่าวัสดุตัวนี้ยังไม่รีบใช้ แต่วันดีคืนดี เขาก็อาจจะรีบใช้ขึ้นมา เพราะช่างส่วนใหญ่มักจะมองใกล้ๆแค่ปากกับจมูก ไม่มองไกลๆ พวกเขาจึงต้องใช้แรงงานอยู่อย่างนั้น ก่อนทำเขาอาจจะบอกให้เราซื้อวัสดุเฉพาะเท่าที่เขาต้องการใช้ พอทำไปได้สักพัก เขาก็จะต้องการวัสดุอื่นขึ้นมากะทันหัน ทำให้เราต้องเสียเวลาไปซื้อแทบทุกวัน วันละนิดวันละหน่อย แค่เกิดลืมซื้อน็อตหรือน็อตไม่พอ ก็ต้องออกไปหาซื้ออีกแล้ว  ถ้าเป็นพวกของใหญ่ๆหนักๆ อย่างปูน ก็ต้องเสียค่าขนส่งให้ทางร้านหลายรอบ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมาส่งได้ทันทีด้วย ช่างรับเหมา จะเน้นความเร็ว ถ้าวัสดุไม่ครบ บางทีช่างก็อาศัยดัดแปลงทำแบบรวกๆ ลัดขั้นตอน ทำให้ได้งานคุณภาพต่ำ ไม่แข็งแรง ใช้ได้ไม่นานก็พัง เช่น ใช้กาวทาท่อพีวีซีโดยไม่เตรียมพื้นผิวก่อน  หรือ ใช้พุกพลาสติกยึดน็อตอิฐมวลเบาแทนที่จะใช้พุกสำหรับอิฐมวลเบาโดยตรง หรือ ติดโครงเหล็กก่อนแล้วค่อยทาสีทีหลัง ทำให้ทาไม่ทั่วเหมือนการทาสีก่อนติดตั้ง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรซื้อของมาเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยคิดว่าถ้าทำเองต้องใช้อะไรบ้าง คิดให้ละเอียดแม้แต่ของเล็กๆน้อยๆอย่างเช่น กาวทาท่อหรือแปรงทาสี ก็ต้องซื้อมาเตรียมไว้ ไม่เช่นนั้น เราจะต้องเดินทางไปซื้อของเป็นประจำ แต่ถึงจะคิดละเอียดอย่างไรก็ยังพลาด วิธีคิดวัสดุให้พลาดน้อยที่สุดคือ ลองทำเองดูก่อน หลังจากซื้อของมาแล้ว ควรเก็บไว้ไม่ให้ช่างเห็น เมื่อเขาขอจึงค่อยให้ ไม่ควรให้ช่างไปหมด เพราะอาจโดนขโมยบางส่วนไป ผู้เขียนเคยนำปูนโครงสร้าง มาวางคู่กับปูนกาวที่ใช้ปูกระเบื้อง เป็นปูนกาวแบบยึดเกาะสูงมีราคาแพง แล้วให้ช่างมาปูกระเบื้องอย่างเดียว แต่ช่างกลับนำปูนโครงสร้างมาผสมกับปูนกาว ทำให้ปูนกาวมีคุณภาพต่ำลง แต่ถึงกระนั้นก็ยังใช้ปูนกาวมากผิดปกติ ซึ่งอธิบายได้ว่า ช่างขโมยปูนกาวบางส่วนไป แล้วนำปูนคุณภาพต่ำกว่ามาผสม แต่ในอีกแง่หนึ่ง ต้องนำวัสดุที่ต้องใช้ มาวางไว้ล่วงหน้า มิฉะนั้น เวลาช่างต้องการใช้ขึ้นมาแล้วไม่มี อาจจะไม่ถามเจ้าของบ้าน แต่ใช้วิธีดัดแปลงเลย ที่สำคัญคือ วัสดุ แต่ละประเภท ควรแยกวางคนละจุด แล้วบอกให้ช่างรู้ว่าอะไรวางตรงไหน อย่านำมากองรวมกัน เพราะจะมีปัญหาเรื่องหาของไม่เจอ หรือ หยิบของผิดประเภทมาใช้ ผู้เขียนเคยนำปูนหลายๆชนิดมากองรวมกัน ให้ช่างเห็น แต่ช่างกลับนำปูนกาวปูกระเบื้องมาก่ออิฐมวลเบา โดยอ้างว่าไม่มีปูนก่ออิฐมวลเบา แต่พอเขาไปดูอีกครั้งจึงเจอ ถ้าเป็นวัสดุที่เก็บไว้ไม่มีวันหมดอายุ ควรซื้อเกินดีกว่าขาด เพราะถึงแม้จะไม่ได้ใช้หรือใช้ไม่หมด ก็ยังสามารถเก็บไว้ใช้ได้ในภายหลัง แต่ถ้าเป็นของที่เสื่อมสภาพง่าย อย่างเช่น ปูนซีเมนต์ที่เก็บไว้นานๆจะแข็ง หรือเหล็กที่จะขึ้นสนิม ควรซื้อมาให้พอดี ถ้าขาดค่อยไปซื้อมาเพิ่ม ปัจจุบัน ห้างขายวัสดุใหญ่ๆ จะรับคืนสินค้าใน 30 วันด้วย ถ้ามีอะไรเกินมาเล็กน้อย สามารถนำไปคืนได้ อย่างไรก็ตาม การซื้อวัสดุอะไร ควรจะปรึกษาช่างด้วย มิฉะนั้น ซื้อมาแล้วช่างอาจไม่ได้ใช้ ผู้เขียนเคยซื้อปูนกาวมาเพื่อให้ช่างปูกระเบื้องที่พื้น แต่ช่างกลับใช้ปูนซีเมนต์ธรรมดานำมาผสมทราย โดยอ้างว่า ต้องใช้ปูนในปริมาณมาก ถ้าใช้ปูนกาวคงจะไม่พอ ทำให้ผู้เขียนต้องเสียเงินซื้อปูนกาวไปฟรีๆหลายถุง แถมสุดท้ายต้องยกปูนกาวให้ช่าง เพราะถ้าเก็บไว้ก็จะแข็ง

การสั่งงานช่าง ควรบอกล่วงหน้าจนจบว่าจะทำอะไรตรงไหน ถ้าบอกแล้ววันหลังเขาจำไม่ได้ค่อยมาบอกอีกรอบ แต่อย่าใช้วิธีทำไปบอกไป เพราะ อาจจะบอกไม่ทัน แล้วเขาตัดสินใจเอง ทำให้ตัดสินใจผิด ถึงแม้ว่าเราจะอยู่คุมตลอดเวลา ก็ยังอาจพลาดได้ เพราะช่างจะทำไวมาก

เมื่อให้ช่างมาทำแล้ว ควรถ่ายรูปความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ จุดที่สำคัญที่สุดคือ ตรงเสาและคาน ต้องรู้ว่าใส่เหล็กอย่างไร ใช้เหล็กขนาดเท่าไหร่ ใช้ฐานแผ่ขนาดเท่าไหร่ เผื่ออนาคตต้องการต่อเติม จะได้รู้ว่าทำได้แค่ไหนอย่างไร ผู้เขียนเคยต้องการต่อเติมชั้นบน แต่เมื่อสกัดหัวเสาออกมา พบว่าใส่เหล็กลงไปแค่ 2 หุน 2 เส้น ทำให้ไม่สามารถผูกเหล็กเส้นเพื่อทำเสาคอนกรีตต่อไปได้ ต้องสกัดกำแพงต่อไปจนเกือบถึงคาน จึงจะเจอเหล็กเส้นที่ใช้ทำโครงสร้างเสา แต่ก็ยังไม่สามารถต่อเติมได้มาก เพราะไม่รู้ว่าฐานรากทำมาอย่างไร

ข้อควรรระวังในการจ้างช่างคือ อย่าจ่ายเงินเกิน เพราะถ้าจ่ายเงินเกินแล้วช่างไม่ทำ จะทวงคืนไม่ได้ ช่างที่เชื่อใจกัน จะเก็บเงินเมื่อเสร็จงาน แต่ถ้ายังไม่เชื่อใจกันก็จะเบิกเป็นช่วงๆ แต่เบิกน้อยกว่างานที่ทำไปแล้ว ถ้าเจอช่างที่ขอเบิกเงินล่วงหน้า เกินกว่างานที่ได้ทำไปแล้ว ให้หาข้ออ้างผลัดไป เช่น รออีกคนมาตรวจงานก่อน หรือ ติดปัญหาเรื่องการโอนเงิน ฯลฯ แล้วรีบหาจังหวะที่เหมาะสมเลิกจ้างช่างคนนี้ เพราะแสดงว่าช่างคนนี้ใช้ไม่ได้แล้ว แต่อย่าไปทะเลาะกับช่าง หรือแสดงออกว่าไม่พอใจ เพราะช่างจะทำงานที่เหลือด้วยความไม่พอใจ ทำได้ไม่ดี หรือทำให้ไม่ครบ ถ้าจะต่อว่าช่าง ควรจะรอให้จบงานเสียก่อน ถ้าเป็นช่างที่ยังไม่ไว้ใจกันและงานที่เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้น ควรเขียนสัญญามือ ให้ช่างลงชื่อ อ้างว่าเป็นสัญญากันลืม รายละเอียดที่เรามักจะลืมและโดนช่างเอาเปรียบคือ งานช่วงหลังๆที่เราคิดไม่ถึง เช่น งานฉาบและทาสี ซึ่งพอใกล้จบงานแล้ว ช่างมักจะมาบอกทีหลังว่า ไม่รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้

ช่างเดินสายไฟจะหาตัวได้ยากกว่าช่างก่อสร้าง เพราะต้องใช้ความรู้มากกว่า งานที่เสียเวลามากคือ การต่อสายไฟเข้าเต้ารับ และเดินท่อกับราง ซึ่งเป็นงานกล ส่วนใหญ่วัดตัดเจาะและขันสกรู สามารถใช้ช่างก่อสร้างหรือจ้างคนทั่วไปมาช่วยได้ เพียงแต่เราต้องเตรียมสายไฟไว้ให้พร้อม ป้องกันเขาใช้สายไฟต่างขนาดกัน ซึ่งจะทำให้ต่อไม่แน่น สายเล็กที่ต่อกับสายใหญ่อาจร้อนจนเกิดไฟไหม้ได้ ต่อเสร็จแล้วตรวจสอบรอยต่อทุกจุดให้แน่นก่อนประกอบเข้าที่ เพราะรอยต่อที่หลวมจะทำให้เกิดไฟไหม้ได้

งานประปาส่วนใหญ่ช่างก่อสร้างสามารถทำได้ แค่ระวังตอนเชื่อมต่อท่อต้องแข็งแรง ไม่รั่วทีหลัง และอย่าเดินท่อคดไปมา จะเกิดแรงต้านทำให้น้ำอ่อน จุดไหนที่ต้องงอท่อ 90 องศา ควรหาทางเลี่ยงไปใช้ท่องอทีละ 45 องศาแทน


อุปกรณ์

ปกรณ์ที่ไม่ควรใช้ คือ ตะปู กาว และเชื่อม เพราะว่าจะหลุดง่าย เหมาะจะใช้แค่งานชั่วคราว เช่น ใช้ตะปูตอกไม้ทำแบบหล่อเสาคอนกรีต

หลักการซื้อเครื่องมือ
เครื่องมือราคาถูก จะมีความแม่นยำต่ำ โอกาสเสียง่าย เราควรลงทุนกับเครื่องมือราคาแพงสักหน่อย เพราะเครื่องมือช่างมีอายุยาวนาน หากเก็บดีๆใช้ได้เป็นร้อยๆปี

ระวัง สินค้าของยุโรป ช่างและคนเคยใช้จะรู้ว่า ปัจจุบันไม่ได้ทนทานเหมือนในอดีตแล้ว เพราะออกแบบมาไม่ดี เหมือนไม่ค่อยมีสมอง หมดประกันแล้วเสียทันที เสียแล้วซ่อมแพงมาก ค่าช่างก็แพง ค่าอะหลั่ยก็แพง เพราะต้องเปลี่ยนยกชุด ไม่มีอะหลั่ยขายแยก ไม่มีอะหลั่ยเทียม สินค้าของอเมริกาบางยี่ห้อก็เริ่มจะมีปัญหาเสียง่ายแบบเดียวกัน

ทำเลสร้างบ้าน
บ้านสมัยก่อน อาศัยอยู่ริมคลอง เพราะไม่มีถนน ต้องอาศัยสัญจรทางน้ำ แต่พอถึงฤดูน้ำหลาก มักจะโดนน้ำท่วม บ้านอยู่ห่างจากแม่น้ำมาเกือบ 100 เมตรยังไม่พ้นจากน้ำท่วม แถมสัตว์ที่อยู่ตามพื้น มีโอกาสเข้าบ้าน ตั้งแต่งูไล่ไป บ้านของไทยในสมัยก่อนจึงยกพื้นสูง แต่ปัจจุบัน บ้านเปลี่ยนมาอยู่ริมถนน แถมมีเขื่อนฝายกันน้ำท่วม การทำชั้นล่างเป็นที่อยู่อาศัยจึงเป็นไปได้ แต่ต้องยกพื้นสูงเล็กน้อยเผื่อฝนตกน้ำท่วม เพราะระบายไม่ทัน

ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่แออัด ทำอะไรก็ไม่สะดวก แค่ที่จอดรถยังหาไม่ได้ ขึ้นไปจอดรถในตึกก็ลำบาก คิดจะขยายอะไรก็ลำบาก ทำได้แต่งานใช้ปากกับซอฟท์แวร์ ไม่เหมาะแก่การสร้างตัวหรืออยู่อาศัย อย่างแถวสุขุมวิท บางกะปิ วางผังเมืองไม่ดี แออัดมาก ถนนในซอยยังจอดรถไม่ได้ มีแต่คนโง่ที่ไปอยู่อย่างนั้น

บ้านไม่ควรอยู่ใกล้ทะเลมากเกินไป เพราะร้อนและยุงเยอะ ริมทะเลมีแดดแรง เวลาน้ำทะเลระเหยจะพาไอร้อนเข้ามาสู่แผ่นดิน ถ้าประเทศเมืองหนาวจะอากาศอุ่นขึ้น แต่ถ้าเป็นประเทศเมืองร้อนจะร้อนจัด แม้แต่ริมทะเลสาบก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน มีตัวอย่างให้เห็นอย่างแถวบางนาซึ่งใกล้ทะเล จะมีอากาศร้อนที่สุดในกรุงเทพ แม้แต่ประเทศเมืองหนาวที่ไม่หนาวจัดอย่างเกาหลี และญี่ปุ่น ช่วงต้นเดือน สค.ขนาดอยู่ติดทะเล อุณหภูมิริมทะเลยังขึ้นไปถึง 35 องศา ร้อนจนคนไม่สามารถใช้ชีวิตกลางแจ้งได้ ลมทะเลจะนำคลอไรด์มาด้วย แล้วกัดจนอุปกรณ์ต่างๆที่ทำจากเหล็กขึ้นสนิมหมด แม้แต่อลูมิเนียมและสเตนเลสก็ไม่รอด บริเวณใกล้ทะเลจึงไม่เหมาะจะทำงานทุกชนิด มีจุดเดียวที่อยู่ได้คือ ติดชายหาด เพราะมีลมพัดตลอดเวลา ช่วยคลายร้อนจากแสงแดดได้ แต่ก็เป็นได้แค่บ้านพักตากอากาศ ใช้ทำงานอะไรมากไม่ได้ เพราะ แดดแรง และ กัดเหล็กเป็นสนิมหมด

หินถล่มทับบ้านเชิงเขา หลังฝนตกติดกันหลายวัน บ้านที่อยู่ตีนเขา ตายยกครัว

ไม่ควรอยู่ตีนเขา เพราะจะเจอทั้ง น้ำท่วม น้ำป่า และ ดินถล่ม ถ้าต้องการอยู่ตีนเขา ควรหาจุดที่ไม่ใช่ร่องน้ำ เพราะปกติดินจะถล่มแถวร่องน้ำ แต่ต้องระวังภูเขาเตี้ยๆ เพราะยุงอยู่ตามป่าและที่รกๆ หากินทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้าออกมานอกห้องก็จะโดนยุงกัดทันที

เมืองที่อยู่ใกล้ภูเขา และเป็นทางผ่านของน้ำจากภูเขา ลงสู่ทะเล อย่างเช่น พัทยา จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และภาคใต้ทั้งหมดไล่ตั้งแต่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (รวมทั้งหัวหิน) ชุมพร ระนอง ลงไป เวลาฝนตกหนักๆก็มักจะน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเมืองที่มีบ้านเรือนหนาแน่น อย่าง ชลบุรี พัทยา หัวหิน จะมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ จึงเกิดน้ำท่วมได้ง่ายกว่าที่อื่น พอน้ำท่วม ถนนและทางรถไฟก็จะถูกตัดขาดนานหลายวัน แม้แต่เครื่องบินยังต้องหยุด เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำทางภาคใต้ เวลาลมหนาวพัดมาจากจีน ถึงแม้ว่าจะเป็นพื้นที่แถวริมทะเลอย่างเช่น ริมทะเลสาบสงขลา พอน้ำป่ามาเจอน้ำทะเลหนุน ก็ทำให้น้ำท่วมเช่นกัน

เวลาฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ดินเหลว ไหลลงมา พบบ่อยตามเชิงเขาเตี้ยๆ โดยเฉพาะภูเขาที่ถูกเปลี่ยนเป็นสวนยาง สวนผลไม้ แม้แต่ภูเขาลูกใหญ่ๆก็พบบริเวณผาชันและแห้งแล้ง เวลาฝนตกหนักๆ ดินจะแยกชั้น โดยชั้นบนที่มีรากไม้ จะแยกออกแล้วไถลลงมา ดินถล่มระยะทางยาวเกือบสิบกว่ากิโลเมตร เมื่อดินถล่ม ทุกอย่างจะถูกกวาดหายไป เวลาหินถล่ม หินบางก้อนใหญ่เท่ารถบรรทุก บางก้อนเท่ารถกะบะ หล่นลงมาทีละหลายๆก้อน แม้แต่ต้นไม้ใหญ่สูงสัก 50 เมตร ยังหักโค่น ส่วนคนก็จะโดนบีบอยู่ในโคลนหายสาบสูญไป

ที่ดินใกล้ภูเขา ยังมักจะเป็นเขตหวงห้าม ไม่มีโฉนด แต่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทำกิน เช่น สปก, นส.3 ให้เกษตรกรเท่านั้น ต่อมาเกษตรกรนำมาขายต่อ ให้คนต่างถิ่นนำไปสร้างรีสอร์ท เพราะ ใกล้ภูเขาวิวสวย อากาศดี ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 5 พันบาท กลายเป็นไร่ละ 5 ล้านบาท ภายในเวลาเพียงสิบปี เมื่ออสังหาริมทรัพย์เติบโตมากขึ้น มีคอนโดและรีสอร์ทผุดขึ้นตำนวนมาก จนผิดสังเกตุ ทางราชการจึงเข้าไปตรวจสอบ แล้วยึดคืน เพราะใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ มีตัวอย่างของ ที่ดินบริเวณวังน้ำเขียว และ ปากช่อง ช่วงปี 2558 ที่ถูกยึดคืนเป็นจำนวนมาก บ้านผางามรีสอร์ทที่วังน้ำเขียว ที่เปิดมาถึง 16 ปี ลงทุนไปกว่า 160 ล้านบาท ยังถูกปิด

น้ำป่าอาจสูง 6-7 เมตร บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กยังถูกกวาดเรียบ แม้แต่ตอม่อ ยังถูกกระแสน้ำถอนหมด ไม่ต้องพูดถึงรถและคน ที่ถูกกระแสน้ำและโคลนซัดหายไป


คนกรุงเทพหนีไปซื้อบ้านอยู่ปากช่อง (แมกโนเลีย) หวังจะหนีน้ำท่วมโลก แต่สุดท้ายเจอน้ำท่วมหนักกว่ากรุงเทพ
จริงๆแล้วเรื่องน้ำป่า ดินถล่มนี้ ที่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้เลย ที่ๆไม่เคยเกิดก็อาจจะเกิด  แม้แต่มืองที่ใกล้ภูเขา เช่น นครศรีธรรมราช ปากช่อง จันทบุรี หลังจากฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายวัน  จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมตามมา แม้แต่เมืองที่อยู่ไกลออกมา อย่างโคราช มีเขื่อนลำตะคองกั้น ก็ยังน้ำท่วม เพราะเขื่อนรับน้ำไว้ไม่หมด ต้องระบายออกมา บางแห่งถึงแม้จะมีอ่างเก็บน้ำ แต่ถ้าอ่างแตก น้ำจะพัดทำลายบ้านเรือน ไม่ว่าภูเขาจะสมบูรณ์เพียงใดก็ตาม มีโอกาสฝนตกติดต่อกันนานหลายวันจนภูเขารับน้ำไม่ไหว เพราะฉะนั้น ไม่ควรอยู่ใกล้เขา

อยู่ตามแอ่งกะทะ เวลาฝนตกติดต่อกัน จะกลายเป็นจุดรับน้ำ น้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านหลังแรกๆจะเป็นตัวขวางกระแสน้ำ เวลาน้ำล้นขึ้นมาถึงตลิ่ง เป็นเหตุให้น้ำท่วม

บ้านที่อยู่ใกล้ภูเขา มีข้อเสียคือ ภูเขาบังลม ในเมืองไทย มีลมพัดมา 3 ทิศทางคือ ลมทะเลพัดมาจากตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน และจากทิศใต้ในฤดูร้อน ลมหนาวพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว พื้นที่ๆมีภูเขาบังลมทะเล อย่างแถวปากช่อง หรือ แถวแก่งกระจาน เรียกว่าเขตเงาฝน จึงมีอากาศร้อนอบอ้าวและแห้งแล้ง ปลูกอะไรไม่ค่อยจะขึ้น เช่นเดียวกับแถวนครนายกที่ภูเขาบังลมหนาว ทำให้หน้าหนาวอากาศร้อนอบอ้าว ถ้าจะอยู่ใกล้ภูเขา ให้อยู่ติดป่า ติดลำห้วย จะมีลมพัดมาตามลำห้วย

คนภูเขาที่อยู่ไกลทะเล อาจขาดแร่ธาตุจากทะเล เช่น ไอโอดีน อาหารทะเลไม่สด อาจแช่ฟอร์มาลีน

บ้านอยู่ริมทะเลต้องระวังภัยธรรมชาติ อย่างแถบภาคใต้ อาจเจอสึนามิ ไต้ฝุ่น บางที่ไม่มีพายุแต่ยังโดนน้ำทะเลหนุนท่วม บ้านที่อยู่ริมทะเล มักจะมีปัญหาเรื่องน้ำประปาไม่ไหล โดยเฉพาะบริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่มีโรงแรมและคอนโดจำนวนมาก อย่างเช่นหัวหิน หน้าร้อนถึงกับต้องซื้อน้ำอาบเลยทีเดียว แม้แต่จังหวัดที่ใกล้ภูเขา ใกล้ทะเลอย่าง จันทบุรี นครศรีธรรมราช ก็เคยมีปัญหาเรื่องน้ำประปาไม่ไหลในช่วงฤดูร้อน ไม่มีน้ำซักผ้าล้างจาน ข้อดีของจังหวัดที่อยู่ปลายแม่น้ำสายใหญ่อย่างกรุงเทพ คือ มีน้ำประปาใช้ตลอดทั้งปี ส่วนพวกโลหะที่อยู่ริมทะเล ก็จะมีปัญหาเรื่องผุกกร่อนไว เพราะลมทะเลจะพัดพาแร่ธาตุมาด้วย แร่ธาตุเหล่านี้มีส่วนผสมของคลอไรด์เช่น โซเดียมคลอไรด์ แมกนีเซียมคลอไรด์ ซึ่งเร่งการกัดกร่อนโลหะได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก อลูมิเนียม สเตนเลส จะผุเร็วมาก แต่คลอไรด์ไม่ได้ไปทำปฎิกริยาเคมีกับโลหะ แค่เป็นตัวเร่งปฎิกริยาทางไฟฟ้า เช่นเร่งให้เหล็กเกิดสนิมเร็วขึ้น วิธีป้องกันคือใช้พลาสติก ถ้าเป็นโลหะก็ต้องเคลือบพลาสติกอย่างเทฟลอน ซึ่งมีส่วนประกอบของฟลูออไรด์ จึงไม่ดูดซับคลอไรด์ หรือ ใช้โลหะที่ต้านทานการกัดกร่อนจากไอทะเลได้ดี คือ เหล็กชุบสังกะสี (galvanized) แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผู้เขียนเคยวางดอกสว่านไว้ในห้องริมทะเลแค่คืนเดียว วันรุ่งขึ้นเป็นสนิมหมดแล้ว

แถวปากแม่น้ำสายใหญ่ติดกับทะเล อย่างเช่น แถวสมุทรปราการทั้งในตัวเมืองและเส้นสุขุมวิทสายเก่า อ.พระสมุทรเจดีย์ มหาชัย แม่กลอง ปางปะกง ช่วงน้ำทะเลหนุนสูง บวกกับน้ำในแม้น้ำสูงขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน จะมีน้ำท่วมเป็นประจำ

ภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไป เหมือนมีครบทั้งภูเขาและทะเล แต่ไม่มีหน้าหนาวเหมือนภาคกลาง ถ้ามีลมหนาวจากจีนพัดมาเมื่อไหร่ ก็จะเกิดฝนตกหนัก ริมฝั่งมีคลื่นสูงหลายเมตร จนชาวบ้านต้องอพยพหนี กัดเซาะชายฝั่งจนต้นไม้ล้ม แม้แต่ก้อนหินยังถูกคลื่นโยนขึ้นมาบนถนน ช่วงฤดูหนาวของ กทม. คือช่วงฤดูฝนของภาคใต้ แม้แต่ฤดูร้อน ถ้าลมจากจีนพัดมาหลายวัน จะเกิดฝนตกหนักหลายวัน จนกว่าฝนจะหมด อากาศจึงเริ่มเย็นลงบ้างเป็นช่วงสั้นๆ เช่นเดือน มีนาคม 2554 ลมพายุจากจีนพัดเข้ามา ทำให้กทม.อากาศเย็นสบาย แต่ภาคใต้ฝนตกหนักน้ำท่วม หรือช่วงปลายเดือน มค.59 ที่ลมหนาวจากจีนพัดมา ทำให้คลื่นซัดตลอดชายฝั่งไล่ตั้งแต่ประจวบลงไป คลื่นกระทบฝั่งสูงถึง 4 เมตร หากใครเคยไปเที่ยวชายหาดชะอำจะเห็นว่าโดนคลื่นซัดจนต้องนำก้อนหินมาวางกัน คลื่น

ภาคใต้มักจะโอกาสเจอหมอกควันจากไฟป่าหรือภูเขาไฟปะทุที่อินโดนีเซีย โดนตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไป ยิ่งฝั่งอันดามันอย่าง ภูเก็ต สตูล ยิ่งโดนหนัก

อยู่ใกล้ชายแดน อาจเจอประเทศเพื่อนบ้านยิงระเบิดพลัดหลงมา และอาจมีพวกลักลอบเข้ามาปล้น ในเวลาปกติก็จะมีการเผาป่าเผาไร่ มีควันพิษลอยเข้ามาจนแสบตา

คนที่จะอยู่ไกลความเจริญได้ คือคนที่ไม่ต้องการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆในชีวิตแล้ว แค่มีเงิน มีความรู้ อยากได้อะไรก็สั่งให้มาส่งได้ แต่คนที่ยังรู้ไม่จริง หรือ คนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว จำเป็นต้องอยู่ในเมือง เช่น ถ้ารู้ไม่จริง เวลาซื้อของมาก็อาจจะเสีย ต้องมีปัญหาตามซ่อมในภายหลัง หรือ ถ้ากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว การจะทำของสักชิ้นขึ้นมาขาย เพื่อหารายได้ จะต้องอาศัยหลายๆอย่างมาประกอบกัน ส่วนประกอบเหล่านี้ล้วนอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะเมืองใหญ่มีคนมาก จึงมีความต้องการมาก และหลากหลาย ทำให้มีตัวเลือกมาก

ในชุมชนและหมู่บ้าน จะมีหอกระจายข่าว ส่งเสียงดังตั้งแต่เช้าถึงเย็น และคนแก่ๆในชุมชนก็ชอบเสียด้วย เพราะได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ แต่คนรุ่นใหม่ที่ทำงานกลางคืน นอนกลางวัน อย่างเช่น หมอเวร หรือ ไอทีที่ดูแลเครื่องแม่ข่าย วันไหนที่ลำโพงส่งเสียงดังก็จะไม่ได้นอน

คิดเผื่อน้ำท่วมด้วย มีโอกาสที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร อาจเกิดจากคันกั้นน้ำพัง ทำให้น้ำทะลักเข้ามา บางพื้นที่เป็นที่ลุ่ม แต่คนไม่รู้ ไปสร้างบ้าน สร้างโรงงานอยู่ตรงนั้น ถึงแม้จะถมที่สูง แต่ถ้ารอบข้างท่วมหมด แถวนั้นก็จะถูกตัดไฟ ถ้าอยากรู้ว่าที่ใดเป็นที่ลุ่ม ให้หาข้อมูลเรื่องน้ำท่วมในอดีตว่าท่วมถึงไหน คำว่าดอน เช่น ดอนเมือง ไม่ได้หมายความว่าแถวนั้นจะเป็นที่สูง แต่หมายถึงว่าแถวนั้นเป็นที่ลุ่ม แต่มีอยู่จุดเล็กๆเป็นเนิน ต่อมาอาจนำชื่อนั้นมาตั้งชื่อตำบลหรืออำเภอ อย่างเช่น เวลาน้ำท่วมเขตดอนเมือง ก็จะท่วมทั้งหมดยกเว้นสนามบินดอนเมืองจะกลายเป็นเกาะกลางน้ำ เพราะสูงกว่าบริเวณโดยรอบ สิ่งที่ควรจะระวังมากที่สุดคือ ที่จอดรถ เพราะของอย่างอื่นขนขึ้นที่สูงได้ แต่รถขนไม่ได้ ต้องขับหนีไปไว้ที่อื่นอย่างเดียว ถึงแม้จะอยู่คอนโด แต่ถ้ารอบๆน้ำท่วมหมด ก็อยุ่ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรกิน ถ้าโดนตัดไฟก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

บ้านที่อยู่ติดถนน มีข้อดีตรงที่ จะมีรถกะบะรายเล็กแวะมาขายของแทบทุกวัน รถกะบะจะชอบมาหยุดบริเวณที่มีหลายๆบ้านติดกันเป็นชุมชน แบบตึกแถวหรือทาวน์เฮ้าส์ แต่อยู่ติดถนน จะเสียงดังและฝุ่นเยอะ จึงควรเลือกถนนที่ไม่ใช่สายหลักที่รถวิ่งไปมา

ทำเลบ้านที่ดี ควรปลอดโจรผู้ร้าย มิฉะนั้นเวลาเราไม่อยู่บ้านก็จะโดนยกเค้าหมด วิธีที่จะรู้ได้คือถามคนแถวนั้นว่าเคยมีโจรขึ้นบ้านหรือไม่ หมู่บ้านบางแห่ง คนย้ายหนีไปที่อื่นหมด เพราะมีโจรชุกชุม นอกจากนี้ ควรดูเพื่อนบ้านด้วย ว่ามีพื้นเพมาจากที่ใด เพื่อนบ้านที่มาจากตามชนบท เข้ามาทำงานใช้แรงงาน มักจะชอบกินเหล้าและเปิดเพลงเสียงดัง บางทีชวนพรรคพวกมาสังสรรค์ บางบ้านแบ่งเป็นห้องให้คนเหล่านี้มาเช่า หรือแม้แต่แหล่งมั่วสุมอย่างพวกร้านคาราโอเกะ ถ้าเราไปอยู่ใกล้คนเหล่านี้ จะได้รับมลพิษทางเสียง ทำให้เป็นโรคประสาทได้ง่ายๆ  บางคนเปิดเพลงทั้งวันทั้งคืนทำให้ข้างบ้านไม่ได้หลับนอน ถ้าเราไปห้ามปรามเขา ก็อาจจะโดนเขาทำร้ายได้ ถึงไปแจ้งความก็แก้ไขไม่ได้ บางทีตำรวจไม่มาสนใจ บางทีตำรวจมาเตือนแล้วเงียบไปสักพักก็เปิดใหม่ แถมเปิดดังหนักกว่าเก่าอีก และยังจะทำร้ายคนที่ไปแจ้งความด้วย

ลมจะนำควันพิษมาให้ โดยเฉพาะในหน้าหนาวซึ่งความกดอากาศต่ำ ทำให้ฝุ่นสะสม พื้นที่แถบบางขุนเทียน และมหาชัย จึงมีมลพิษสูงที่สุดในหน้าหนาว เพราะรับลมหนาวจากจีนที่มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านมาทางกรุงเทพ

พื้นที่ใกล้นาไร่ มักจะมีชอบเผาหลังเก็บเกี่ยว จนฝุ่นพิษฟุ้งกระจายมาตกในบ้านคน ซึ่งพบมากแถวพื้นที่ไกลทะเล แต่พื้นที่ใกล้ทะเลก็มีพบในพื้นที่แห้งแล้ง อย่างเช่น ชลบุรี ถึงสัตหีบ

บ้านที่อยู่ใกล้ร้านอาหาร ต้องระวังปัญหาเรื่องกลิ่นเข้าบ้าน ถ้าเป็นอาหารตามสั่งแบบผัดกับข้าวจะมีพวกกลิ่นอย่างผัดกะเพรา ถ้าเป็นบ้านที่ทำอาหารไปขาย ก็จะมีการก่อเตาถ่านมีควันเข้าบ้าน

การอยู่ใกล้กับสังคมคนระดับล่าง ที่การศึกษาต่ำ ฐานะไม่ดี มักจะต้องเจอปัญหาเรื่องสิ่งรบกวน อย่างเช่น พูดไร้สาระมาก ตั้งวงดื่มเหล้าเสียงดัง ใช้เตาฟืนก่อไฟเกิดควันเหม็นไปทั่ว ใช้รถเก่าควันเหม็น หรือสูบบุหรี่ควันลอยเข้าบ้านคนอื่น


ห้องพักที่เกาะช้างถล่ม เมื่อปี 59 ทำให้ผู้เข้าพักเสียชีวิต สาเหตุเกิดจาก สร้างขวางทางน้ำไหล ประกอบกับ ไม่ทำคานคอดินระหว่างเสา เมื่อมีน้ำไหลผ่านนานนับสิบปี ดินจึงค่อยๆทรุดตัวจนพังทลาย
บ้าน

ประตูบ้านและหน้าบ้าน ควรหันไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้หน้าบ้านมีที่ว่าง สำหรับทำงาน hardware ในช่วงบ่าย มีบ้านบังแดดบ่ายได้ตลอดทั้งปี เพราะธรรมชาติของคน จะทำงานใช้แรงงานตอนบ่าย ถ้ามีแดดจะร้อนทำงานลำบาก ทำให้ชีวิตหาความเจริญก้าวหน้าได้ยาก แม้แต่การออกไปธุระข้างนอก มักจะต้องกลับมาบ้านตอนบ่าย การจอดรถตากแดดจะทำให้รถโทรมเร็ว การหันหน้าบ้านไปในแนวทิศตะวันออก-ตก ยังสอดคล้องกับห้องนอนในบ้าน คือห้องที่อยู่ฝั่งหน้าบ้านเหมาะสำหรับคนที่ตื่นเช้า และห้องที่อยู่หลังบ้าน เหมาะสำหรับคนที่ตื่นสาย

อีกทางเลือกหนึ่งรองลงมาคือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะไม่ได้รับแดดเลยตลอดฤดูหนาว ส่วนช่วงฤดูฝน (พค.-กย.) จะได้รับแดดเช้าอย่างเดียว ไม่ค่อยมีแดดช่วงบ่าย เพราะลมจากทะเลอันดามันทำให้เกิดเมฆบังแดด แถมฤดูหนาวยังรับลมเข้าทางหน้าบ้าน และฤดูร้อนกับฝนรับลมเข้าทางหลังบ้าน แต่ถ้าจะทำงานด้าน hardware จำเป็นต้องมีพื้นที่หน้าบ้าน 2 มุม คือด้านขวามือสำหรับทำงานในช่วงฤดูฝน และด้านหน้าสำหรับทำงานในช่วงฤดูหนาว

บ้านที่มีหลังคาไม่ลาดเอียงมากนัก ไม่ว่าจั่วบ้านจะหันไปทางทิศใด จะโดนแดดทั่วหลังคาตลอดปี แต่ถ้าหลังคาเอียงมาก แล้วหันปีกด้านหนึ่งไปทางทิศตะวันออก และปีกอีกด้านไปทางทิศตะวันตก ช่วงเช้าหรือเย็นจะรับแดดด้านเดียว บ้านจึงร้อนครึ่งเดียวเฉพาะฝั่งที่โดนแดด แต่ถ้าหันปีกด้านหนึ่งไปทางทิศเหนือ และปีกอีกด้านหนึ่งไปทางทิศใต้ จะเหมาะสำหรับติดตั้งแผงโซล่า เพราะฤดูที่พระอาทิตย์ตรงหัว ไม่อ้อมไปทิศเหนือหรือใต้ อย่างเดือนเมษายน หลังคาทั้งสองฝั่งจะมีโอกาสโดนแดดมากกว่า และถ้าอยู่เมืองไทยในภาคกลางขึ้นไป จั่วบ้านกับหลังคาบ้านทั้งสองฝั่งยังได้รับลม ช่วยลดความร้อนได้ เพราะจะมีลมตะวันออก(เฉียงเหนือเล็กน้อย)ในฤดูหนาว และลมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน พัดเข้าจั่วบ้านและผ่านหลังคาทั้งสองฝั่ง มีฤดูฝนยาวนานถึง 5 เดือนและฤดูหนาว 4 เดือน ถึงแม้ว่าในฤดูร้อนจะมีลมมาจากทิศใต้บ้าง แต่เป็นช่วงสั้นๆแค่ 1-2 เดือน จะอาศัยชั้นล่างทำหน้าต่างรับลมจากทิศเหนือและใต้แทน แต่ใช้จริงจะไม่ค่อยได้ผล เพราะบ้านในเมืองมักจะอยู่ติดกัน ทำให้โดนหลังอื่นบังลม ยกเว้นเป็นบ้านสุดซอย จะมีลมพัดมาตามซอย แต่ก็จะมีฝุ่นจากถนน โดยเฉพาะเวลาพายุเข้าแค่ไม่กี่นาทีจะมีฝุ่นเต็มบ้าน ถ้ามีต้นไม้บังจะไม่มีลมผ่าน ถ้าบ้านอยู่กลางทุ่งแล้วไม่มีต้นไม้บังก็จะมีฝุ่น พอฝุ่นเข้าบ้านแล้ว ของทุกอย่างในบ้านจะเกิดปัญหา ฝุ่นจะเกาะทุกอย่างตั้งแต่กำแพงไล่ลงมาถึงพื้น

บ้านควรอยู่ห่างออกจากถนนมากที่สุด เพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงรถวิ่งรบกวนเวลานอน โดยเฉพาะคนที่นอนฝั่งหน้าบ้าน จำเป็นต้องตื่นเช้า ถ้านอนติดถนนจะได้ยินเสียงรถวิ่งกลางคืนมากกว่าห้องหลังบ้าน ถ้าเป็นบ้านในชนบท เสียงรถวิ่งจะได้ไปไกลเป็น กม.

อย่าสร้างบ้านขวางทางน้ำไหล และอย่าให้มีน้ำใต้ดินไหลผ่านใต้บ้าน เพราะ อาจทำให้ดินทรุด แล้วบ้านถล่มลงมา เคยมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นมาแล้วหลายแห่ง

การเลือกซื้อบ้านมือสอง มีหลักอยู่ว่า ถ้าไม่ดีจริง อย่าซื้อ เพราะว่า ถ้าซื้อมาแล้ว จะเสียค่าซ่อมมาก

หลักการก่อสร้างบ้านให้แข็งแรงคือ อัดหินอัดปูนเข้าไปเยอะๆ แต่ที่วิศวกรต้องคำนวณ ก็เพื่อที่จะให้ประหยัดหินประหยัดปูน เพราะถ้าใส่น้อยเกินไปก็จะพังลงมา

บ้านไม้มักจะมีปัญหาเรื่องปลวก ส่วนบ้านปูน มักจะอมความร้อน จึงต้องติดแอร์ด้วย มิฉะนั้นตอนค่ำอาจจะร้อนจนนอนไม่ได้

การออกแบบบ้าน ควรคำนึงถึง
  1. ขนาดประตูหน้าต่าง ควรกำหนดขนาดให้เท่ากับ ขนาดที่มีขายในท้องตลาด เวลาเสียจะได้หาอะหลั่ยง่าย
  2. หาที่ติดแอร์ จะได้เจาะรูไว้ ไม่ให้ต้องมาเจาะทีหลังแล้วโดนเหล็กเส้น จะได้กำหนดตำแหน่งการเดินท่อไม่ให้โค้งไปมา
  3. ที่ติดพัดลมระบายอากาศ
ควรมีระเบียงรอบบ้าน เพื่อบังแดดที่ส่องมายังกำแพง และ เพื่อวางแอร์ โดยความสูงของระเบียงจะต้องต่ำกว่าเพดานห้อง เพื่อที่จะได้วางแอร์ไว้ที่ระเบียง แล้วเดินท่อแอร์ตรงเข้ามาในห้อง ไม่ต้องให้สายคดเคี้ยวไปมา และระเบียงควรมีความกว้างพอที่เวลาล้างแอร์ จะนั่งขัดรอบคอยล์ร้อนได้ และ ระเบียงควรจะมีความกว้างพอที่จะกันฝนสาดเข้ามาในบ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่ติดแอร์ ก็ควรจะทำเผื่อไว้ติดแอร์ในอนาคต

ระเบียงมักเป็นที่อาศัยของแมว เศษดินจะทำให้แมวเข้าใจผิดว่าเป็นที่ขับถ่าย แล้วมาขี้ทิ้งไว้เต็มไปหมด จึงควรตรวจสอบและเก็บกวาดอยู่เสมอ และไม่ควรวางสิ่งของไว้บนระเบียง เพราะ ช่องหลบแดดหลบฝนจะเป็นที่ออกลูกของแมวด้วย

ถ้ามีรถก็ควรจะมีโรงรถที่กันยุงได้ เวลาต้องเก็บของหรือทำความสะอาดรถตอนกลางคืนจะไม่ต้องกลัวว่ายุงจะเข้าไปใน รถ เวลาซ่อมรถตอนกลางคืน จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนยุงกัด โรงรถควรจะมีปลั๊กไฟเพื่อใช้เสียบเครื่องดูดฝุ่นหรืออุปกรณ์ซ่อมรถอื่นๆ และต่อท่อน้ำประปามาด้วย เพื่อใช้ล้างรถ โรงรถที่ปิดมิดชิด ยังกันหนูมากัดสายไฟในรถได้ด้วย

ของที่โดนน้ำไม่ได้ ไม่ควรอยู่ชั้นล่าง เพราะว่าถ้าโดนน้ำท่วมจะเสียหาย

บ้านควรจะมีสนามหญ้ารอบบ้าน เพื่อจะให้ไม่รู้สึกว่าขาดธรรมชาติ และ ซ้ายขวาควรจะมีระยะห่างจากบ้านถึงกำแพงเท่ากัน เวลาเจ็บป่วยกะทันหัน หรือโจรขึ้นบ้าน จะได้ขอความช่วยเหลือจากข้างบ้านได้ พื้นที่บ้านจึงไม่ควรจะกว้างมากเกินไป

ควรมีลานปูนสำหรับทำงาน outdoor เช่น ตากเต็นท์ ก่อไฟ

ไม่ควรมีบ่อปลา เพราะคางคกจะมาผสมพันธ์ แล้วไข่หรือลูกอ๊อดของคางคกมีพิษ ปลากินเข้าไปจะตาย ถ้าไม่มีปลาก็จะเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ยุง

อย่ามีท่อระบายน้ำอยู่ในบ้าน เพราะจะเหม็น และพวกแมลงสาบ แมลงหวี่ งู จะออกมาจากท่อ (แมลงสาบและงูจะมุดเข้ามาจากท่อระบายน้ำด้านนอก เข้ามาตามท่อ) นอกจากนี้ยังมีความชื้นระเหยขึ้นมาทำให้โลหะในบ้านผุขึ้นสนิมเร็ว แม้แต่แหล่งน้ำในบ้านก็ไม่ควรม เพราะ ไอน้ำจะทำให้เกิดความชื้นกัดกร่อนทุกอย่าง ถ้าตรงไหนเป็นไม้ ก็จะมีปลวกตามมากิน

ถ้าจะออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม ก็ต้องระวังน้ำมาตามท่อระบายน้ำ และ น้ำที่กระแทกทำคันกั้นน้ำพัง ถึงแม้ว่าบ้านจะยกพื้นสูง ก็อย่าลืมว่ามีรถที่อาจจมน้ำเสียหายได้

ทำเลบ้านที่ดีที่สุดคือ มีทั้งตลาดและห้าง เพราะว่า ของบางอย่างไม่มีในตลาด ก็มีทางเลือกมาซื้อในห้าง นอกจากนี้ ยังควรจะเดินไปได้ ไม่ต้องนั่งรถให้เปลือง

ข้อเสียการเช่าที่ดินหรือเช่าบ้านคนอื่นคือ สักวันหนึ่ง เจ้าของจะมาขอคืน โดยเฉพาะพวกที่ทำค้าขายแล้วได้กำไรดี เจ้าของที่ดินก็อยากจะนำไปพัฒนาต่อ การเช่าจะมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหา ก็ต่อเมื่อเป็นคนรู้จักที่ไว้ใจและเกรงใจกัน

การถมดินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ใช่ว่าจะดี เพราะเคยมีนักธุรกิจชลบุรี ถมดินสูง 5 เมตรบนเนื้อที่ 300 ไร่ เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า พอวันที่ 11 เมย.58 มีพายุฤดูร้อน ทำฝนตกหนักนานกว่า 3 ชม. ทำให้ดินรองรับน้ำไม่ไหว ทำให้กำแพงคอนกรีตที่กั้นไว้ พังลงมาเป็นแนวยาวกว่า 20 เมตร ทำให้ทั้งน้ำและโคลน ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านที่อยู่ข้างๆ ก่อนหน้านั้นก็เคยมีฝนตก ทำให้กำแพงทะลุ แล้วน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนเสียหายมาแล้ว แต่ยังไม่หนักเหมือนครั้งนี้

การสร้างบ้านที่จ้างผู้รับเหมามาเริ่มทำจากศูนย์บนที่ดินว่างเปล่า แล้วเราต้องไปคุมงานด้วยตนเองนั้น การเฝ้าดูช่างทำงานทั้งวัน เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ จึงควรเริ่มด้วยการสร้างที่พักขนาดเล็ก ให้ตัวเองใช้กันแดดกันฝนและนั่งพักคิดงานในขณะที่ช่างกำลังทำงาน และควรสร้างห้องน้ำให้ช่างด้วย ถ้าต้องค้างคืนก็ควรจะมีห้องนอนด้วย

การจัดพื้นที่รอบบ้าน ควรจะเผื่อให้รถแมคโครและรถตอกเสาเข็มเข้าได้ทุกจุด เผื่อสร้างบ้านใหม่ หรือ ขุดดินเพื่อสร้างหรือซ่อมแซมฐานราก รถเหล่านี้ จะมีขนาดตั้งแต่รถหกล้อจนถึงรถบรรทุก ถ้ารถเข้าไม่ได้ การตอกเสาเข็มจะต้องใช้ปั้นจั่นแบบแยกชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งการประกอบจะใช้เวลา 1-2 วัน และใช้แรงงานมาก แต่ถ้าเป็นรถปั้นจั่น จะใช้เวลาประกอบไม่เกินครึ่งชั่วโมง การขุดดินก็เช่นเดียวกัน ถ้าหลุมเล็กๆ สามารถใช้จอบขุดได้ แต่ถ้ามีหลายๆหลุมๆ ใช้แมคโครขุดจะเร็วกว่า หลุมที่แมคโครขุดแค่ไม่กี่ชั่วโมง หากใช้คนขุดอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ยกเว้นรถแมคโครเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้คนขุด

รั้วบ้านมีไว้เพื่อไม่ให้คนหรือสัตว์ เข้าออกได้อย่างเสรี เมื่อไม่มีใครมารบกวน คนในบ้านก็จะมีโอกาสได้อยู่อย่างสงบ บางคนสงสัยว่า ทำไมบ้านในเมืองฝรั่งไม่มีรั้วกั้น แต่ทำไมบ้านในเมืองไทยต้องมีรั้วกั้น ซึ่งอธิบายได้ว่า ในอดีตเมืองฝรั่งมีชนชั้นกลางมาก จึงไม่ค่อยมีโจรขโมย ต่างจากเมืองไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีโจรขโมยมาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเมืองฝรั่งจะมีโจรขโมยมากขึ้น แต่ยังไม่มีรั้ว โดยให้เหตุผลว่า รถดับเพลิงเข้าถึงง่าย

รั้วหน้าบ้าน ควรมีที่ทิ้งชยะ 2 ประเภท คือ ขยะที่ขายไม่ได้ กับ ขยะที่ขายได้ เช่น กระดาษ ขวดพลาสติก ไม่ควรทิ้งไว้ในบ้าน เพราะ นอกจากจะรกบ้านและเป็นแหล่งสะสมฝุ่นกับแมลงแล้ว ถ้าปลวกมาเจอกระดาษ บ้านจะกลายเป็นรังปลวกแก้ไม่หาย

บ้านยกพื้นเตี้ย ไม่ใช่ว่าจะดี ใต้ถุนบ้านสามารถได้ตั้งแต่ที่ขี้เยี่ยว ออกลูก วางไข่ ของสัตว์ ตั้งแต่หนูแมวถึงงู พอเกิดปัญหาขึ้นแล้ว คนจะเข้าไปแก้ไขลำบาก ต้องคลานอย่างเดียว

ห้อง
คนหนึ่ง ควรมีอย่างน้อย 2 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องเก็บของ อีกห้องหนึ่งเป็นห้องนอน ถ้าให้ดีควรมี 3 ห้องต่อคน อีกห้องหนึ่งเป็นห้องทำงาน เพื่อที่จะได้ทำความสะอาดได้ง่าย เพราะ ถ้าห้องนอนและห้องทำงานรวมกันอยู่ในห้องเดียวกัน จะไม่มีเวลาห้องว่างทำความสะอาด เพราะ ตอนตื่นต้องทำงาน ตอนหลับก็ไม่ได้ทำ และที่สำคัญคือ ถ้าห้องหนึ่งแอร์หรือพัดลมเสีย หรือยุงเข้ามาในห้อง ยังสามารถย้ายไปอยูอีกห้องหนึ่งชั่วคราวได้ อีกเหตุผลที่ ห้องนอนควรแยกจากห้องอื่น เพราะจะรบกวนการนอน ในเวลาที่อยู่รวมกันมากกว่า 1 คน เช่น เวลาคนหนึ่งกินข้าว จะมีกลิ่นอาหารไปรบกวนอีกคนหนึ่งให้ตื่นด้วย

ห้องส่วนตัว ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะเดินเล่นในห้องได้ เพราะ เวลาฝนตก ไม่สามารถออกนอกบ้าน หรือกลางคืนอยู่นอกบ้านยุงเยอะ ถ้าห้องแคบๆทำได้แค่นั่งกับนอน ไม่สามารถเดินคิดอะไรได้ นั่นคือ ห้องควรเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ไม่ใช่จัตุรัส ห้องนอนอาจพอดีตัว แต่ก็ต้องมีทางเดินส่วนตัว ที่ไม่ปะปนกับคนอื่น เพราะเวลาอยู่ร่วมกับคนอื่น จะทำให้ขาดสมาธิ

เพดานสูงๆ เวลาซ่อมอะไรบนเพดานจะลำบาก ต้องหาบันไดสูงๆมาปีน ซึ่งบันไดสูงๆราคาแพงและหนัก ถ้าตกลงมาจะบาดเจ็บมาก ความสูงของเพดานที่เหมาะสมคือ แขวนพัดลมเพดานแล้ว เวลายื่นมือขึ้นไปสุด แล้วไม่โดนพัดลม ห้องเมืองร้อนควรสูงกว่าคนประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นด้านบน จะช่วยให้ห้องเย็นลง แต่เวลาใช้เครื่องปรับอากาศอาจจะเปลืองไฟมากขึ้น โดยผลการวิจัยพบว่า อุณหภูมิห้องจะลดลง 1 องศาที่ความสูงเพิ่มขึ้น 20ซม แต่ไม่เกิน 4 องศา ความสูงประมาณ 5 เมตรจะให้ความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย
ห้องชั้นล่างไม่ควรมีเพดานสูงเกินไป เพราะเวลาเปิดแอร์จะเปลือง โดยเฉพาะห้องชั้นล่างที่บางแห่งชอบทำเพดานสูงขึ้นไปถึงห้องชั้นบน

ชั้นล่าง ควรสงวนพื้นที่ไว้สำหรับทำงาน hardware เพราะงาน hardware ตั้งแต่ซ่อมบ้านไปจนถึงซ่อมรถ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือจำนวนมาก เริ่มต้นอาจดูเหมือนใช้ไขควงแค่ตัวเดียว แต่พอทำไปสักพักจะเริ่มต้องการเครื่องมือเพิ่ม อาจเป็นคีม กรรไกร ค้อน ไล่ไปจนถึงเข็มเย็บผ้า ฯลฯ พอทำไปสักพักจะเริ่มพบว่างานบานปลาย ต้องหาอะไรฟังหรือดูไปด้วยในขณะทำงาน พอมีอุปกรณ์ครบ ทำไปสักพักจะเริ่มร้อน ต้องมีพัดลมเป่า  ร้อนมากๆก็อยากเปิดแอร์อีก ปัญหาคือ ถ้าเราเก็บเครื่องมืออยู่ไกลหรืออยู่ชั้นบน จะหยิบใช้และเก็บอย่างยากลำบาก เวลาต้องการใช้อะไรเพิ่ม ก็ต้องเดินไปหยิบทีหนึ่ง เดินหลายๆรอบ พอกลับมาก็จะร้อนจนเหงื่อตก ยิ่งเจออากาศเมืองไทยที่ร้อนอบอ้าว จนไม่อยากจะทำงานต่อ จะเห็นว่า การทำ hardware เป็นเรื่องที่วุ่นวายมาก ดังนั้น เครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นต้องหยิบใช้ จึงควรเก็บไว้ชั้นล่าง ซึ่งมีอากาศเย็นกว่าชั้นบน และควรเก็บรวมกันในห้องเดียว เพื่อที่จะหยิบใช้ได้ง่าย ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้ไม่ร้อนเหนื่อยง่าย จนคิดอะไรไม่ออก งานไม่เดิน แถมที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ การทำ hardware ไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว ซ่อมบ้านก็ใช้อุปกรณ์อย่างหนึ่ง ซ่อมรถอย่างหนึ่ง อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างหนึ่ง สารเคมีอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเกี่ยวกับสารเคมี มักจะมีสารพิษ อย่างพวกตะกั่วบัดกรี หรือโซดาไฟไล่ไป ถ้าเป็นเครื่องพิมพ์ก็จะมีพวกผงหมึก ดังนั้นห้องทำ hardware ชั้นล่างควรมีห้องทำ hardware อย่างน้อย 2 ห้อง ห้องหนึ่งทำงานที่ไม่มีสารเคมี และอีกหน้องหนึ่งทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ห้องเก็บเครื่องมือ อาจเป็นห้องเดียวกับที่จอดรถ จะช่วยประหยัดเนื้อที่ได้

ชั้นบนสุดของบ้าน เหมาะใช้ทำห้องเก็บของที่ไม่ใช้แล้ว โดยออกแบบแยกห้อง ใช้ได้ทั้งเก็บของแยกของแต่ละคนในบ้าน หรือใช้เป็นห้องนอนได้ด้วย ถ้าอยู่คนเดียวก็เก็บของแยกประเภทไว้แต่ละห้อง ห้องนอนควรมีทั้ง 2 ฝั่งคือ ฝั่งพระอาทิตย์ขึ้น กับฝั่งพระอาทิตย์ตก คนที่นอนดึกตื่นสาย ให้นอนฝั่งพระอาทิตย์ตก ส่วนคนที่ต้องตื่นแต่เช้ามืด ควรนอนฝั่งพระอาทิตย์ขึ้น

บ้านที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ตึกแถวที่สร้างเป็นแนวยาว หันด้านยาวไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก เพราะลมจากทิศเหนือและใต้จะไม่พัดเข้าบ้าน ทำให้อยู่แล้วร้อน เปิดพัดลมก็ยังร้อน เปิดแอร์จะเปลืองค่าไฟมาก ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าไฟหรือติดแผงโซลาเซล จะต้องทนร้อนจนงานไม่เดิน

บ้านควรมีเหลือห้องว่างสำหรับแขกที่มาพักด้วย อย่างน้อย 1 ห้อง

ห้องนอน ควรมีหน้าต่างแค่ฝั่งเดียว อยู่ตรงหัวนอน เพื่อตอนเช้าจะได้ไม่ต้องตื่นเพราะแสงส่องเข้าตา ถ้ามีหน้าต่างหลายฝั่ง ฝั่งที่ไม่ได้อยู่หัวนอนควรมีหน้าต่างปิดทึบกันแสงเข้า เพราะลำพังผ้าม่านอย่างเดียว แสงยังผ่านได้ และถ้าผ้าม่านคลุมไม่มิดหน้าต่าง แสงจะลอดผ่านช่องว่างเข้ามาได้

ห้องเก็บของมีความจำเป็นมาก เพราะว่าของบางอย่างไม่ได้ใช้ในวันนี้ แต่ในอนาคตอาจต้องใช้ ถ้าทิ้งไป จะต้องเสียเงินไปซื้อใหม่ โดยเฉพาะพวกสารเคมีที่มีกลิ่นรั่วไหลออกมาได้ง่าย ถ้าเก็บไว้ในห้องนอน อาจต้องดมกลิ่นสารเคมีทั้งวัน แม้แต่พวกกระดาษก็ควรเก็บไว้แยกห้อง เพราะอาจมีกลิ่นหมึก ซึ่งสามารถระเหยออกมาเรื่อยๆ ของบางอย่างที่ต้องใช้เป็นระยะ ถ้าไม่มีห้องเก็บของ จะต้องเก็บไว้ในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ทำให้ห้องรก จุดหนึ่งที่เหมาะจะทำห้องเก็บของคือ ที่จอดรถที่แยกจากตัวบ้าน อาจจะจอดรถชั้นล่างแล้วเก็บของชั้นบน หรือจอดรถชั้นบนแล้วเก็บของชั้นล่าง หรือ ทำทั้ง 2 แบบ

แม้แต่ห้องครัวก็จำเป็นต้องมีห้องเก็บของ เพื่อเก็บพวกเครื่องครัวที่ไม่ได้ใช้บ่อยหรือยังไม่ได้ใช้ เช่น ถังแก๊สสำรอง, เครื่องคั้นน้ำผลไม้, ถ้วยชาม หม้อ ฯลฯ ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เรื่องซื้อถังแก๊สมาใช้แล้วต่อมาไม่ได้ใช้ จึงเก็บทิ้งไว้นานถึง 10 ปี อยู่มาวันหนึ่ง จำเป็นต้องใช้ขึ้นมา ก็สามารถนำถังเก่ามาปัดฝุ่น ตรวจสอบแล้วไม่มีสนิมหรือรอยบุบตรงถังเก็บ จึงนำมาใช้ต่อได้โดยไม่มีอันตราย เพียงแต่เมื่อใช้หมดแล้ว ร้านค้าไม่รับเปลี่ยน เพราะเกินอายุ 5 ปี ทำให้ต้องซื้อถังใหม่

ห้องเก็บของควรมีชั้นวางของที่ยกสูงจากพื้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเก็บ ของ ชั้นวางของเป็นชั้นๆ เหมาะสำหรับของชิ้นใหญ่ๆ และควรมีตู้ลิ้นชักเก็บของชิ้นเล็กๆ จะกันฝุ่นได้ด้วย ถ้าของเล็กมากอย่างเช่นน๊อต ควรใช้กล่องพลาสติกที่แบ่งหลายๆช่อง และเมื่อมีห้องเก็บของ ก็มักจะมีปลวกตามมากินกล่องกระดาษ ของทุกชิ้นที่เป็นกระดาษจึงควร รวมกันไว้ในถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ หรือวางไว้บนที่สูง จะกันปลวกได้ ถึงแม้จะไม่ใช่กระดาษ แต่ของที่คล้ายกันก็ควรรวมไว้ในถุง เพราะนอกจากจะกันฝุ่นแล้ว ยังค้นหาหรือย้ายตำแหน่งได้ง่าย

ห้องควรปิดได้มิดชิด เผื่ออากาศข้างนอกไม่ดี ผู้เขียนเคยเจอข้างบ้านที่ทำเป็นเกสท์เฮ้าส์ มีฝรั่งมานั่งกินเหล้าสูบบุหรี่ทั้งวันทั้งคืน โชคดีที่บ้านผู้เขียนมีประตูหน้าต่างเป็นกระจกปิดมิดชิด จึงป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีควันหลงเข้ามาในบ้านให้ได้กลิ่น ด้วยเหตุนี้ ทุกห้องที่ปิดมิดชิด รวมทั้งห้องน้ำ จึงควรมีพัดลมดูดอากาศออก เพราะ อาจมีควันพิษเข้ามา หรือ ถ้าอยู่ในห้องไปนานๆ ออกซิเจนจะไม่เพียงพอ จะทำให้ป่วยได้ บางทีมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์หรือแม้แต่สารพิษ อย่างเช่น เวลาที่หน่วยงานของรัฐมาฉีดยาฆ่ายุงตามท่อระบายน้ำ ควรมีพัดลม ระบายอากาศ เพื่อดูดกลิ่นออกไปนอกห้อง พัดลมระบายอากาศ จะอยู่ตรงข้ามกับหน้าต่างที่มีมุ้งลวด

ห้องใต้หลังคา มีประโยชน์มาก กับคนที่ติดไวรัสทางเดินหายใจ ซึ่งควรไปนอนในที่ร้อนๆ และอากาศปลอดโปร่ง เพราะไวรัสจะตายง่ายในที่อากาศร้อน และไวรัสจะไม่สะสมอยู่ในที่อากาศเปิดโล่ง ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติที่ไม่มีคนป่วย แค่ปิดหน้าต่างใช้พัดลมดูดอากาศออก จะช่วยให้บ้านชั้นล่างไม่ร้อน ซึ่งหมายถึงจะต้องมีช่องลมระหว่างชั้น ซึ่งสามารถปิดได้ เผื่อชั้นล่างเปิดแอร์

พัดลมดูดอากาศที่ดีควรเป็นแบบแขวนฝ้าเพดาน เพราะ จะมีท่อต่อออกไปซึ่งปลายท่อสามารถครอบมุ้งลวดกันแมลงที่วางขายในท้อง ตลาดได้ ส่วนพัดลมติดกำแพง ถึงแม้จะมีฝาปิดด้านหลัง แต่ฝาปิดไม่สนิท มีโอกาสแมลงเข้าออกและแอร์รั่วได้ ซึ่งถ้าจะซื้อแบบติดกำแพง ควรเลือกแบบที่มีมุ้งกันแมลงด้านหน้าด้วย (ซึ่งไม่มีวางขาย ต้องดัดแปลงเอง) วิธีติดพัดลมดูดอากาศแบบติดกำแพง คือ ทำแนวใช้สว่านเจาะทะลุกำแพงทั้ง 4 มุม แล้วจึงใช้ลูกหมูกรีดทั้งด้านนอกและด้านใน ถ้าลูกหมูใบใหญ่พอที่จะตัดกำแพงทะลุได้ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องอ้อมไปกรีดอีกฝั่ง จะไม่ต้องใช้สว่านเจาะนำร่องก็ได้

กำแพงห้อง ควรมีตู้ built-in ไว้เก็บของจะได้ไม่รกห้อง แล้วยังเป็นฉนวนความร้อนอีกชั้นด้วย

คนแก่ควรอยู่ชั้นล่าง เพราะถ้าตกบันไดอาจกระดูกหักได้ ผู้สูงอายุมีกระดูกบาง แค่ล้มก็กระดูกแตกแล้ว ถ้าหัวฟาดคือหัวแตกตายหรือต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเดือนๆ ไม่เหมือนเด็กตกบันไดแล้วอาจแค่ฟกช้ำ ถ้าอยู่ชั้นบน ควรเพิ่มทางลาดแบบที่รถเข็นของขึ้นลงได้ จะช่วยให้คนแก่เดินลงได้ง่ายกว่า โอกาสล้มตกบันไดลดลง เพราะคนแก่มักจะขาอ่อนแรง การก้าวลงบันไดจะใช้แรงขามากกว่าการลงทางลาด คนแก่บางคนสายตาไม่ดีมองเห็นขั้นบันไดไม่ชัดด้วย

ท่อน้ำทิ้งในบ้าน ควรต่อออกไปยังท่อระบายน้ำนอกบ้าน อย่าให้มีท่อระบายน้ำสาธารณะไหลผ่านในบ้าน (มักจะมีในบ้านแบบเก่า) เพราะ นอกจากจะทำให้เกิดความชื้นแล้ว ท่อน้ำทิ้งจะสัตว์มากมายอาศัยอยู่ แมลงสาบ หนู งู โดยเฉพาะแมลงสาบ ถ้ามีช่องระบายอากาศตรงไหน ก็จะโผล่ออกมาจากท่อ แล้วไต่ไปทั่วบ้าน รูเล็กๆก็มีแมลงสาบตัวเล็กไต่เข้ามาได้ การปิดท่อสนิทไม่ให้แมลงสาบออกมา จะทำให้น้ำในท่อเน่า เพราะอากาศในท่อไม่ถ่ายเท

ถึงแม้ว่า ท่อน้ำทิ้งจากในบ้านออกไปนอกบ้าน จะแก้ปัญหาเรื่องความชื้นได้ แต่ต้องออกแบบให้ดี ไม่ให้แมลงสาบไต่เข้ามาตามท่อได้ โดยมีตะแกรงกันแมลงสาบตรงจุดที่เชื่อมระหว่าง ท่อน้ำทิ้งภายในบ้าน กับท่อระบายน้ำสาธารณะ แต่ตะแกรงจะไม่มีขาย ต้องจ้างทำ หมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ จึงไม่ได้ติด ถ้าทำเป็นตะแกรงพลาสติก จะโดนหนูกัดได้ วิธีที่ดีคือ หาร้านขายตะแกรงขนาดมาตรฐานเพื่ออนาคตจะเปลี่ยนได้  ถึงแม้ห้องน้ำในบ้านจะมีตะแกรงกันอีกชั้น แต่ตะแกรงมักจะมีเศษผมไปติด ทำให้น้ำไม่ไหลลงท่อ ทำให้ต้องยกออกเป็นฝาท่อโล่งๆ แล้ววันดีคืนดี แมลงสาบจากท่อระบายน้ำก็เข้ามาในบ้าน ส่วน check valve จะป้องกันน้ำท่วมได้ แต่ต้องมีแรงดันน้ำมากพอสมควร จึงไม่ใช้กับท่อน้ำทิ้ง

ห้องที่จะใช้สมาธิได้ดี เหมาะสำหรับเด็กนักเรียน คือ ห้องที่มองไม่เห็นหน้าต่างหรือประตูบ้านตรงข้าม คือ มองออกไปแล้วเห็นแต่หลังคาหรือรั้วบ้านตรงข้าม เพราะถ้ามองเห็นคนฝั่งตรงข้าม จะทำให้เสียสมาธิบ่อยๆ จะทำอะไรก็กลัวบ้านตรงข้ามมอง

ห้องควรจะมีประตูออกไปยังระเบียงได้ เวลาจะออกไปทำอะไรตรงระเบียงเช่นล้างแอร์ จะได้ไม่ต้องปีนหน้าต่าง หรือ เวลาจะขนของออกไปนอกระเบียง เช่น คอยล์เย็น โดยเฉพาะเวลาซ่อม จะได้ไม่ต้องลำบาก ใช้รถเข็นได้เลย

ควรมีห้องว่างสำหรับใส่กระสอบทราย เผื่อน้ำท่วม

วิธีสร้างกำแพงกั้นห้องอย่างง่ายคือ ใช้โครงเป็นอลูมิเนียม ใช้สว่านยึดติดกับกำแพง แล้วใช้แผ่นยิปซั่มทำผนัง

ห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต้องเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา รวมถึงคอมพิวเตอร์ ควรจะมีคนอยู่ด้วย เพราะมีโอกาสที่ชิ้นส่วนจะใหม้ได้ แม้แต่ UPS ยังเคยใหม้มาแล้ว ถ้ามีคนอยู่ ก็ยังได้กลิ่นใหม้ ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นต้องมีแอร์แต่กลัวเปลืองไฟเวลาไม่มีคนอยู่ ควรจะทำห้องแยกแบบเปิดถึงห้องที่มีคนอยู่ เวลาไม่มีคนอยู่ก็ปิดห้องที่เก็บเครื่องใช้ไฟฟ้าเปิดแอร์ แต่พอมีคนอยู่อีกห้องก็เปิดห้องถึงกัน

ทุกห้องควรปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อเวลาล้างพื้นแล้ว น้ำจะไหลลงท่อได้ง่าย ซึ่งหมายถึงควรมีท่อรองรับน้ำที่มุมหนึ่งของห้อง

ห้องครัว ควรมีมุ้งลวดกันยุง เผื่อต้องทำอาหารหรือกินข้าวตอนดึก

บริเวณที่น่าเบื่อที่สุดคือ อ่างล้างจาน และ ห้องครัว ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการทำหน้าต่างให้มองเห็นวิว รวมทั้งมี โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ต่อลำโพงให้ฟังได้

ห้องใต้ดิน สามารถใช้หลบภัยจากเถ้าภูเขาไฟ และระเบิด แต่เมืองไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เหล่านี้ แถมใต้ดินยังชุ่มน้ำ จึงไม่เหมาะจะสร้างห้องใต้ดิน โดยเฉพาะพื้นที่ๆเคยมีน้ำท่วม ไม่เหมาะจะสร้างห้องใต้ดินเลย เพราะน้ำจะไหลลงไปเหมือนน้ำตก ทำข้าวของเสียหาย น้ำจะขังจนเต็มทำฝ้าพัง ถ้ามีไฟก็เสี่ยงไฟช๊อต ถึงแม้ว่าน้ำลดแล้ว แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ต้องสูบน้ำออกเป็นวัน ถึงแม้จะไม่มีน้ำท่วม แต่ถ้ามีรอยร้าวก็จะมีน้ำในดินซึมออกมา การสร้างห้องใต้ดิน จะต้องออกแบบเฉพาะเพื่อป้องกันน้ำซึม เช่น ผสมน้ำยากันซึมขณะผสมคอนกรีต เหล่านี้คือเหตุผลที่บ้านในเมืองไทยไม่ทำห้องใต้ดิน

ห้องทำงานกับสารเคมี เป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับบ้านที่มีเครื่องมือที่มีสารเคมี อย่างเช่น การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องบัดกรีตะกัว ต้องมีพัดลมดูดอากาศออกไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย หรือ การใช้ laser printer เวลาเปลี่ยนหรือเติมหมึกจะมีผงหมึกหกเลอะเทอะ ต้องที่เก็บเศษผงหมีก ห้องทำงานสารเคมีนี้ ควรอยู่ใกล้กับจุดที่มีเครื่องมือ เพื่อเคลื่อนย้ายมาทำได้ง่าย

ห้องควบคุมหรือ control room เป็นห้องที่สามารถเปิดปิดไฟฟ้าและน้ำประปา ทุกจุดในบ้านได้ และมีคู่มือให้ดู เวลาที่ไม่มีใครอยู่บ้านนานๆ จำเป็นต้องตัดไฟและน้ำจุดใด เพื่อป้องกันขโมยลักลอบมาใช้ จะทำได้ง่ายโดยไม่ต้องถอดประกอบตามจุดต่างๆ ซึ่งใช้เวลามาก ห้องควบคุมสามารถซ่อนอยู่ในจุดที่เข้าถึงยาก และปิดล็อกอย่างแน่นหนา เป็นการป้องกันอีกชั้น ถ้าเป็นทำเลที่เสี่ยงโจรขโมย ควรเดินสายไฟแบบซ่อนไว้ ป้องกันโจรงัดบ้านขโมยสายไฟไปขาย

บันได
บันไดพับทรงเอควรมีไว้ติดบ้าน เพราะเคลื่อนย้ายได้ ใช้ทำงานที่สูงสะดวกที่สุดและค่อนข้างปลอดภัย กางขาแล้วปีนได้เลย ควรเลือกความสูงให้พอดีกับห้อง แล้วเผื่ออีก 1 ขั้นให้มือจับได้ ถ้ายาวเกินไปจะขนย้ายลำบาก ยกเว้นปีนหลังคาจึงต้องซื้อบันไดพับแบบพาด ควรหลีกเลี่ยงบันไดแบบพับไม่ได้ เพราะหาที่เก็บยาก

ขึ้นลงบันไดบ้าน ควรจะมีไฟฟ้า เปิดปิด ก่อนขึ้นลง ถึงชินแล้วก็มีโอกาสก้าวพลาดได้ ถ้าจะประหยัดไฟควรติดตั้งบานหน้าต่างเพื่อรับแสงตอนกลางวัน และควรมีราวจับตลอดทาง ขนาดพอดีมือกำได้ เวลาพลาดตกบันไดจะได้ไม่ร่วงลงมา

บันไดบ้านแต่ละขั้น อย่าสั้นเกินไป อย่ายาวเกินไป เวลาลงบันได้ ต้องยืนได้เต็มเท้า ถ้าสั้นเกินไป เหลือปลายเท้าไว้ อาจจะตกบันไดได้

บันไดบ้านแต่ละขั้น ควรจะมียางคลุมตรงเหลี่ยม เวลาตกบันไดจะได้ไม่บาดเจ็บ

พื้นที่ใต้บันได เหมาะสำหรับทำชั้นเก็บของ โดยนำอลูมิเนียมมาทำเป็นกรอบ จะสามารถออกแบบได้ว่าจะทำลิ้นชักขนาดเท่าไรบ้าง และสามารถแก้ไขปรับปรุงในภายหลังได้ บันไดจึงเหมาะที่สุดที่จะอยู่ติดกับโรงจอดรถ เพื่อใช้เก็บเครื่องมือซ่อมรถและอื่นๆ บันไดส่วนที่อยู่สูงขึ้นไป ถ้าเปิดเข้าสู่ในบ้าน เหมาะทำตู้เก็บเสื้อผ้า จุดที่สูงมากๆสามารถใส่ของที่มีความยาวมากๆ เช่น ถุงนอน หรือถ้าเปิดออกนอกบ้าน (ซึ่งต้องระวังสัตว์เล็กน้อยเข้าบ้าน อย่างแมลงสาบ) เหมาะใช้เครื่องมือช่างยาวๆอย่าง บันไดพับ ท่อพีวีซี เหล็กกล่อง หรือแผ่นกระดานที่ยังไม่ได้ใช้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ พื้นที่ใต้บันได ไม่ควรอยู่ติดกับห้องน้ำ เพราะความชื้นบวกกับความมืดเป็นตัวดึงดูดปลวกมาทำรัง ไม่ว่าจะออกแบบรัดกุมสักเพียงใด วันข้างหน้าใช้ไปย่อมมีรูโหว่ ข้อดีของการทำลิ้นชักเองคือ ไม่มีร่องเพื่อให้สัตว์เล็กน้อยเข้าไปทำรัง และสามารถทำเป็นกระจกเพื่อให้มองเห็นของข้างในได้ง่ายโดยไม่ต้องเปิดดู แถมยังค่อยๆทำค่อยๆปรับไปได้ตามความต้องการ เริ่มแรกอาจแค่หาเหล็กฉากกับกระดานมาวางเพื่อทำชั้น เพื่อปรับเปลี่ยนทีหลังเมื่อมีของมากขึ้น

ชั้นสอง ควรมีทางให้เข็นของขึ้นไปออกระเบียงได้ เพราะของหนักๆ อย่างเช่น คอยล์เย็นแอร์ แบกลำบาก หรือถ้าไม่ทำทางเข็นของ อีกทางเลือกหนึ่งคือ ใช้รอกช่วยผ่อนแรงดึงขึ้น


ถุงมือผ้าเคลือบยาง
ถุงมือ
ใช้ป้องกันไฟดูดหรือมือบาดเจ็บ และช่วยให้ไม่ต้องล้างมือบ่อยๆ สำหรับงานที่ต้องเจอกับฝุ่น และ สารที่ไม่อันตราย เช่น แอลกอฮอล์, อะซิโตน สามารถใช้ถุงมือผ้าฝ้ายราคาถูกๆได้ แต่ปัญหาของถุงมือแบบนี้คือ ลื่น งานบางอย่างเช่น ประกอบท่อพีวีซีหรือแบกปูน ต้องใช้แรงหนืดจับ ดังนั้น ควรใช้ถุงมือผ้าเคลือบยางจะดีกว่า หรือจะใช้ถุงมือยางล้วนก็ได้ แต่จะร้อน เพราะระบายเหงื่อไม่ได้ ถ้าเป็นการจับที่ไม่ต้องออกแรงมาก ใช้ถุงมือผ้าเคลือบยางเป็นจุดๆจะระบายอากาศได้ดีกว่าถุงมือผ้าเคลือบยาง

ข้อดีของถุงมือเคลือบยางนอกจากจะกันลื่นแล้ว ยังกันของมีคมบาดได้บ้าง แต่งานที่ต้องใช้เครื่องมือหมุนมีคม หรือจับของมีคม หรือจับของร้อน ต้องสวมถุงมือหนัง จะลดการเจ็บมือได้มากกว่าถุงมือผ้าเคลือบยาง

หน้ากากกันสะเก็ด

แว่นตา
งานช่างมักจะมีเศษฝุ่นผงเข้าตาอยู่เสมอ โดยเฉพาะงานปูน การสวมแว่นตาจะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ถึงไม่มีผงก็ยังควรสวมแว่นตา เพราะถ้ามีอะไรกระเด็นมาเข้าตาจะมีปัญหา แว่นสายตาทั่วไปก็จะกันได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดี ควรมีแว่นนิรภัยที่ป้องกันฝุ่นหล่นลงมาจากด้านบนได้ด้วย เผื่อทำงานที่อยู่สูงกว่าหัว ถึงแม้จะใส่แว่นนิรภัย แต่ก็ยังมีโอกาสที่ผงจะเล็ดลอดเข้าตาได้

หน้ากากกันสะเก็ด หรือ face shield แบบพลาสติกใส ดีกว่าแว่นตา เพราะ นอกจากจะกันฝุ่นเข้าตาแล้ว ยังกันสารเคมีกระเด็นเข้าหน้า กันฝุ่นเข้าจมูก โดยเฉพาะเวลาแหงนหน้า

ผ้าปิดจมูกกันฝุ่น
หน้ากากกันฝุ่นช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าไปใน ปอด จะใช้ผ้าอะไรก็ได้ ดีกว่าไม่ใช้เลย งานบ้านทั้งเก่าและใหม่ มักจะต้องเผชิญกับฝุ่น บ้านเก่าพอรื้อของอะไรออกมาก็เจอฝุ่น การสร้างบ้านใหม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับฝุ่น เช่น ตักปูนซิเมนต์ออกจากถุง แต่ถ้าเป็นกลิ่นสารเคมีหรือสิ่งปฎิกูล ผ้าจะกันไม่ค่อยได้ ถ้าใช้พัดลมเป่าช่วยไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากากกันสารเคมีจึงจะป้องกันกลิ่นได้

ไขควง
แบบด้ามยาง จะจับได้แน่นกว่าแบบด้ามพลาสติก จึงมีแรงหมุนมากกว่า หากมีรูที่ปลายด้าม จะมีประโยชน์เอาไว้แขวนหรือสอดแท่งเหล็กไว้ขันแนวนอน ไขควงแบบเปลี่ยนหัวไม่ได้จะใช้สะดวกที่สุด เพราะไม่มีอะไรหลุดหาย แต่ถ้าต้องใช้หัวหลายขนาดจะพกลำบาก เปลี่ยนมาใช้แบบถอดสลับหัวจะกะทัดรัดพกพาง่ายกว่า แต่จะมีปัญหาเรื่องรูหลวม ทำให้ดอกไขควงร่วงหลุดขณะกำลังใช้งาน โดยเฉพาะเวลาเร่งรีบจะหายได้ง่าย เลือกด้ามที่มีแม่เหล็กดูดดอกไขควงไว้จะช่วยได้มาก

ไขควงไฟฟ้า ดีกว่าแบบที่ใช้มือหมุน เพราะช่วยให้ทำงานเร็วขึ้นมาก ควรใช้แบบ
ไขควงที่เปลี่ยนหัวได้ ควรหาซื้อหัวแบบที่เป็นแม่เหล็กดูดน็อตได้ด้วย จะช่วยประหยัดเวลาในการหยิบและใส่น็อตได้

ควรหลีกเลี่ยงใช้สว่านเป็นไขควงไฟฟ้า เพราะรอบสูงและแรงบิดสูง เสี่ยงน็อตพังง่าย ถึงแม้จะกดปรับรอบได้แต่ยังมีโอกาสพลาดกดลึกได้ง่าย น้ำหนักหัวที่มากทำให้ความแม่นยำต่ำ ใช้งานบ่อยๆจะล้าง่าย เละสว่านรวมกล่องจะมีขนาดใหญ่ ขนย้ายลำบาก ถ้าแบบเสียบไฟก็ต้องหาสายไฟอีก ไม่นับรวมตอนแบตเตอรี่เสื่อม แล้วหาซื้อยากราคาแพง หรือตกรุ่นไปแล้วหาซื้อไม่ได้ ถ้านำไปใช้เจาะก็ต้องเสียเวลาถอดเปลี่ยนหัว ไขควงไฟฟ้าแยกต่างหากช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก


คีมล็อค

คีม
คีมล็อก เมื่อบีบแล้วล็อกเองได้ ช่วยให้ไม่ต้องใช้มือบีบด้ามคีมไว้ตลอดเวลา ช่วยผ่อนแรงบีบ และช่วยลดโอกาสหัวน็อตรูดเสียเวลาออกแรงบีบไม่พอ เพราะต้องแบ่งแรงไปขันน็อต เหมาะใช้บิดของชิ้นเล็กๆ ที่มือบิดลำบาก อย่างเช่น หัวน็อตหกเหลี่ยม หรือแม้แต่จุกเกลียวต่างๆที่ใช้มือบิดไม่ออก โดยเฉพาะพวกของนิ่มๆอย่างเช่น พลาสติก จะจับได้แน่นขึ้น

พัดลม

เมืองไทยเป็นเมืองร้อน มี 2 ฤดูคือร้อนมากกับร้อนน้อย ช่วงที่ร้อนมากแล้วจำเป็นต้องทำงานเกี่ยวกับสิ่งของ เช่น ซ่อมพัดลมที่เสีย จะเหงื่อตกมากจนทำไม่ไหว หรือทำได้ไม่ละเอียด เพราะเหนื่อยง่าย ทำได้ไม่นานต้องหยุด หรือกลัวร้อนจนขี้เกียจจนไม่อยากทำอะไร พัดลมบ้านธรรมดาที่ลมแรงพอสามารถให้ความเย็นเพียงพอที่จะทำงานช่างได้นานๆ ดีกว่าแอร์ เพราะเปิดปิดง่ายและหันไปได้ในทิศทางที่ต้องการ งานบางอย่างเปิดแอร์ไม่ได้เพราะต้องการระบายอากาศ ดังนั้นงานช่างจึงควรมีพัดลมเตี้ยส่วนตัวอย่างน้อย 1 ตัวประจำไว้ในจุดที่ต้องซ่อมประจำ ไม่ควรหิ้วพัดลมที่ใช้เรื่องอื่นมา เพราะบางครั้งอาจใช้เรื่องอื่นอยู่ บางคนมีพัดลมเครื่องเดียว พอพัดลมเสียเลยไม่ได้นอน ถ้าให้ดีที่สุดคือ ควรมี พัดลมติดผนังทุกจุดที่ต้องทำงานใช้แรง จะไม่ต้องลำบากยกพัดลมเวลาย้ายที่ซ่อม การมีพัดลม เพียงพอ จะช่วยให้ขยันทำงานมากขึ้น ถ้าต้องทำงานนอกสถานที่ ใช้พัดลมเล็กๆก็ยังดีกว่าไม่มีพัดลมเลย

พัดลมไม่ใช่แค่ช่วยให้ตัวเราเย็นขึ้นเท่านั้น งานหลายอย่างที่มีฝุ่นคลุ้งเข้าจมูก อย่างเช่น ใช้ลูกหมูตัดปูนหรือสมาร์ทบอร์ด หรือมีกลิ่นสารเคมี อย่างตะกั่วบัดกรี แค่ใช้พัดลมเป่าฝุ่นไปทางอื่น ก็จะไม่ต้องสวมหน้ากากป้องกัน แต่ต้องเป่าให้ถูกทิศทาง ถ้าเป่าไปทางตัน ฝุ่นจะตลบหลังกลับเข้ามา นอกจากจะเข้าจมูกแล้ว ยังติดใบพัดลมอีกด้วย

พัดลมอุตสาหกรรมจะล้มยาก แถมลมแรงเหมาะกับเวลาอากาศร้อน แต่ควรเลือกแบบที่มีปุ่มกดเปิดปิดได้จากด้านหน้าจะใช้สะดวกกว่า

การทำวามสะอาดฝุ่นพัดลมง่ายๆโดยไม่ต้องถอดตะแกรงคือ ใช้ blower เป่า

โคมไฟแบบคีบ

ไฟส่องสว่าง
งานช่างมักจะต้องทำตามซอกตามหลืบอยู่บ่อยๆ ไฟฉายมักไม่สว่างพอและเปลืองถ่าน ถึงแม้จะเป็นไฟฉายคาดหัวก็เลอะเหงื่อ เพราะงานช่างมักจะต้องทำในที่ร้อนๆอยู่เสมอ ไฟฉายที่เหมาะที่สุดคือ โคมไฟแบบคีบ โดยเลือกแบบที่มีฐานแข็งแรง มิฉะนั้นหนีบไปแล้วอาจจะหักได้ หากไม่มีแบบหนีบสามารถใช้แบบตั้งโต๊ะธรรมดาได้ ใส่หลอดไฟสว่างๆอย่าง LED 20 วัตต์จะช่วยให้ไม่ต้องดึงโคมไฟไปใกล้มาก  โดยเฉพาะเวลาที่ต้องทำงานที่สูง

ถ้าต้องทำงานในที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แนะนำให้ดัดแปลงตัวหนีบป้าย มาใช้หนีบไฟฉาย


เสื้อผ้า
กางเกงยืด จะปีนป่ายสะดวก และขาสั้นใส่แล้วไม่ร้อน

เทปกาวย่น (masking tape)
การทำเครื่องหมายลงบนบางพื้นผิวทั่วไปใช้ดินสอดำ HB ขึ้นไป ถ้าเขียนผิดสามารถลบได้ง่าย แต่อย่าใช้ดินสอที่มีแต่ H อย่างเดียวจะแข็ง เขียนไม่ค่อยติด ปัญหาคือ บางจุดต้องการขีดเส้นอย่างเที่ยงตรง ถ้าใช้ดินสอต้องเหลาให้แหลมตลอดเวลา หรือต้องใช้ปากกาแทน แต่ปากกาลบไม่ค่อยออก

เทปกาวย่นเป็นเทปกาวกระดาษสีครีมที่ใช้มือฉีกได้ ใช้ดินสอหรือปากาเขียนได้ เมื่อลอกออกแล้วพื้นผิวไม่มีคราบกาวเหลือไว้ บางพื้นผิวมีสีเข้ม มีน้ำมัน หรือสนิม ดินสอและปากกาเขียนแล้วจะมองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัดแล้วมีโอกาสพลาดได้ กลับมาดูอาจหาไม่เจอ บางพื้นผิวเขียนไม่ค่อยติด การใช้ตะปูขีดจะมองเห็นไม่ขัด การตอกตะปูลงบนปูนหรือไม้ จะทำได้แค่เป็นจุดๆ ไม่เป็นเส้นตรง วิธีทำเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดขึ้น และใช้ได้เกือบทุกพื้นผิวคือ แปะด้วยเทปกาวย่น มีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดขึ้น หากติดไว้ที่ดอกสว่าน จะรู้ได้ว่าควรเจาะถึงไหน

ปูนซิเมนต์
ปูนซิเมนต์เป็นผงเมื่อโดนน้ำจะเหนียว สามารถยึดติดกับอิฐและหินได้ดี ทิ้งไว้ค้างคืนก็จะเริ่มแข็ง เปลี่ยนจากสีเทาเข้มเป็นสีเทาอ่อน พอจะรับแรงกระแทกหรือแรงดึงได้โดยไม่หลุด ด้วยเหตุนี้ ปูนซิเมนต์ จึงนิยมใช้เป็นกาวเชื่อมอิฐและหิน แต่ไม่ใช้ปูนซีเมนต์เพียงอย่างเดียวในการก่อสร้าง เพราะ นอกจากจะราคาแพงแล้ว ยังเปราะ เวลาร้าว จะหยุดไม่อยู่ เปรียบเสมือนรอยร้าวบนแก้วหรือถ้วยชามกระเบื้อง แต่ถ้าใส่ทรายหรือหิน เวลาร้าวไปเจอทรายหรือหิน รอยร้าวจะหยุดอยู่แค่นั้น

ก่อนจะทำงานปูน ต้องหาจุดทิ้งปูนที่ผสมแล้วใช้ไม่หมด ซึ่งปูนซิเมนต์ที่ผสมน้ำแล้วใช้ไม่หมด ควรนำไปเทตามพื้นที่ต้องการปูนซิเมนต์ เช่น บนถนนลูกรัง หรือพื้นที่ในบ้านที่ต้องการเทปูน อย่างตามทางเดินบนสนามหญ้า แต่ถ้าไม่มีก็เทไปตามถนนคอนกรีตธรรมดาได้เลย ถ้ามีการทำลายคอนกรีตเก่าด้วย ก็ต้องหาจุดทิ้งเศษคอนกรีต

ปูนซิเมนต์มีหลายชนิด ชนิดพื้นฐานเรียกว่า portland cement ซึ่งตั้งชื่อโดยคนคิด เพราะเห็นว่าสีของปูนเหมือนหินที่เกาะ Portland ประเภทอังกฤษ ปูนซิเมนต์ผลิตจากดินเหนียวผสมหินปูน นำไปเผาแล้วบดเป็นผง ด้วยเหตุที่ต้องนำหินภูเขามาทำนี้เอง ปูนซิเมนต์จึงต้องผลิตโดยบริษัทปูนขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้ภูเขาอย่างแถวสระบุรี ปูนซีเมนต์ขายเป็นถุงขนาดใหญ่ 40 กก. ปูนชนิดนี้ ถ้านำมาก่ออิฐหรือฉาบปูน จะนิยมนำมาผสมทรายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โดยผสมในอัตราส่วนตามที่เขียนไว้ข้างถุงปูนคือ ปูน ต่อ ทราย = 1:3 โดยปริมาตร (ยกเว้นฉาบครั้งแรกใช้ทราย 2.5 ส่วน) ใส่น้ำประมาณ 1 ส่วน ลองใช้เกรียงตักมาบางๆ แล้วเอียงหรือคว่ำเกรียงลง หากปูนยังเกาะติดเกรียงอยู่ได้ไม่ไหลลงมาถือว่าใช้ได้ ถ้าไหลลงมาแสดงว่าเหลวไป การก่ออิฐจะผสมทรายหยาบ แต่ถ้าฉาบปูนจะผสมทรายละเอียด ถ้านำปูนก่อมาฉาบ จะได้ผนังเนื้อหยาบไม่เรียบเนียน ปัจจุบันมีหลายบริษัทผลิตปูนผสมทรายสำเร็จรูปมาขาย แต่ถ้าจะเทเสาหรือเทพื้น จะใช้ทรายหยาบผสมหิน การใส่หินจะเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นไปอีก เรียกปูนผสมทรายและหินว่า คอนกรีต โดยผสมในอัตราส่วน ปูน ต่อ ทราย ต่อ หิน ที่ใช้ก่อสร้างทั่วไปตามที่เขียนไว้ข้างถุงปูนคือ 1:2:4 โดยปริมาตร แต่หินที่เหมาะสำหรับงานก่อสร้าง ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกินครึ่งนิ้ว ถ้าใหญ่กว่านี้จะรับแรงได้ไม่ดี ช่างก่อสร้างนิยมซื้อปูนซีเมนต์ มาผสมทรายและหินเอง หลักการผสมคือ อย่ารีบผสมน้ำ ต้องคลุกหินทรายปูน ให้เข้ากันจนทั่วก่อน แล้วค่อยๆพรมน้ำลงไป เพราะถ้าใส่น้ำโดยที่ยังไม่คลุกให้เข้ากัน น้ำจะไปทำให้ปูนจับตัวเป็นก้อน แล้วปูนจะไม่จับกับหินและทรายจนทั่ว เมื่อคลุกจนทั่วแล้ว จึงผสมน้ำไปเรื่อยๆ สังเกตุว่าหินทุกก้อนเคลือบด้วยปูนซิเมนต์ ถือว่าใช้ได้ ถ้าผสมน้ำน้อยเกินไป จะร่วนเหมือนดิน หากทิ้งไว้ให้เริ่มแข็งสัก 2 ชม.(หรือข้ามคืนจะแข็งแน่นอน) ใช้มือแกะหรือใช้ค้อนทุบจะร่วนเหมือนคุกกี้ ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าผสมน้ำมากเกินไป จะทำให้รับแรงอัดได้ลดลง อัตราส่วนของน้ำจะไม่แน่นอนเพราะถ้าทรายเปียกหินเปียก จะใช้น้ำน้อยลง แต่โดยปกติจะผสมน้ำประมาณ 0.5 ถึง 1 ส่วน ข้อควรระวังในการผสมปูนด้วยมือคือ อย่าใช้ถังขนาดใหญ่มาตวง ควรเริ่มจากปริมาณน้อยๆ เช่น 1 ลิตร เพราะเมื่อนำหินกับทรายมารวมกับปูนแล้ว จะมีปริมาณมาก ทำให้คลุกลำบากมาก ยกเว้นจะใช้เครื่องผสมปูนช่วย จึงสามารถผสมครั้งละมากๆได้

ปูนซิเมนต์ ยังแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามการใช้งานที่แตกต่างกันไป ที่นิยมใช้กันมี 2 ประเภทคือ ปูนโครงสร้าง ใช้ทำเสาหรือคานเพราะแห้งเร็ว กับปูนที่ใช้ก่อหรือฉาบ จะแห้งช้ากว่า ถ้าใช้ปูนแห้งเร็วจะแห้งก่อนก่อหรือฉาบเสร็จ จึงใช้เฉพาะงานที่มีคนช่วยมาก ปูนแต่ละยี่ห้อจะมีสีบอกที่ถุง เช่น ปูนโครงสร้างบางยี่ห้อใช้สีแดง (จึงนิยมเรียกกันว่า ปูนแดง) บางยี่ห้อใช้สีน้ำเงิน ส่วนปูนก่อหรือฉาบมักจะใช้สีเขียว (จึงนิยมเรียกกันว่า ปูนเขียว) นอกจากนี้ยังมีปูนเฉพาะกิจ อย่างเช่น ปูนทนต่อซัลเฟตเพื่อใช้กับน้ำทะเล โดยประเภทของปูนจะเขียนไว้บนถุงว่าใช้กับงานแบบไหน เช่น ประเภท 1 คือปูนล้วนไม่ผสมอะไรเลย ใช้เป็นปูนโครงสร้างบ้านทั่วไป โดยปกติแล้ว การผสมหิน จะใช้เฉพาะกับโครงสร้างที่ต้องรับแรง อย่างเช่น พื้น คาน และเสา ถ้าซ่อมแซมบ้านอุดรูหรือก่อเล็กๆน้อยๆ ใช้ปูนผสมทรายก็พอแล้ว จึงมีหลายบริษัทนำปูนซิเมนต์มาผสมทรายและสารเคมี เพื่อใช้กับงานเฉพาะอย่าง เช่น ก่ออิฐ หรือ ปูกระเบื้อง มีแบ่งขายเป็นถุงเล็กๆ 1-5 กก.เหมาะใช้กับงานเล็กๆน้อยๆ ถ้าผสมทรายอย่างเดียวเรียกว่า mortar แต่ถ้าผสมสารเคมีอย่างปูนที่ใช้ก่ออิฐมวลเบาหรือปูกระเบื้องจะผสมกาว จึงเรียกว่า ปูนกาว หรือ grout (ปูนก่อมักไม่เขียนบอกไว้บนถุง) ปูนสำเร็จรูปเหล่านี้มีข้อดีคือ เวลาใช้ไม่ต้องผสมทราย แค่เติมน้ำแล้วใช้ได้เลย ทำให้ทำงานง่ายขึ้น แต่เวลาซื้อต้องดูที่ถุงให้ดีๆ ว่าใช้กับงานอะไร เพราะ บางทีคนขายหยิบปูนผิดประเภทมาให้ หากไม่แน่ใจควรโทรถามบริษัทตามที่ระบุไว้ข้างถุง วิธีสังเกตุประเภทปูนคือ ลองใช้มือหยิบขึ้นมาบดดูความละเอียด จะรู้ว่าเป็นปูนซีเมนต์ หรือปูนผสมทราย ปูนผสมทรายจะหยาบกว่าปูนซีเมนต์

งานปูนอย่างแรกต้องเตรียมก๊อกน้ำ เพราะต้องใช้น้ำผสมปูนและล้างถังผสมปูน ถ้ามีหินเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องมีเครื่องผสมปูน ซึ่งหมายถึงต้องมีไฟฟ้า ซึ่งทั้งน้ำและไฟนี้ นอกจากจะอยู่ในจุดผสมปูนแล้ว ยังต้องอยู่ในจุดที่จะเทปูนทิ้งและล้างถังปูนด้วย เพราะ เวลาล้างถังปูนย่อมมีเศษปูนที่จะต้องเททิ้งลงพื้นในจุดที่เหมาะสม ถ้าจุดเทปูนทิ้งอยู่ไกล จะเสียเวลาเดิน ส่วนปูนที่เหลือทิ้ง ควรนำมาเทบนพื้นเพื่อทำ ทางเดิน

มือใหม่ที่ทำงานปูน ควรทดลองจากแบบจำลองก่อน เพราะ งานปูน เป็นงานใหญ่ ถ้าทำผิดแล้วแก้ไขยาก ต้องรื้อกันเหนื่อย เช่น ถ้าจะก่ออิฐก็ทดลองก่ออิฐเล่นๆดูก่อน เพื่อดูว่าต้องใช้ส่วนผสมเท่าใด ต้องทุบอิฐอย่างไรเพื่อให้กดแน่นกับปูนที่นำมาก่อ และเมื่อปูนแข็งแล้ว รับแรงได้จริงหรือไม่ ถ้าต้องหล่อเสา ก็ลองหล่อแบบจำลองดูก่อน อาจเป็นถ้วยพลาสติกสักใบ นำมาใส่ปูนผสมหิน ดูว่าเมื่อแห้งแล้ว แข็งแรงพอหรือไม่ มีรูหรือไม่ พอถึงเวลาทำจริงก็ลองทำดูในปริมาณน้อยๆ รอดูผลสัก  20-30 วัน หากไม่มีปัญหาอะไรจึงค่อยทำในปริมาณมากขึ้น

การก่อพื้นให้ได้ระดับต้องทำแบบหล่อ

การก่อกำแพง อาจไม่จำเป็นต้องใช้แบบหล่อ แค่อิฐวางทับกันไปเรื่อยๆ สำคัญแค่ว่า ต้องทำไม่ให้เลื้อยเป็นงู ด้วยการขึงเอ็น โดยนำเอ็นตกปลาเส้นใสๆ (หรือจะใช้ด้ายก็ได้) ผูกระหว่างเสา 2 ต้นที่ต้องการจะก่ออิฐ แล้วก่ออิฐเทียบกับแนวเอ็น ถ้าผูกกับเสาไม่ได้ สามารถใช้ตะปูคอนกรีตตอกลงไป แล้วผูกกับตะปูแทน

จุดเชื่อมอิฐด้วยปูนซิเมนต์ คือ จุดอ่อน หากมีแรงกดจะทำให้พังได้ง่ายกว่าจุดอื่น ด้วยเหตุนี้ การวางอิฐเพื่อก่อกำแพง จึงต้องวางสลับกัน เพื่อไม่ให้รอยต่ออยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน แม้แต่รอยต่อของปูนเก่ากับปูนใหม่ ก็เป็นจุดอ่อน เคยมีการทดลองนำเสาปูนที่มีรอยต่อจากการเทปูนคนละเวลากัน มารับแรงอัดด้านข้าง พบว่ารอยต่อจะหักก่อน ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างคอนกรีตที่ต้องการความแข็งแรง อย่างเช่น ตอม่อของแท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงใช้วิธีเทปูนให้เสร็จในครั้งเดียว

การก่อคอนกรีตรูปทรงอื่นนั้น เช่น คาน จำเป็นต้องทำแบบหล่อ แบบหล่อปูนที่ใช้งานจริง ปกตินิยมใช้ไม้กระดาน เพราะ หาง่าย ตอกง่าย แกะแบบง่าย ไม่มีปูนติด แต่วัสดุอื่นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน อย่างเหล็ก แม้แต่พวกอิฐก็นำมาทำแบบได้โดยติดเทปกาวป้องกันไม่ให้ปูนติดกับ อิฐ  สำคัญว่าต้องได้ระดับ ซึ่งทำได้โดยหาไม้แบบ ที่มีความสูงจากพื้นตามที่ต้องการ นำมาทำเป็นแบบหล่อ แล้วใช้ระดับน้ำวัดให้แบบหล่อได้ระดับ ผู้เขียนเคยก่อพื้นโดยไม่มีไม้แบบ ปรากฎว่า เรียบไม่เท่ากัน ตรงขอบจะต่ำ ส่วนตรงกลางจะสูง

วิธีคลุกปูน ถ้าเป็นปูนผสมทราย ให้หากะบะพลาสติกขนาดที่สามารถใส่ปูนตามปริมาณที่ต้องการ แล้วยังเหลือที่ว่างอีกครึ่งถังเผื่อคลุกปูน ขนาดที่เหมาะสำหรับทำคนเดียวเสร็จก่อนปูนแห้งในเวลา 2 ชม.คือ ประมาณ 4-5 ลิตร ก้นกะบะควรจะเรียบ เพื่อไม่ให้เศษปูนติดก้นถัง กะบะสี่เหลี่ยม จะดีกว่าถังกลม เพราะ เวลาเหลือเศษปูนอยู่ก้นถัง สามารถใช้เกรียงขูดออกได้จนเกลี้ยง ไม่เหมือนถังกลม ที่มักจะตักได้ไม่หมด นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กะบะรองเศษปูนที่เยิ้มหล่นลงมาจากกำแพงเวลาที่ก่อหรือฉาบ ปูน กะบะกว้างเตี้ย จะดีกว่าถังแคบแต่ลึก เพราะ ถังที่แคบแต่ลึกมีพื้นที่ก้นถังแคบ จึงทำความสะอาดด้วยแปรงยาก กะบะหนาจะดีกว่า เพราะแตกยากกว่า เกรียงโป๊วหรือเกรียงใบโพธิ์ใช้คลุกปูนได้ แต่ใช้อุปกรณ์ทรงพลั่วจะสะดวกกว่า เกรียงโป๊วเหมาะใช้ขูดปูนตามพื้นกระบะ ส่วนเกรียงใบโพธิ์ใช้ขูดปูนข้างกระบะ ถ้าใช้เกรียงโป๊วขูดด้านข้างต้องนำมาดัดแปลง

เครื่องผสมปูนจะเริ่มใช้ก็ต่อเมื่อมีหินมาเกี่ยวข้อง เพราะ หินจะหนักมาก ใช้มือคลุกไม่ไหว ใช้จอบคลุกจะช่วยได้ แต่การผสมมือมักจะมีปัญหาผสมไม่ทั่ว  เครื่องผสมปูนที่ใช้ตามบ้าน เป็นเหมือนถังทรงกระบอก มีเหล็กทรงเหมือนใบพัดยึดติดอยู่ขอบถัง เวลาหมุนถังจะทำให้ปูนและทรายไปตีกับใบพัด ช่วยให้คลุกเคล้ากันเป็นเนื้อเดียว  การล้างเครื่องผสมปูน จะใส่ทรายลงไปแล้วหมุนจะขัดได้เฉพาะข้างใน ส่วนที่เหลือยังต้องใช้แปรงขัดให้เกลี้ยง เครื่องผสมปูนที่ดี ควรจะมี 4 ล้อ (แบบ 2 ล้อจะต้องวางขาเหล็กลงกับพื้น ทำให้ขาเหล็กเกิดสนิมได้ง่าย) สามารถคว่ำถังได้จนถึงในแนวดิ่ง เพื่อจะเททรายออกได้เกลี้ยง

ถ้าเป็นปูนผสมทราย ไม่มีหิน ใช้มือจับเกรียงคนก็ได้ แต่ถ้ามีปริมาณมาก อาจคนไม่ทั่ว จึงต้องใช้เครื่องมือกลช่วย อย่างเช่น ส่วานผสมปูน ซึ่งมีราคาแพงพอสมควร จึงอาจดัดแปลงใช้แท่งผสมสี (เป็นเหมือนหัวตีแป้งที่ขายตามห้าง แต่ใหญ่กว่า และเหล็กหนากว่า ออกแบบมาให้คนสีด้วยมือ ) นำมาใส่สว่าน แต่เวลาหมุนอาจจะแกว่ง เพราะไม่ได้ทำมาให้ศูนย์ถ่วงตรงเพื่อใส่สว่าน อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้เครื่องผสมปูน

ปูนซีเมนต์ต้องผสมน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ถ้าผสมน้ำน้อยเกินไป เวลาแห้งแล้วจะป่นเป็นคุ๊กกี้ แต่ถ้าผสมน้ำมากเกินไป เวลาแห้งแล้วจะไม่แข็งแรง ปูนผสมน้ำเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับงานอะไร ถ้างานอุดรูรั่ว จะผสมน้ำน้อยลง ขนาดสามารถใช้มือปั้นเป็นก้อนได้ แต่ถ้าฉาบ จะต้องเหลวหน่อย เพื่อให้ฉาบได้ครั้งละปริมาณมากๆ ถ้าหนืดเกินไปจะฉาบยาก ฉาบได้ทีละน้อย พอฉาบไปแล้ว ถ้าปูนไม่เหลวพอ จะแห้งเร็วเกินไป

ปูนซิเมนต์ ควรซื้อมาพอดีกับที่ใช้ เพราะ ถุงปูนรั่วง่าย ถุงปูนเป็นแค่กระดาษบางมาก โดนเกี่ยวนิดเดียวก็รั่วแล้ว แค่ยกตรงหัวก็อาจจะถุงขาด บางทีปากถุงก็รั่วมาอยู่แล้ว บางทีคนงานขนปูนใช้วิธีโยนมา ผู้เขียนซื้อปูนทีไร เจอถุงรั่วฝุ่นคลุ้งอยู่บ่อยๆ เวลาซื้อลองพลิกถุงดูหากปูนรั่วออกมา อย่าไปซื้อ เพราะเมื่อความชื้นเข้าไป ปูนจะจับกันเป็นก้อน ทำให้ความแข็งแรงลดลง ถ้าปูนเจออากาศสักอาทิตย์หนึ่ง จะเริ่มจับกันเป็นก้อน แต่ยังไม่แข็งเป็นคอนกรีต บี้แล้วกลายเป็นผง นำก้อนนั้นมาผสมน้ำก็จะใช้ได้ แต่จะไม่ค่อยแข็งแรงเท่ากับปูนใหม่ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำโครงสร้างเช่น เสาหรือคาน ถ้าจับดูถุงปูนเริ่มแข็งเหมือนคอนกรีต แสดงว่ารั่วมานานแล้ว จนปูนบางส่วนแข็งเป็นคอนกรีต ถ้าแกะออกมาเจอบางส่วนแข็งเป็นคอนกรีต ก็ต้องเสียเวลามานั่งร่อน ทิ้งส่วนที่แข็งไป ถ้าซื้อปูนซิเมนต์มาแล้ว ควรจะเปิดถุงเทใส่ถังพลาสติก ที่ฝาปิดสนิทกันอากาศเข้า เช่น ถังสีใช้แล้ว แบบฝาพลาสติก สังเกตุว่าถ้าเทน้ำออกจากถังไม่ได้ อากาศก็จะเข้าไม่ได้ ถ้าอากาศเข้าไม่ได้ ความชื้นก็จะเข้าไม่ได้ ผงปูนเก็บไว้ได้นานหลายปีโดยไม่จับตัวกันเป็นก้อน การแบ่งใส่ 2 ถังจะหาถังขนาดเล็กใส่ได้ง่ายกว่าหาถังขนาดใหญ่ และ ช่วยให้หิ้วสะดวกกว่า ถุงปูนหนัก 40-50 กก.จะแบ่งใส่ถังขนาดประมาณ 18 ลิตรได้ 2 ถังพอดี ถ้าหาถังไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรจะใส่ถุงขยะ 1-2 ชั้น กันถุงขาด แล้ววางให้สูงจากพื้นเพื่อป้องกันความชื้นจากพื้น แต่ข้อเสียของถุง คือ ตักใช้ยาก ไม่เหมือนถังที่ตักใช้ง่าย ตักเสร็จแล้วปิดฝาได้ง่าย ถึงแม้จะกันอากาศเข้าแล้ว ปูนซิเมนต์ที่กำลังใช้อยู่และไม่มีถังใส่ หากเปิดถุงทิ้งไว้ ผงปูนจะดูดความชื้นจากอากาศ แล้วจับตัวกันเป็นก้อน แก้ไขโดยหาเชือกแข็งๆที่มีขนาดพอสมควร มามัดปากถุงไว้ เชือกแข็งๆจะมัดครั้งเดียวแน่น และเชือกที่มีขนาดพอสมควรจะคลี่ออกได้ง่าย จากปัญหาเรื่องปูนแข็งนี้เอง เราจึงควรซื้อมาเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ถ้าไม่พอจึงค่อยไปซื้อใหม่

ปูนเมนต์ประเภทเดียวกัน อาจมีหลายยี่ห้อจนสับสนไม่รู้จะเลือกยี่ห้อไหนดี แถมราคายังใกล้เคียงกัน คนที่รู้เรื่อง จะเลือกยี่ห้อที่ใส่ในถุงพลาสติก ไม่ใช้ถุงกระดาษ เพราะถุงกระดาษมีโอกาสขาดได้ง่าย ยิ่งเวลาเปียก แค่ขยับถุงก็ขาดแล้ว พอถุงขาดแล้วเรื่องใหญ่ เพราะ ขนย้ายไม่ได้ ต้องหาภาชนะมาโกยปูน ซึ่งต้องเป็นถังขนาดใหญ่มาก ถึงแม้ถุงกระดาษจะมีถุงพลาสติกบางๆซ้อนอยู่ข้างใน แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องความแข็งแรงมากนัก

ถุงปูนซิเมนต์ที่ยังไม่ได้ใช้ ควรเก็บไว้ในที่ร่มที่ไม่โดนละอองฝน และ ไม่มีความชื้น  อย่าวางไว้นอกบ้านถึงแม้จะอยู่ใต้ชายคาก็ตาม โดยเฉพาะถุงปูนที่เป็นกระดาษ เมื่อโดนหยดน้ำหรือความชื้น กระดาษจะซับน้ำได้  ถ้าวางบนพื้นปูน ควรวางบนฐานที่ยกสูงจากพื้น เพื่อป้องกันถุงปูนดูดความชื้นจากพื้น  ถ้าหาที่เก็บไม่ได้จริงๆ ควรเทใส่ถังพลาสติกเก็บไว้ นั่นคือ ต้องหาถังพลาสติกมาเตรียมไว้ล่วงหน้า ถุงพลาสติกที่ปิดไม่สนิทถึงขนาดกันอากาศเข้าออก ก็ยังดีกว่าเก็บในถุงดั้งเดิม

วัสดุก่อสร้างพวกปูน หิน ทราย ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้ ยกเว้นจะมีที่เก็บ เพราะ ปูนจะแข็ง อิฐจะขึ้นตะไคร่น้ำ(ต้องใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดออก) ทรายจะมีหญ้าขึ้นและมีหมาแมวมาขี้ใส่ หินจะมีเศษใบไม้ลงไปปน ถ้าใช้ไม่หมดและไม่มีที่เก็บ ควรจะยกให้ช่างไป การเก็บหินและทรายที่จะนำมาใช้ หากวางไว้กลางแจ้ง ควรมีอะไรคลุมทับ

อิฐมีหลายประเภท เช่น อิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐมวลเบา นอกจากนี้ก็ยังมีอิฐบล็อกประสาน อิฐทนไฟ อิฐขาว อิฐบล็อกนาโน ฯลฯ ซึ่งข้อดีของอิฐขนาดใหญ่คือ ใช้เวลาก่อน้อยกว่าอิฐขนาดเล็ก อิฐมวลเบาจึงก่อง่ายกว่า ไม่เหมือนอิฐมอญหรืออิฐบล็อกจะทำยาก เช่น ต้องขึงเอ็น หรือ หยอดปูนลงในช่องว่าง ถึงแม้ว่าอิฐบล็อกจะราคาถูกกว่าอิฐมวลเบา แต่เมื่อเทียบค่าก่อสร้างโดยรวม(อิฐ ปูน ค่าแรง)แล้ว ใช้อิฐบล็อกราคาไม่ต่างจากการใช้อิฐมวลเบา เพราะอิฐมวลเบาก้อนใหญ่กว่า จึงใช้เวลาก่อน้อยกว่า ใช้ปูนน้อยกว่า แค่ปาดบางๆก็ติดแล้ว ผู้ผลิตจะประมาณไว้ที่ปูนก่ออิฐมวลเบา 1 กระสอบ ต่ออิฐมวลเบา 200 ก้อน แต่คนที่ชำนาญจะก่อได้ถึง 300 ก้อน (สร้างบ้านชั้นเดียวหลังเล็กๆ ได้ 1 หลัง) ด้วยการทาปูนบางๆบนอิฐ แล้วใช้ค้อนยางทุบให้อิฐติดกัน แล้วใช้ระดับน้ำวัดให้ตรง คำนวณจำนวนอิฐที่ใช้ได้จากพื้นที่ที่ต้องก่อปูน โดยอิฐมวลเบา 1 ก้อน จะมีขนาด 20x60x7.5 ซม

อิฐมวลเบา คือปูนผสมฟองอากาศ มีอายุการใช้งานเท่าคอนกรีตคือ 50 ปี ชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้ เพราะ ราคาต่อก้อนแพงกว่าอิฐชนิดอื่น  อิฐมวลเบาแบ่งเป็นอีก 2 ประเภทคือ สีขาว (AAC) ซึ่งผลิตโดยนำไปอบไอน้ำ กับ สีเทา (CLC) ซึ่งผลิตโดยไม่ผ่านความร้อน ทั้งสองแบบจะราคาพอๆกัน สีขาวจะราคาถูกกว่าเล็กน้อย สีเทามีคุณสมบัติเหนือกว่าสีขาว คือใช้ปูนทรายธรรมดาก่อฉาบได้  ตอกตะปูได้ ดูดซึมน้ำได้น้อย จึงไม่เกิดเชื้อรา แต่มีน้ำหนักมากกว่าสีขาว ส่วนสีขาวจะดูดน้ำเก่ง จึงควรใช้ปูนก่อและปูนฉาบ ที่ออกแบบมาสำหรับอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ จะติดอิฐมวลเบาได้ดีกว่าปูนทรายธรรมดา ปูนก่ออิฐมวลเบาสีขาวจะเป็นปูนกาว และป้องกันน้ำระเหย ถ้าใช้ปูนทรายธรรมดา จะมีโอกาสที่อิฐมวลเบาดูดน้ำ แล้วเกิดรอยแยกได้ง่าย ถ้าจะใช้ปูนทรายกับอิฐมวลเบาสีขาว อย่างตรงรอยต่อระหว่างอิฐมวลเบากับเสาประตูหน้าต่าง ควรใช้ปูนก่ออิฐมวลเบาฉาบผิวอิฐก่อน แล้วจึงนำไปเชื่อมต่อกับปูนทราย เช่นเดียวกับปูนฉาบสำหรับอิฐมวลเบา ที่มีคุณสมบัติป้องกันน้ำระเหย ถ้าใช้ปูนทรายทั่วไปจะร้าวได้ง่ายเพราะอิฐมวลเบาดูดน้ำ อิฐมวลเบาสีขาวมีข้อเสียคือ
ข้อดีของอิฐมวลเบาคือ น้ำหนักเบา (90 กก/ตรม) จึงเหมาะสำหรับแต่งเติมอาคารชั้นบน ก้อนใหญ่ก่อได้เร็ว เหมาะกับงานที่ต้องการความรวดเร็ว ผู้รับเหมาจึงนิยมใช้ และเป็นฉนวนความร้อนที่ดีกว่าอิฐมอญและอิฐบล็อก จึงช่วยลดความร้อนภายในอาคาร ผนังอิฐมอญและอิฐบล็อกฝั่งที่โดนแดดบ่าย จับดูจะรู้สึกร้อน แต่ผนังอิฐมวลเบาฝั่งที่โดนแดดบ่าย จับดูจะไม่รู้สึกร้อน แต่อิฐมวลเบาก็มีข้อเสียคือ เก็บเสียงไม่ดี พูดข้างห้องยังได้ยินโดยไม่ต้องเงี่ยหูฟัง และ รับแรงในการแขวนสิ่งได้น้อยกว่าอิฐมอญเพราะมีรูพรน

อิฐมอญแดง คือดินเหนียวเผา แต่ข้อเสียคือหนักถึง 180 กก/ตรม. ทำให้บ้านหนักขึ้นกว่าอิฐมวลเบาถึงเท่าตัว ถ้าสร้างตึกสูงๆต้องเพิ่มขนาดฐานราก แต่มีข้อดีคือ รับแรงกดได้มากกว่า เจาะรูด้วยสว่านแล้วยึดได้แน่น เจาะรูใส่พุกพลาสติกแล้วรับน้ำหนักได้ถึง 60 กก.ต่อตัว ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบค่าอิฐต่อตารางเมตร แล้วจะราคาถูกที่สุด แต่อิฐมอญก้อนเล็ก จึงใช้เวลาก่อนานมาก อิฐมอญแดงตัน เหมาะสำหรับใช้สร้างบ้านอยู่เอง เพราะเจาะได้ทุกที่และเก็บเสียงได้ดีทั้งออกและเข้า ส่วนอิฐมอญแดงก็มีข้อเสียคือนำความร้อนได้ดี โดยเฉพาะตรงผนังด้านที่โดนแดดจะร้อน ซึ่งแก้ไขโดยการก่ออิฐ 2 ชั้น ใช้อิฐมวลเบาเป็นผนังชั้นนอกเพราะเป็นฉนวนความร้อนที่ดี ช่องว่างระหว่างกำแพง เหมาะที่จะทำห้องเก็บของแคบๆ กว้างประมาณ 1.5 เมตร ครึ่งหนึ่งเป็นประตูขนาดเท่าประตูห้องน้ำคือประมาณ 0.8 เมตร อีกครึ่งหนึ่งเป็นชั้นวางของู่ตามแนวกำแพง เพราะ ของใช้ในบ้านส่วนใหญ่มักออกแบบมาให้มีขนาดใหญ่ไม่เกินประตูห้องน้ำ เพื่อที่จะขนผ่านประตูได้ นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างกำแพง ยังสามารถใช้เดินท่อแอร์หรือเดินสายไฟ ซ่อนไม่ให้มองเห็นจากภายในบ้าน ผนังชั้นนอกฝั่งนอกบ้านสามารถปลูกต้นตีนตุ๊กแกหรือปล่อยให้ตะไคร่ขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่ากำแพงจะผุกก่อนแล้วมีปัญหากับผนังภายใน

อิฐบล็อกประสาน มีร่องประกอบอิฐเข้าด้วยกัน ก้อนใหญ่กว่าและราคาแพงกว่าอิฐมอญ เหมาะสำหรับก่อโชว์เนื้ออิฐเน้นความสวยงาม แต่ต้องทาน้ำยาเคลือบป้องกันราและตะไคร่น้ำมาเกาะทำให้ผุกร่อนง่าย เหมาะสำหรับสร้างกำแพง ถ้าใช้สร้างบ้าน จะต้องหยอดปูนเพราะ อิฐมีรูตรงกลาง

อิฐบล็อก (concrete block) มีสีเทา เพราะทำจากปูนผสมหินฝุ่น (บางรายอาจผสมอย่างอื่นตามใจชอบ) แล้วอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม หรือทรงอื่นอย่างอิฐตัวหนอนปูพื้น ทนแดดทนฝนได้ยาวนานเหมือนคอนกรีตทั่วไปคือเกิน 50 ปี สามารถหล่อตามสูตรที่ต้องการ เช่น หล่อให้หนาขึ้นและเสริมเหล็กเส้นเพื่อใช้รับน้ำหนัก อย่างกำแพงเหนือจุดที่ฝังเต้ารับไฟฟ้า ที่ต้องรับน้ำหนักอิฐด้านบน มีทั้งแบบกลวงและตัน แบบข้างในกลวงจะเบาและราคาถูกลง แต่เจาะรับน้ำหนักได้ไม่ดี จึงเหมาะสำหรับทำพวกกำแพงรั้วหรือบ่อปลา ถ้าใช้ทำกำแพงบ้านควรเลือกแบบตัน ถ้าใช้แบบกลวงควรหยอดปูน บางยี่ห้ออาจพัฒนาให้มี คุณสมบัติดีขึ้น เช่น ทำให้เนื้อแน่นขึ้น ช่วยป้องกันน้ำซึมผ่านได้ดีกว่าอิฐบล็อกทั่วไปที่มีรูพรุน บางยี่ห้อใช้ปูนขาวผสมทราย ทำให้อิฐมีสีขาวเพื่อความสวยงาม เรียกว่า อิฐขาว นิยมใช้ก่อกำแพงโดยไม่ต้องฉาบ เพราะถ้าฉาบปกปิดแล้วไม่ต่างจากใช้อิฐเทาซึ่งราคาถูกกว่า

การตัดอิฐ บางครั้งอาจจะมีบางช่องที่มีขนาดเล็กกว่าขนาดของอิฐ แก้ไขโดยตัดอิฐ ถ้าเป็นอิฐบล็อกกลวงจะตัดง่าย แค่ใช้ค้อนเคาะๆก็แตก แต่จะไม่เรียบ ซึ่งเราไม่ต้องการให้เรียบอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มการยึดเกาะ ถ้าเป็นอิฐตัน อย่างอิฐมวลเบา ต้องใช้ลูกหมูใส่ใบตัดปูน (เรียกว่าใบตัดเพชร) ถ้าใบมีดใหญ่ ตัดแค่ 2 ด้านก็ขาด แต่ถ้าใบมีดเล็ก ตัดให้ลึกที่สุด ตัดให้รอบอิฐ วางอิฐบนโต๊ะ วางส่วนเกินให้ยื่นออกไปในอากาศ แล้วใช้ค้อนยาง เคาะตรงส่วนเกิน ส่วนนั้นก็จะหลุดออกอย่างง่ายดาย

ใบตัดเพชรจะใช้ตัดปูนหรือกระเบื้อง แบ่งเป็น 2 แบบคือตัดแบบน้ำและตัดแบบแห้ง ซึ่งลักษณะใบตัดจะไม่เหมือนกัน ใบตัดแบบน้ำจะเรียบๆเหมือนคมมีด ส่วนใบตัดแบบแห้งจะมีร่อง ปัจจุบันมีใบตัดเพชรที่ตัดได้ทั้งน้ำและแห้งด้วย ถ้าเป็นผนังหนาๆที่ใส่ใบตัดเพชร แล้วยังตัดไม่ขาด สามารถใช้สว่านใส่ดอกสกัด เจาะต่อเข้าไปอีก หรือเปลี่ยนมาใช้ลูกหมูขนาดใหญ่ขึ้นอย่างใบ 7 นิ้ว จะตัดได้ลึกขึ้น

ปูนฉาบ จะใช้ปูนเขียวมาผสมกับทรายละเอียด ในอดีตจะใช้วิธีร่อนทราย ก่อนฉาบปูนต้องรดน้ำอิฐก่อน เพื่อป้องกันอิฐดูดน้ำทำให้ปูนร้าว แถมฉาบเสร็จต้องพรมน้ำป้องกันปูนแตกด้วย ปัจจุบันมีปูนผสมทรายละเอียดขาย แถมยังใส่สารที่ช่วยให้ปูนอุ้มน้ำ ทำให้ไม่แตกร้าวง่าย ปูนฉาบอิฐมวลเบา สามารถใช้ฉาบอิฐอย่างอื่นได้ แต่ปูนฉาบอิฐอย่างอื่นจะเอามาฉาบอิฐมวลเบาไม่ได้ เพราะอิฐมวลเบาดูดน้ำมาก  ถ้าใช้ปูนฉาบอิฐมวลเบายี่ห้อเดียวกับอิฐมวลเบาจะดีมาก เทคนิคอื่นๆที่ใช้กันคือ ดูว่าแสงแดดส่องมาด้านใด เมื่อฉาบเสร็จแล้ว แสงแดดจะต้องไม่ส่องมาทางด้านนั้น เพราะแสงแดดจะทำให้น้ำระเหยเร็ว

ความหนาของปูนฉาบ ถ้าต้องการฉาบบางๆ 0.5 ซม.จะฉาบแค่รอบเดียวได้ แต่ปกติจะฉาบ 2 รอบ 1 ซม.เพราะ วงกบประตูหน้าต่าง จะหนากว่าอิฐ จึงต้องฉาบให้หนาเท่ากัน ถ้าฉาบรอบเดียวจะฉาบหนาไม่ได้ ปูนจะไหลออกมาหมด โดยรอบแรกผสมทรายหยาบฉาบฉาบให้ปูนติดกับอิฐ และปรับพื้นผิวตรงจุดที่อิฐไม่เรียบเสมอกัน รอให้ปูนเริ่มแห้ง รอบที่สองจึงผสมทรายละเอียดฉาบให้เรียบ รอบแรกจึงไม่ต้องให้เรียบ เพราะถ้าฉาบเรียบปูนที่ฉาบใหม่จะร่อน ฉาบรอบสองจะจบงาน โดยใช้เกรียงไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาบดให้เรียบ อาจใช้สเปรย์ฉีดน้ำฉีดแบบละอองมาช่วยด้วย หลังจากนั้นจึงใช้ฟองน้ำปาดให้เรียบสนิทอีกรอบ ฟองน้ำใช้ฟองน้ำสี่เหลี่ยมหนาๆแบบเดียวกับฟองน้ำล้างรถ แต่ถ้าหนาเกินไป ให้นำมีดมาตัดออก

การหล่อเสาคอนกรีต
ที่กระทุ้ง (ครึ่งล่าง) กับ
ไม่กระทุ้ง (ครึ่งบน)

การหล่อเสาคอนกรีต ใช้สำหรับค้ำยันส่วนที่ต้องรับแรง เช่น เสาบ้าน คาน หรือขอบประตูหน้าต่าง ขอบด้านข้างเรียกว่าเสาเอ็น ขอบด้านบนเรียกว่าทับหลัง ถ้าทำเสาเอ็นก็ทำแบบหล่อโดยตอกกระดานไม้เข้ากับแนวกำแพงเดิมได้เลย โดยใช้ตะปูเป็นตัวยึดไม้กับคอนกรีต (ถ้าเป็นพวกอิฐมวลเบาจะใช้ตะปูทั่วไปตอกเข้าได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตะปูคอนกรีต แต่ถ้าเป็นพวกปูนผสมหิน แม้แต่ตะปูคอนกรีตก็ตอกไม่เข้า จำเป็นต้องเจาะรูนำขนาดเท่าตะปูก่อน แล้วจึงค่อยตอกตะปู ถ้าตอกแล้วงอ จึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ตะปูคอนกรีตซึ่งงอยากกว่า) ส่วนปูนที่นำมาเท จะใช้ปูนแดงนำมาผสมทรายหยาบและหินกรวด เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และใส่เหล็กเส้นข้างในเสาเท่าที่จะใส่ได้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้เช่นกัน หลักสำคัญของการเทปูนเพื่อหล่อเสาคือ เมื่อแกะแบบแล้ว อย่าให้มีรูพรุน ซึ่งทำได้โดย อย่าให้มีเหล็กเส้นหรือลวดมาขวางเส้นทางที่ปูนไหลลงไป และ ต้องเสียเวลากระทุ้งให้แน่นหลายๆรอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง เวลากระทุ้ง จะใช้เหล็กเส้นมากระทุ้งก็ได้ หากกระทุ้งแน่น สังเกตุว่าปูนจะไหลทะลักออกมาตามรอยต่อของแบบไม้ และ แบบไม้จะอ้าออก ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถตกแต่งได้ภายหลัง โดยแกะไม้แบบขณะที่ปูนเริ่มแข็งตัว แต่ยังพอขูดออกได้ อย่ารอให้ปูนแข็งสนิท เพราะจะต้องใช้ลูกหมูตัดแต่งภายหลังทำให้เปลืองแรงมาก แต่สำหรับมือใหม่ ถ้าทำแบบสูงเกินไป จะกระทุ้งด้านล่างไม่ทั่ว ทำให้ด้านล่างมีช่องว่าง แล้วจะแก้ยาก (ตามรูปทางขวา เป็นการหล่อแบบสองครั้ง ครั้งแรกหล่อเสาครึ่งล่างพร้อมกับกระทุ้ง จะเห็นปูนเนื้อแน่น ถึงแม้ว่าจะใช้ลูกหมูตัดผิวของเสาด้านล่างซ้ายออก ก็ยังเห็นเนื้อแน่น  ส่วนเสาส่วนบนหล่อทีหลัง โดยไม่กระทุ้ง จึงเห็นมีรูพรุนตั้งแต่แกะไม้แบบ) มือใหม่อาจจะทำแบบไม้ให้เตี้ยลงเหลือสักฟุตเดียว แล้วค่อยๆต่อขึ้นไปทีละฟุต โดยทำกรอบไม้ด้านข้างสำหรับเสียบไม้กระดาน เมื่อหล่อเสาสูงขึ้นไปก็แค่นำไม้กระดานมาเสียบลงในกรอบ โดยไม่ต้องตอกตะปูจนทำให้ปูนเดิมที่ยังไม่แข็งตัว สะเทือนแล้วแยกออกจากแนวกำแพง

งานช่างที่หนักเกินกว่าจะทำคนเดียว คือ งานปูน เช่น ก่ออิฐ ก่อเสา เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ที่คิดว่างานคอนกรีตทำคนเดียวได้ เพราะ งานปูนมีน้ำหนักมาก ทั้งอิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก กระเบื้อง และน้ำ ทำให้ขนย้ายลำบาก แถมยังมีปริมาณมาก ทำให้ต้องใช้เวลาทำมาก เมื่อผสมกันแล้ว ยังต้องทำงานแข่งกับเวลา อย่างการก่ออิฐอย่างเดียวเพื่อทำกำแพง จะต้องใช้อิฐจำนวนมาก ขนาดใช้รถเข็นขนมายังจุดที่กำลังก่อสร้าง ยังต้องขนหลายเที่ยว แต่ละเที่ยวต้องขนขึ้นและขนลงจากรถ และยกได้ทีละก้อนสองก้อนด้วย โยนไม่ได้ เดี๋ยวอิฐแตก แต่ขั้นตอนที่เสียเวลามากที่สุดคือ การก่ออิฐ และฉาบปูน เพราะ การก่ออิฐทำได้ทีละก้อน แต่ละก้อนต้องตักปูนมาปาดบนหน้าสัมผัสของอิฐทั้ง 2 ก้อนที่จะนำมาประกบกัน (ยกเว้นคนงานก่อสร้างทั่วไป อาจจะแค่ปาดปูนก่อแล้ววางอิฐเลย) เสร็จแล้วต้องใช้ค้อนยางทุบเพื่อกดอิฐให้แน่น และต้องปาดปูนที่ทะลักออกมา ผู้เขียนเคยก่ออิฐมวลเบาด้วยความไม่ชำนาญ ยังใช้เวลารวมผสมปูนเฉลี่ยต่ออิฐ ถึงก้อนละชั่วโมงเลยทีเดียว นี่ขนาดใช้ปูนที่ไม่ต้องผสมทรายแล้วก็ตาม ยิ่งถ้าต้องผสมปูนที่ต้องผสมหินและทราย จะยิ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก เพราะ จะต้องตักและขน ทั้งหินและทราย ต้องคลุกหินให้เข้ากับทรายและปูน การคลุกหินปูนทรายเข้าด้วยกัน เป็นงานที่ต้องใช้แรงมาก เพราะต้องใช้พลั่วขนาดใหญ่ตักแล้วคลุกไปมา ก้อนหินมีน้ำหนักมาก การคลุกหินจึงไม่ง่ายเหมือนการผัดกับข้าว ยกเว้นมีเครื่องผสมปูนก็จะช่วยผ่อนแรงได้มาก งานฉาบปูนก็เช่นกัน ตักปูนมาได้ครั้งละน้อยๆเท่าขนาดเกรียง ต้องฉาบถึง 2 รอบและต้องทำให้เรียบด้วย ยกเว้นมีเครื่องพ่นปูนฉาบ ก็จะประหยัดเวลาได้ พอเริ่มผสมปูนแล้ว ก็ต้องรีบใช้ให้หมดภายในเวลา 2 ชั่วโมง มิฉะนั้นปูนจะแห้ง พอใช้ปูนก่อจนหมดแล้ว ยังหยุดพักไม่ได้ ต้องล้างถังผสมปูนและเคี้ยงก่อนที่ปูนจะแข็ง ถ้าปล่อยให้ปูนเก่าแห้งแข็งติดตามอุปกรณ์เหล่านี้ จะล้างยาก ถึงแม้ว่าจะแช่น้ำไว้ปูนก็ยังคงแข็งตัวอยู่ดี เพราะ ธรรมชาติของปูนไม่เหมือนข้าวสวยที่แช่น้ำไว้แล้วจะนิ่ม แต่พอทำ 2 คน คนหนึ่งก่ออิฐ อีกคนทำงานส่วนที่เหลือ เช่น ผสมปูน ขนอิฐ ตัดอิฐ ฯลฯ งานก็จะเร็วขึ้นอีกเท่าตัว

งานปูนทุกชนิด เมื่อก่อหรือฉาบเสร็จแล้ว ทิ้งไว้ค้างคืนจะเริ่มแข็ง แต่จะเริ่มรับแรงได้จริงประมาณ 20 วัน (ที่ค้ำยันจึงต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 20 วัน) และจะเริ่มแข็งตัวเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน สาเหตุหลักที่ตึกชอบพังขณะกำลังก่อสร้าง ก็เพราะทำเร็วเกินไป ปูนชั้นล่างยังไม่แห้ง ที่ทำเร็วก็เพราะ ถ้าทำนานๆแล้วไม่คุ้มค่าแรง

เครื่องมืออื่นๆ ที่ต้องมีใช้ในงานสร้างบ้าน คือ ไม้แบบ จะใช้ไม้ที่โดนน้ำแล้วไม่งอ เป็นไม้กระดานกว้างพอที่จะใช้หล่อคานได้ โดยเทียบขนาดจากปลอกคาน

การทำงานบนที่สูงเกินกว่ามือเอื้อมถึง จะมีเครื่องมือ 3 ตัวคือ เก้าอี้ บันได และ นั่งร้าน เก้าอี้ใช้กับงานง่ายๆเฉพาะจุด เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ แต่ถ้าเก้าอี้ยังเอื้อมไม่ถึงก็ต้องเปลี่ยนมาใช้บันได แต่ทั้งเก้าอี้และบันไดมีข้อจำกัดคือ ทำได้เฉพาะจุด ถ้าทำพื้นที่กว้างขึ้น อย่างเช่น ฉาบปูน เปลี่ยนมาใช้นั่งร้าน
ซึ่ง เป็นโครงเหล็กถอดประกอบได้ สามารถต่อให้สูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ส่วนการทาสีหรือปัดฝุ่น สามารถใช้ไม้ต่อด้ามได้

งานปูนก็เหมือนงานช่างอื่นๆ ถ้ามีเวลาทำเอง ค่อยๆทำไป จะทำได้ดีกว่าจ้างช่าง เพราะช่างจะเน้นความเร็ว เราทำอาทิตย์หนึ่ง ช่าง 3 คนทำแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ แต่อาจทำชุ่ยๆ บางทีมีรู ปัญหาคือ งานปูนถ้าทำคนเดียวจะช้า ควรทำอย่างน้อย 2 คน จะช่วยให้ทำเร็วขึ้น คนหนึ่งผสมปูนและเก็บกวาดล้างเครื่องมือ อีกคนหนึ่งฉาบปูนโบกปูน ถ้า 3 คนจะดีที่สุด ถ้าใช้เครื่องผสมปูนก็จะประหยัดเวลาได้ แต่ยังควรมีคนล้างเครื่องผสมปูน ถ้าหาคนมาช่วยไม่ได้ อาจจะจ้างเหมาเป็นครั้งๆ เช่น จ้างมาขุดดินและเทปูนทำฐานแผ่ รอให้ปูนรับแรงได้แล้วจึงค่อยจ้างมาทำเสาใหม่

ถังผสมปูนที่ใช้แล้ว หากทิ้งไว้ให้แห้งโดยไม่ล้าง ปูนจะกลายเป็นคอนกรีตแข็งเคลือบถังไว้ ทำให้ล้างยาก เมื่อผสมปูนครั้งต่อไป เศษคอนกรีตเหล่านั้นจะแตกหลุดร่อนออกมาผสมกับปูนใหม่ การล้างที่ดีที่สุดคือ ล้างทันทีขณะที่ปูนยังไม่แข็ง การล้างถัง ไม่ควรใช้มือ เพราะ อาจจะโดนทรายบาดได้ ควรใช้แปรงพลาสติกขัด

การทำลายปูนเก่า ช่างมักจะใช้วิธีสกัดเล็กน้อย แล้วทุบต่อ ซึ่งการทุบจะทำให้ผนังปูนสะเทือน ถ้าเป็นผนังอิฐมวลเบา จะร้าวได้ง่าย

เหล็ก

หลังคาโรงรถของห้างโกลบอลเฮ้าส์ พังถล่มลงมาหลังจากเจอ
พายุฤดูร้อน แสดงให้เห็นว่า เหล็กกลวงไม่มีวิธียึดกับพื้นที่แข็งแรง
ที่ใช้ทำโครงสร้าง มี 2 ชนิดคือเหล็กเส้นและเหล็กกล่อง หากทำเสาและคาน(ไม่รวมโครงหลังคา) ควรใช้คอนกรีตที่มีเหล็กเส้นเป็นโครงอยู่ข้างใน  ส่วนพวกเหล็กกลวง อย่างเหล็กกล่อง จะนิยมใช้ทำโครงหลังคา แต่ไม่เหมาะจะทำเสา เพราะจะเป็นสนิมได้ง่าย ถึงแม้จะชุบสังกะสีแล้วหล่อปูนทับอีกชั้น แต่ตรงรอยตัดที่ไม่มีสังกะสีเคลือบก็จะเป็นสนิม นานวันไปจะผุทำให้เสาทรุด เหล็กกลวงจะใช้เฉพาะเวลาที่ไม่มีทางเลือก เช่น ต้องการตั้งเสาบนพื้นชั้นบน แต่ไม่มีเสาปูนจากชั้นล่างมารองรับ หรือ ถ้าหล่อเสาปูนขึ้นไปจะมีน้ำหนักมากเกินไป จนอาจทำให้บ้านพังได้ จึงต้องใช้เสาเหล็กกล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือท่อแป๊ป วางบนคาน เพื่อให้มีน้ำหนักเบา แต่เสาเหล็กกลวงจะยันปลายด้านหนึ่งไว้กับพื้น ไม่มีวิธียึดกับพื้นหรือเชื่อมต่อกับเหล็กเดิมให้แข็งแรง มักจะอาศัยเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กที่วางกับพื้นคอนกรีต แล้วใส่นอตฝังลงพื้น จุดอ่อนจะอยู่ตามรอยเชื่อมต่างๆ และรูขันน็อต พอเจอลมแรงๆ อาจจะปลิวล้มพังได้ ผู้เขียนเคยมีบ้านเพื่อนริมทะเล ที่พายุเข้า ทำให้ท่อแป๊ปที่ทำเสาวางยันไว้กับพื้น ล้มพังหมด ถึงแม้ว่าจะเชื่อมยึดไว้แล้วก็ตาม แม้แต่หลังคาลานจอดรถของห้างก็เคยมีข่าวพังถล่มตอนเจอพายุฤดูร้อน พายุสามารถถอนนอตขึ้นมาจากพื้นได้

ข้อเสียของเหล็กคือ สนิม เหล็กที่เปิดโล่งสู่อากาศ จึงต้องมีวิธีป้องกันสนิม วิธีป้องกันที่ใช้ได้ผลดี คือ ทาสีน้ำมันเคลือบไว้ น้ำมันเป็นตัวป้องกันน้ำไม่ให้เจอกับเหล็ก เมื่อไม่มีน้ำ เหล็กจึงไม่ขึ้นสนิม แต่ถ้ามีการขีดข่วนทำให้สีลอก จะมีโอกาสขึ้นสนิมได้

เหล็กกล่องชุบสุงกะสี (galvanized) จะป้องกันสนิมได้ดีกว่าเหล็กธรรมดา เหมาะสำหรับใช้บริเวณริมทะเล แต่จะหาซื้อได้ยาก ร้านทั่วไปจะมีขายเฉพาะท่อแป๊ปน้ำกลมซึ่งเคลือบสังกะสีมาอยู่แล้ว สามารถทำมาทำเสาได้ แต่ถ้าเป็นเหล็กกล่องที่ใช้ทำโครงหลังคา จะมีเหล็กชุบสังกะสีขายเฉพาะตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างใกล้ทะเล และแพงกว่าเหล็กปกติ ถ้าใช้เหล็กธรรมดาที่ไม่ชุบสังกะสีก็ต้องทาสีหนาๆเพื่อกันสนิม ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการทาสีหนาๆ แต่ถ้ามีจุดใดที่ทาสีบาง ก็จะผุกร่อนง่าย เหล็กชุบสังกะสีเดี่ยวๆ ที่ไม่ทาสี ถ้าอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่มีการกัดกร่อนสูง จะมีอายุนานหลายสิบปี แต่ถ้าอยู่ริมทะเลจะมีอายุสั้นลง การทาสีจะยืดอายุได้ ถ้าสีลอกแล้วทาสีใหม่เป็นระยะ จะมีอายุการใช้งานไม่จำกัด (จุดที่ใช้เหล็กชุบจึงต้องมีที่ว่างพอให้คนเข้าไปทำความสะอาดและทาสี)

การทาสี ถ้าเป็นเหล็กกล่องแค่ล้างน้ำมันออกแล้วลงสีรองพื้นสีแดง (red oxide primer) ตามด้วยสีจริงได้เลย ถึงแม้ว่าเหล็กชุบไม่มีปัญหาเรื่องสนิม (ยกเว้นตรงรอยตัดเจาะเชื่อม จะเปิดผิวเหล็กสู่อากาศ จึงต้องทาสีช่วย) แต่จะมีปัญหาเรื่องสีไม่ยึดเกาะ เพราะพื้นผิวลื่นทำให้สียึดเกาะไม่ดี และลอกได้ ทาตอนแรกอาจจะติดดี แต่สีจะลอกภายในเวลา 2-3 ปี เพราะสังกะสีจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสนิม zinc oxide ซึ่งเป็นผงสีขาว ดังที่เราเคยเห็นท่อประปาเหล็กที่ทาสีแล้วลอก เหล็กชุบจึงควรทิ้งไว้ให้ทำปฎิกริยากับอากาศ ประมาณ 2 ปี ค่อยทาสี เพื่อให้สังกะสีแปลงเป็นสนิมจนหมดก่อน แล้วจึงใช้กระดาษทรายขัดเพื่อให้ผิวหยาบขึ้น เพื่อให้ทาสีติดดี หรืออีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องรอและไม่ต้องขัดคือ ใช้น้ำยากันสนิม

น้ำยากันสนิมอย่าง wash primer เป็นคนละชนิดกับสีรองพื้นเหล็ก ใช้เตรียมพื้นผิวก่อนทาสีเหล็กและเหล็กขุบสังกะสี ประกอบด้วยเส้นใยกับกรด phosphoric ที่จะกัดผิวโลหะแล้วยึดเกาะแน่นมากขนาดที่ว่าต้องใช้เครื่องเจียรเพื่อ ขัดออก ปกติ wash primer จะมีน้ำยา 2 ตัวคือ A กับ B นำมาผสมกันแล้วทาได้เลย ไม่ต้องผสมทินเนอร์เพิ่มอีก ยกเว้นบางคนต้องการเหลวมากๆ ต้องใช้ทินเนอร์เฉพาะคือ wash primer thinner ซึ่งผสมแอลกอฮอล์ ถ้าใช้ทินเนอร์ทั่วไปจะไม่เข้ากันและจะไม่แห้ง จากที่ผู้เขียนใช้มา wash primer จะมีสีในตัว เพื่อให้ดูได้ว่า ช่างทาหรือยัง ช่างบางคนไม่รู้วิธีใช้ พยายามทาหลายรอบเพื่อให้สวย แต่ทาแล้วไม่สวยสักที เราจึงจำเป็นต้องสอนวิธีใช้กับช่างด้วยว่า ไม่ได้ทาให้สวย แต่ต้องทาให้ทั่วและหนาพอที่จะกันสนิมได้

สีลอกอาจเกิดจากคราบน้ำมันบนพื้นผิวก่อนทาสี แม้แต่เหล็กชุบสังกะสีอาจมีคราบน้ำมันจากการจุ่มน้ำเย็นหลังชุบ (ซึ่งถ้าถามคนขายจะไม่รู้ ต้องถามโรงงานผลิต) จำเป็นต้องกำจัดคราบน้ำมันออกก่อน โดยใช้แอมโมเนียเช็ด โดยใส่แอมโมเนีย 1-2% ลงในขวดสเปรย์พ่นแล้วเช็ดออก แต่ปัญหาของแอมโมเนียคือ จะฉุนมากและระคายเคืองตาและจมูก สามารถทำอันตรายกับสุขภาพของคนใช้ได้  จึงต้องใช้หน้ากากกันก๊าซพิษ หรือ ทำในที่ลมโกรก  แต่ปกติช่างจะไม่มีหน้ากากกันก๊าซพิษ และทำงานในที่อับลม กรณีนี้อนุโลมให้ใช้น้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอกหรือแม้แต่ทินเนอร์แทนได้ จะสามารถล้างคราบน้ำมันออกได้เหมือนกัน

อย่าทาสีรองพื้นเหล็กหรือสีทาเหล็กบนเหล็กชุบสังกะสีโดยตรง เพราะสีเหล่านี้มีเส้นใย alklyd ซึ่งจะทำปฎิกริยากับสังกะสีแล้วลอกได้เช่นกัน ส่วนตรงรอยเชื่อมจะเป็นเหล็กธรรมดา สามารถใช้ wash primer ทาได้เช่นกัน เพราะกรด phosphoric จะไปทำปฎิกริยากับเหล็กกลายเป็นฟิล์ม iron phosphate ป้องกันสนิมได้ แต่ต้องทาหนาๆ จะเห็นว่า สารเคมีในการเตรียมพื้นผิวเหล็กชุบ นอกจากหายากแล้วยังมีราคาแพง เพราะไม่ค่อยมีใครใช้กัน แถมยังใช้ยากอีกด้วย ทางเลือกที่ใช้กันคือ ทำโครงให้เสร็จ แล้วไม่ต้องทาสี แค่ทารอยเชื่อมด้วยสีกันสนิมพวก red oxide primer ทาสีเงินทับให้กลมกลืนกับสีเหล็ก รอให้สังกะสีทำปฎิกริยากับอากาศ ให้ผิวลอกออกไปให้หมดก่อน แล้วจึงค่อยทาสีจริง เมื่อผิวลอกไปหมดแล้ว น้ำมันที่เคลือบผิวจากการหล่อเย็น ก็จะลอกตามออกไปด้วย


นอกจากเหล็กกล่องชุบสังกะสีแล้ว ยังมีเหล็กกล่องที่ทำจากสังกะสีแท้ๆ ซึ่งจะราคาแพงกว่าเล็กน้อย สังเกตุได้จากตรงรอยตัด เหล็กชุบสังกะสีจะมีผิวเนื้อสังกะสีเป็นสีเงินขุ่น ตัดกับ เนื้อเหล็กสีเงินขาวซึ่งถ้าทิ้งไว้นานๆอาจเป็นสนิม

เหล็กกล่องหนาๆดีกว่าบางๆ เพราะแบบบางเวลาโดนลมแรงๆจะงอหักได้ง่ายกว่า แต่เหล็กกล่องมีข้อเสียคือ ทาสีด้านในไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นเหล็กกล่องสี่เหลี่ยมชุบสังกะสี ซึ่งปกติจะชุบทั้งข้างนอกและข้างใน แต่ถ้าไม่เตรียมพื้นผิวให้ดีก็มีโอกาสที่อายุจะสั้นลง ทางแก้คือ หาแผ่นเหล็กมาเชื่อมปิดหัวท้าย

เหล็กเส้นขายกันเป็นหุน หรือ มม. วัดตามเส้นผ่าศูนย์กลาง โดย 1 หุนเท่ากับ 1/8 นิ้ว กรรไกรตัดเหล็กเส้นที่วางขายในท้องตลาด จะตัดได้มากที่สุดแค่ 4 หุน ถ้าไม่มีกรรไกร ก็ต้องใช้ลูกหมูใส่ใบตัดเหล็ก เหล็กเส้นจะขายทั้งเส้นยาว 10 เมตร ซึ่งขนขึ้นรถลำบาก ต้องตัดก่อน และ ถ้าซื้อน้อยๆ ทางร้านจะไม่มาส่ง (ร้านที่มาส่งก็จะบวกค่าขนส่ง) เหล็กเส้นที่นิยมใช้กันในงานกำแพงคือไม่เกิน 3 หุน หรือน้อยกว่า 10 มม. เพราะเป็นเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ดัดให้งอและตัดขาดได้ง่าย ถ้าต้องการความแข็งแรงก็ใส่เข้าไปหลายๆเส้นหน่อย แต่พอใหญ่ขึ้นเป็น 4 หุน หรือ 10 มม.ขึ้นไป ร้านส่วนมากจะเริ่มขายเป็นเหล็กข้ออ้อย งอไม่ได้ ใช้กรรไกรตัดยาก ที่ร้านอาจมีกรรไกรตัดแค่ 3 หุน เราต้องพกกรรไกรหรือลูกหมูไปตัด ช่างก่อสร้างบ้านนิยมใช้เหล็กข้ออ้อย 4 หุน (เท่ากับ 12 มม.) ทำเสาและคานรวมทั้งฐาน เพราะมีผิวเป็นเกลียวเหมือนนอต จึงยึดเกาะกับปูนดีกว่าเหล็กเส้นผิวเรียบซึ่งลื่นไถลง่ายกว่า ส่วนเรื่องการรับแรงไม่ต้องนำมาคิด เพราะเหล็กเส้นหนึ่งสามารถรับแรงดึงได้ถึง 2.4 ตันต่อตร.ซม. (ประมาณ 4 หุน)

ปูนซิเมนต์ ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อด้อย เช่นเดียวกับวัสดุอื่น ข้อดีของปูนคือรับแรงอัดได้ดี แต่รับแรงดึงไม่ได้ ถ้าใช้คอนกรีตปูพื้นที่ดินอัดแน่นเสมอกันอย่างเช่น ฐานราก ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าใช้ทำกำแพงหรือพื้นชั้นบน เวลาเจอแรงกดเป็นจุด จะทำให้พื้นผิวเริ่มงอ แล้วเกิดแรงดึงในแนวตั้งฉาก เหมือนเวลานั่งบนเปล มีโอกาสที่คอนกรีตจะแตกและพังลงมา ลองนึกถึงกระเบื้องมุงหลังคา ถ้าขึ้นไปเหยียบตรงกลางก็จะแตก ด้วยเหตุนี้ การสร้างบ้านจึงนิยมใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเสริมแรงดึง คือ ใช้เหล็กอะไรก็ได้ ทำเป็นโครง แล้วก่อปูนทับ ถึงแม้ปูนจะแตก ก็ยังมีโครงเหล็กยึดอยู่เป็นตาข่าย ช่วยไม่ให้พังลงมา แต่จะไม่ใช้เหล็กอย่างเดียวทำโครง เมื่อนำเหล็กเส้นมาใส่ในปูน จึงนำข้อดีของทั้ง 2 วัสดุมาผสมกันเพื่อกลบข้อเสียของแต่ละวัสดุ คือ เหล็กรับแรงดึงได้ดี แต่โก่งงอเสียรูปได้ง่าย ส่วนปูนจะไม่งอ ถ้าปูนโดนโก่งจะหักเลย เหล็กเส้นภายในจะช่วยรับแรงดึง ทำให้ปูนโดนโก่งแล้วไม่หัก หรือหักแล้วไม่หลุดออกจากกัน เหล็กเส้นเมื่อฝังอยู่ในปูนลึกพอ คืออย่างต่ำ 1 นิ้ว จะไม่ขึ้นสนิม เพราะไม่โดนอากาศและความชื้น ยกเว้นจะอยู่ริมทะเลจะต้องฝังลึกกว่านั้น สังเกตุได้จากเสาปูนตามบ้านริมทะเล มักจะแตกหลังจากใช้ไป 20-30 ปี เพราะสนิมขึ้นที่เหล็กเส้นข้างใน ทำให้เหล็กเส้นบวม แล้วดันให้ปูนแตก ผู้เขียนเคยทำลายกำแพงปูนในบ้านติดชายหาดที่ใช้มาแล้ว 10 ปี พบว่าเหล็กเส้นที่ฝังอยู่ลึกยังคงอยู่สภาพเหมือนใหม่ ส่วนเหล็กเส้นที่ฝังอยู่ตื้นจะขึ้นสนิม ถ้าตื้นมากก็จะดันให้ผนังปูนแตกภายในเวลาไม่กี่ปี เช่นเดียวกับเหล็กเส้นที่เก็บอยู่ในห้องปิดมิดชิดจะขึ้นสนิมหมด

คอนกรีตที่ไม่มีเหล็กเส้นเป็นโครง สามารถที่จะพังลงมาทำอันตรายได้ตลอดเวลา มีหลายสาเหตุที่ทำให้คอนกรีตพังเช่น ดินทรุด (พื้นที่ทำเกษตรกรรม จะสูบน้ำใต้ดินขึ้นมา ทำให้ดินทรุดได้) แต่ถ้ามีเหล็กเป็นโครง ถึงแม้คอนกรีตจะแตกร้าว แต่เหล็กจะยึดรั้งไม่ให้พังลงมา ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างคอนกรีต จึงควรใส่เหล็กเส้นทุกจุด ใส่ตามความยาวของแนวกำแพงด้วยจะดีมาก แล้วเกี่ยวเหล็กเส้นตามแนวกำแพง เข้ากับเหล็กเส้นที่่เสา จะช่วยป้องกันกำแพงแยกออกจากเสาแล้วล้มลงมา

ถ้าต้องการต่อเติมอาคาร ขั้นแรกต้องใช้สว่านสกัดหัวเสาชั้นบนสุด จนเห็นเหล็กเส้นของเดิม แล้วจึงนำเหล็กใหม่มาผูกเพื่อทำโครงต่อขึ้นไป ความยาวของส่วนที่หล็กมาทาบกัน คือให้เหลื่อมกัน 40D หรือ 40 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กเส้น แต่บางทีผู้รับเหมาคนเก่าโกงเหล็ก สกัดมาแล้วเจอเหล็กจำนวนน้อยเกินไป หรือเหล็กเส้นเล็กเกินไปคือไม่ถึง 4 หุน บางทีก็ไม่มีเสาเลย กรณีเหล่านี้ จะทำเสาคอนกรีตไม่ได้ ต้องทำลายแนวเสาเดิมทิ้ง โดยสกัดต่อลงไปจนเจอเหล็กเส้น 4 หุน ซึ่งปกติแล้วช่างจะปล่อยเหล็กยื่นขึ้นมาจากคานระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีก็เจาะลงไปจนถึงคานด้านล่าง แล้วจึงเชื่อมเหล็กเส้นจากคานขึ้นมาแล้วหล่อเสา

อาการที่ไม่รู้ขนาดเหล็กเส้น ต้องใช้เครื่องสแกนผนัง แบบที่สามารถวัดขนาดเหล็กเส้นได้ แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือวัด ทางเลือกสุดท้ายคือ สกัดปูนออกมาจนเห็นเหล็กเส้น

การผูกเหล็กเส้นเพื่อทำเสาหรือคาน ให้ซื้อปลอกจากร้านวัสดุก่อสร้าง ปลอกจะเป็นเหล็กเส้นทรงสี่เหลี่ยม มีให้เลือกทั้งปลอกเสาและปลอกคาน ปลอกคานจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลอกเสาจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แค่นำลวดเส้นเล็กๆมามัดปลอกกับเหล็กเส้นเข้าด้วยกันก็เรียบร้อย ถ้าขี้เกียจใช้มือมัดก็มีเครื่องมือสำหรับมัดลวดขาย แต่ตามปกติแล้วลวดจะขายเป็นมัด ต้องนำมาตัดแบ่งก่อนนำมาผูก จะประหยัดเวลามากกว่าการผูกไปตัดไป ส่วนการต่อเหล็ก นิยมใช้เชื่อม

เหล็กเส้นที่ฝังในปูน จะทำปฎิกริยากับด่างในปูนขณะยังเปียก กลายเป็นฟิล์มเคลือบไว้ ช่วยให้เหล็กไม่เป็นสนิม แต่บริเวณใกล้ทะเล จะมีคลอไรด์ไอออน ซึ่งสามารถทะลุทะลวงผ่านปูนเข้าไปได้ หากเหล็กฝังอยู่ในคอนกรีตตื้นเกินไป (วสท.กำหนดไว้ที่ 5 ซม.) คลอไรด์จะไปทำลายฟิล์ม ทำให้เหล็กเป็นสนิมได้ง่าย เมื่อเหล็กขึ้นสนิมแล้ว จะขยายตัวดันคอนกรีตแตก ถ้าอยู่ตื้นมาก็แตกเร็ว ถ้าอยู่ลึกหน่อย อย่างเช่นเหล็กที่ทำเสาสำเร็จรุป เสาก็อาจจะแตกภายใน 20-30 ปี ถ้าแก้ด้วยการฝังเหล็กเส้นอยู่ลึกมาก จะทำให้คอนกรีตตรงผิวที่ไม่มีเหล็กยึด มีโอกาสแตกร้าวได้ง่าย ทางออกที่จะป้องกันเหล็กเส้นที่อยู่ตื้นเป็นสนิมคือ เปลี่ยนมาใช้เหล็กเส้นชุบกัลวาไนซ์ ส่วนการเคลือบผิวเหล็กเส้นด้วยอีพ็อกซี่จะช่วยได้บ้าง แต่คลอไรด์ไอออนยังคงทะลุผ่านอีพ็อกซี่ได้ ทำให้เหล็กเส้นบางส่วนเป็นสนิม คลอไรด์สามารถที่จะสะสมอยู่ในปูนได้ด้วย

หลังคา
ปัญหาใหญ่ของบ้านในเมืองไทยคือ แสงแดด หลังคาบ้านที่ออกแบบไม่ดี จะทำให้บ้านร้อนมาก อากาศร้อนๆทำให้สมองทึบ คิดงานไม่ออก ทำให้ชีวิตการงานไม่ก้าวหน้า ยิ่งอยู่ยิ่งจน

หลังคา 2 ชั้น นอกจากจะระบายความร้อนได้ดีกว่าแล้ว ยังช่วยให้ซ่อมหลังคาง่ายขึ้นด้วย

การมุงหลังคาในอดีต จะใช้ไม้ทำโครง ปัจจุบันนิยมใช้เหล็ก เพราะเหล็กรับแรงดึงได้ดี โดยนำเหล็กกล่อง ขนาดประมาณ 4"x2" มาทำคาน วางพาดบนเสา 2 ต้น ทำ 2 ฝั่งๆละเส้น เวลาวางให้ด้านยาว 4" ตั้งฉากกับพื้น จะป้องกันการโก่งงอได้ดีกว่า เลือกหนาๆอย่างต่ำ 2.3 มม. สามารถใช้กับหลังคาเบาๆ อย่างเมทัลชีทได้สบาย รับลมพายุได้ หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ก็พอได้ แต่จะหนักกว่าเมทัลชีทเท่าตัว จึงควรเผื่อเหล็กให้หนาขึ้นเป็นอย่างน้อย 3.0 มม. แล้วจึงนำเหล็กรูปตัว C มาวางพาดบนคานเรียงๆกันไป เรียกว่า จันทัน อย่าวางชิดกันเกินไป จะทำให้คานแอ่น เพราะรับน้ำหนักมากเกินไป หลังจากนั้นจึงวางแปที่ช่างนิยมเรียกกันว่า แปซีแพค มาวางพาดบนจันทัน เพื่อเพิ่มความถี่ แล้วจะสามารถมุงหลังคาได้ เหล็กจันทันควรจะบางที่สุด ไม่ควรใช้เหล็กรูปตัว H จะเจาะยึดลำบาก ส่วนเหล็กรูปตัว C จะเจาะยึดง่ายเหมาะใช้ทำจันทัน แต่ทาสีข้างในยาก ถ้ามีความพยายามในการเจาะยึด ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้เหล็กกล่องแทนได้ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว การตรวจสอบว่าเหล็กรับน้ำหนักหลังคาได้หรือไม่ ดูง่ายๆว่า ไม่แอ่นถือว่าใช่ได้ เพราะเหล็กต้องงอมากพอสมควรก่อนจะขาดออกจากกัน โดยก่อนจะแอ่น จุดที่รับน้ำหนักจะเริ่มบุ๋มหรือเบี้ยวเสียรูปลงไปก่อน หรือทดสอบก่อนติดตั้ง โดยหาพื้นที่ลองวางโครงและหลังคาเพื่อดูการโก่งงอเสียรูป

พวกเหล็กกล่อง แป หรือท่อแป๊ป ที่ขายกันในท้องตลาดจะยาว 6 เมตร ขนาดบ้านจึงควรเริ่มต้นที่กว้างยาวด้านละ 3-6 เมตร (ถ้าบ้านแคบ จะใช้เหล็กส่วนที่เหลือทำกันสาดได้เลย แต่ถ้าบ้านกว้าง จะต้องใช้เหล็กเส้นใหม่มาทำกันสาดเพิ่ม) เพื่อจะได้ใช้เหล็กกล่องและแปรโดยไม่ต้องตัดหรือต่อทำหลังคาแบบหมาแหงน หรือ สามเหลี่ยมแบบจั่วก็ได้ (ข้อเสียของเพิงหมาแหงนคือ ฝนจะสาดเข้าด้านที่แหงน จึงต้องทำกันสาดด้านนั้นด้วย ส่วนหลังคาแบบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว จำเป็นต้องทำก็ต่อเมื่อ บ้านมีความกว้างมาก หากทำเพิงหมาแหงนแล้ว ฝั่งหนึ่งจะสูงมาก ถ้าแหงนน้อยเกินไป น้ำจะไม่ไหล) แล้วทำกันสาดด้านละ 1.5 เมตร (1 เมตรยังไม่พอ ยังมีละอองฝนเข้ามาในบ้านได้) จะไม่ทำกันสาดก็ต่อเมื่อกำแพงด้านนั้นไม่มีหน้าต่าง นั่นคือพื้นที่ปลูกบ้านควรจะมีอย่างน้อยสัก 9 ตรว. หรือ 6x6 ตรม. (1 วา เท่ากับ 2 เมตร) เพื่อที่จะไม่ยื่นกันสาดล้ำเข้าไปข้างบ้าน ถ้าแคบกว่านี้ต้องตัดเหล็ก แต่ถ้ากว้างหรือยาวเกิน 6 เมตร จะต้องต่อเหล็ก ซึ่งวิธีต่อเหล็กที่ถูกต้อง จะต้องต่อกันตรงจุดที่มีเสาหรือคานมารองรับ แต่ช่างส่วนใหญ่จะชุ่ย จึงนำเหล็กชิ้นแรกที่ความยาวเต็ม 6 เมตร มาต่อกับเหล็กอีกชิ้นที่ตัดมาให้ได้ความยาวเท่ากับที่เหลือ ทำให้รอยเชื่อมลอยอยู่โดยไม่มีอะไรมาค้ำยัน เมื่อเวลาผ่านไป รอยเชื่อมเริ่มผุ กลายเป็นจุดอ่อนของบ้าน

วัสดุที่ใช้มุงหลังคา นิยมใช้กระเบื้อง เพราะ ทนแดด ทนฝน ได้ดีที่สุด ต่างจากพวกพลาสติก เหล็ก หรือไม้ ที่ผุกร่อนได้ง่าย ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องเซรามิก ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีกว่ากระเบื้องจากปูนซีเมนต์ คือ ป้องกันและระบายความร้อนที่ดีกว่า แต่ถ้าใช้กระเบื้องจากปูนซีเมนต์ ควรใช้ผิวมันและเลือกสีอ่อน จะกันความร้อนได้ดีกว่า

กระเบื้องมุงหลังคา จะขายเป็นแผ่นเล็กๆ นำมาปูซ้อนกัน เพราะถ้าเป็นแผ่นใหญ่ ซื้อแล้วขนย้ายลำบาก และเวลาเป็นรู เช่น มีเศษหินหล่นใส่จนทะลุ จะได้เปลี่ยนแค่แผ่นเล็กๆแผ่นเดียว กระเบื้องมุงหลังคา จะไม่หนามาก เพราะจะหนัก แต่ไม่บางมากจนขึ้นเหยียบแล้วแตกง่ายเกินไป เวลาขึ้นไปซ่อมหลังคา

การยึดหลังคากระเบื้องกับแป ถ้าเป็นแปที่ทำจากไม้ จะใช้น็อตเกลียวปล่อย เจาะทะลุกระเบื้องทะลุไม้ น๊อตจึงต้องยาวพอสมควร แต่ถ้าเป็นพวกแปซีแพค จะใช้น็อตสั้นลง แล้วใช้ขายึดน็อตด้านล่าง

หลังคากระเบื้องที่รั่วเป็นรูเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ก็ได้ แค่ใช้ยางมะตอยกันซึมชุบผ้าปะ จะทนทานเหมือนกัน

กระเบื้องที่เป็นลอนลูกคลื่น จะมีร่องให้สัตว์ต่างๆเช่น นกเข้ามาในบ้าน หรือเป็นทางวิ่งของหนู วิธีป้องกันคือใช้ แผ่นปิดเชิงชาย หรือที่เรียกกันว่า แผ่นกันนก

ลูกหมุนบนหลังคาแบบกลมๆ ทำจากพวกอลูมิเนียม อาศัยลมธรรมชาติ ดูดอากาศร้อนออกจากบ้าน แต่ปัญหาที่เจอคือ มันไม่หมุน เพราะข้างบ้านบังลมและถ้าฝนแรงๆจะเข้าได้ แถมแมลงเข้าด้วย มันจึงไม่เหมาะกับบ้าน แถมยังไม่สวย จะใช้กับหลังคาอุตสาหกรรมใหญ่ ติดหลายๆตัวไม่ต้องติดพัดลมดูดอากาศ แต่บ้านใช้พัดลมดูดอากาศดีกว่า แล้วใช้แผงแสงอาทิตย์แผงนิดเดียว

ฉนวนกันความร้อน มักจะโก่งงอหรือร่อน หลังจากใช้งานไปเพียงไม่กี่ปี ถ้าหลังคามีปัญหารั่วหรือขึ้นสนิม จะเปลี่ยนหลังคายากด้วย

วิธีสร้างบ้านด้วยอิฐและปูน
อิฐ หิน ปูน ทราย เป็นวัสดุที่ดีที่สุดสำหรับสร้างบ้าน เพราะ ทนแดด ทนน้ำ ทนไอทะเล ทนมือทนเท้า ทำให้ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อย แถมยังราคาถูกกว่าวัสดุอื่นๆ ส่วนวัสดุอื่นๆ อย่างพลาสติกจะทนน้ำ แต่ไม่ทนแดด ส่วนไม้และเหล็ก จะไม่ทนน้ำ ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เปลี่ยนแต่ละครั้งเสียทั้งเงินและเวลา

การสร้างบ้านด้วยปูน ถ้าทำเองได้จะดีมาก ค่อยๆทำไป เพราะ ส่วนของเสาและคาน ที่ต้องรับแรง เมื่อเทปูนแล้ว จะต้องรอให้แห้ง ถ้าจ้างผู้รับเหมามาทำ เขาจะเร่งงาน บางทีเทปูนคานดินแล้ว รอแค่ 48 ชม.ก็เริ่มก่ออิฐเลย การก่ออิฐก็เช่นกัน ต้องค่อยๆก่อไปทีละน้อย แล้วทิ้งไว้ให้ปูนก่อด้านล่างแข็งตัวก่อน แต่แน่นอนว่าการทำคนเดียวย่อมไม่ไหว เราจึงต้องหาคนมาช่วย โดยเวลาทำครั้งหนึ่งก็เหมาช่างมาทำทีหนึ่ง ช่างบางคนคิดค่าจ้างรายวัน จะจ้างเขามาทำอะไรก็ได้

ปริมาณวัสดุก่อสร้างที่ต้องใช้ ปกติปูนโครงสร้าง 1 ถุง จะหล่อเสาขนาด 6 นิ้วได้ 1 ต้น (บ้านชั้นเดียว) ถ้าทำฐานแผ่จะได้ 1 ฐาน ส่วนทรายบางร้านจะขายเป็นกระสอบ บางร้านขายเป็นคิว ทราย 1 คิว (1 ลบ.ม. หนักประมาณ 1.5 ตัน) ถ้าบ้านชั้นเดียว จะหล่อเสาได้ประมาณ 6 ต้น (เสาขนาด 6 นิ้ว) หรือ ทำฐานแผ่ได้ 3-4 ฐาน ส่วนปูนฉาบจะมีสูตรคำนวณตามพื้นที่ อาจมีเขียนไว้ข้างถุง ถามคนขายหรือผู้ผลิตหรือช่างที่มีประสบการณ์ก็จะรู้ โดยทั่วไปใช้ปูนฉาบสำเร็จถุงละ 50 กก.ฉาบบางสุดคือหนา 0.5 ซม.จะได้พื้นที่ประมาณ 5 ตร.ม. ส่วนตอนก่ออิฐจะขึ้นกับชนิดของอิฐ อิฐมอญจะใช้ปูนเยอะกว่าอิฐบล็อก เพราะก้อนเล็กกว่า โดยทั่วไปถ้าเป็นปูนก่อสำเร็จ ก่อหนา 1 ซม. อิฐบล็อกจะได้พื้นที่กำแพง 2.5 ตร.ม. อิฐมอญจะได้ 1.5 ตร.ม. ถ้านำปูนมาผสมทรายด้วยตนเองจะได้พื้นที่มากขึ้นตามสัดส่วนทรายที่ผสมเข้าไป ถ้าผสมทราย 3 เท่าจะได้พื้นที่เพิ่มขึ้นไม่ถึง 3 เท่าเพราะปูนละเอียดกว่าทราย จึงไปแทรกตามช่องว่างของทราย ทำให้ได้พื้นที่จริงลดลงไปเล็กน้อยเหลือประมาณ 3 ใน 4

การสร้างบ้านด้วยอิฐและปูน จะเริ่มจากขุดหลุมทำฐานแผ่ โดยดูสภาพดินว่าต้องตอกเสาเข็มหรือไม่ บ้านไม่เกิน 2 ชั้น สร้างบนดินแข็งหรือทราย ไม่จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม เพราะ บ้านมีน้ำหนักไม่กี่ตัน แค่ทำฐานแผ่ (ฐานของเสา) และ ทำคานดิน (คานที่เชื่อมระหว่างฐานเสา) ก็ใช้ได้ บ้านที่ไม่ทำคานดิน เวลาด้านหนึ่งทรุด จะแยกออกจากกัน แต่ถ้ามีคานดินก็จะคงสภาพกล่องอยู่ได้ ถ้าสร้างบ้านบนดินที่อ่อนนุ่ม จำเป็นต้องตอกเสาเข็ม เพื่อป้องกันบ้านทรุด โดยตอกเสาเข็มลงไปจนกระทั่งตอกไม่ค่อยลง แสดงว่า เสาเข็มวางอยู่บนหินแข็งหรือชั้นทรายแน่น (เวลาตอกจริงจะลงน้อยมาก คนตอกจะวัดระยะที่ลงไป แล้วนำมาคำนวณเทียบกับน้ำหนักบ้าน ว่าควรหยุดตอกได้หรือยัง) เสร็จแล้วจึงทำฐานแผ่วางบนเสาเข็ม แค่นี้บ้านก็จะไม่ทรุด เพราะถ้าบ้านทรุด จะดึงเสาลงมา ทำให้เกิดรอยร้าวตามกำแพง การตอกเสาเข็ม ควรคุยกับช่างก่อสร้างที่อยู่ในละแวกนั้นหรือแม้แต่ผู้รับตอกเสาเข็ม หรือแมคโครขุดดินแถวนั้น พวกเขาจะรู้สภาพดินแถวนั้นดี ว่าจำเป็นต้องตอกเสาเข็มหรือไม่ และสามารถตอกลงไปได้ลึกเท่าไหร่ เพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์จากการตอกเสาเข็มหรือใช้แมคโครขุดดินในละแวก นั้น นอกจากนี้ยังสามารถถามจากหน่วยงานโยธาในเขตนั้นได้ด้วย
 
ขนาดและจำนวนของฐานแผ่ จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักบ้าน และ สภาพดินตรงจุดนั้น บ้านขนาดเล็ก (4x4ม.) จะมีน้ำหนักชั้นละ 5-6 ตัน (ทั้งนี้ควรคำนวณจากอิฐและปูนที่ใช้อีกครั้ง) ในขณะที่ พรบ.ควบคุมอาคารกำหนดให้ดินอ่อนอย่างในกรุงเทพ รับกำลังได้  2 ตัน/ตร.ม. และดินแข็งรับน้ำหนักได้ 10 ตัน/ตร.ม. (ทั้งนี้ควรจะมีการทดสอบดินก่อน) ซึ่งหมายถึง ดินอ่อนควรตอกเสาเข็ม เพราะ ต้องคิดเผื่อน้ำหนักไว้อีกเท่าตัว ซึ่งทางวิศวกรรมเรียกว่า safety factor จะมีค่าอยู่ที่ 2.5 เท่า ถ้าเผื่อไว้มากกว่านี้ยิ่งดี แต่จะสิ้นเปลืองค่าก่อสร้างมากขึ้น

การทำฐานแผ่ จะขุดดินให้กว้างและลึกพอที่จะรับน้ำหนักของตัวบ้าน ถ้าบ้านที่มีน้ำหนักมาก ก็ขุดหลายๆหลุม ทำหลายๆเสา ยิ่งเสาเยอะยิ่งดี หลุมที่ขุดแล้ว จะเทปูนที่โครงเป็นตะแกรงเหล็กอยู่ที่พื้นเพื่อรับแรงกดป้องกันปูนแตก เว้นไปอีก 20 วันเพื่อรอให้ปูนแห้งสามารถรับแรงได้ ช่วงระหว่างรอ ควรหาผ้าพลาสติกคลุมไว้เพื่อป้องกันฝุ่นลงไป งานโครงสร้างอื่นก็เหมือนกัน ทั้งเสาและคาน ควรทิ้งไว้ให้ปูนแห้ง 20 วัน ด้วยเหตุนี้ เวลาที่เราเห็นช่างปูนทำๆหยุดๆนั้น ไม่ใช่เพราะเขาอู้งาน แต่เพราะเขาต้องรอให้ปูนรับแรงได้ แต่ผู้รับเหมามักจะไม่รอนานขนาดนั้น เพราะจะเจ๊งพอดี พวกเขาจะรอกันแค่ 3-4 วันเท่านั้น

การเทปูนฐานแผ่ คานดิน และพื้น ควรทำพร้อมกับ เพื่อให้ปูนเป็นเนื้อเดียวกัน จะแข็งแรงที่สุด แต่การทำเช่นนี้ต้องผูกเหล็กจำนวนมาก ถ้าช่างไม่พอ จะทำไม่ทัน เหล็กจะขึ้นสนิมเสียก่อน กรณีนี้แก้ไขด้วยการทำทีละส่วน เช่น เทปูนที่ฐานแผ่ จนถึงระดับที่จะเริ่มเทพื้น แล้วค่อยมาเทส่วนที่เหลือพร้อมกับเทพื้น หลักสำคัญคือ รอยต่อของปูนจะเป็นจุดอ่อน เพราะปูนที่เทต่างเวลากัน จะไม่เป็นเนื้อเดียวกันสนิทเหมือนปูนที่เทครั้งเดียว

การสร้างบ้านอย่างง่าย คือ ใช้เสาสำเร็จรูป เทปูนลงไปในหลุมฐานแผ่ระดับหนึ่ง รอให้ปูนแห้ง แล้วจึงวางเสาสำเร็จรูปลงไป เสาสำเร็จรูปจะมีฐานบานออก สามารถวางได้ แต่ต้องหาไม้หรือเหล็กมาค้ำยันกันล้ม วัดระดับน้ำให้ตรง เสร็จแล้วจึงเทปูนกลบฐานเสา

เสาสำเร็จรูป มีหลายแบบ

เสาสำเร็จรูปมีหลายขนาดและความยาว และยังแบ่งเป็นแบบมีบ่า และ ไม่มีบ่าแต่มีเหล็กโผล่ แบบมีบ่าใช้สำหรับวางคานเหล็ก ซึ่งมี 2 แบบคือ แบบบ่าเดี่ยว และแบบบ่าคู่ (สองบ่า) แบบ่าเดียวจะบากฝั่งหนึ่งเป็นร่องวางคาน ส่วนแบบบ่าคู่ จะผ่าร่องวางคานตรงกลาง ส่วนแบบมีเหล็กโผล่ จะใช้สำหรับนำเหล็กเส้นมาเชื่อมเพื่อทำเสาต่อขึ้นไป

การสร้างบ้านให้แข็งแรง ควรหล่อเสาเอง เพราะ ข้อเสียของเสาสำเร็จรูปคือ รอยต่อระหว่างกำแพงกับเสา จะไม่แข็งแรง เพราะไม่มีเหล็กยึดเสากับกำแพง หากเกิดแผ่นดินไหว กำแพงจะหลุดออกจากเสาได้ง่าย บางทีอยู่เฉยๆก็หลุดได้ การหล่อเสาควรทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย หลังจากทำฐานแผ่และคานดินเสร็จแล้ว ยังไม่ควรหล่อเสา เพราะ ถ้าหล่อเสาก่อน จะไม่มีเหล็กเส้นเชื่อมระหว่างเสาและกำแพง วิธีที่ถูกต้อง จึงต้องก่อกำแพงก่อน โดยตั้งเสาเหล็กบนฐานแผ่ เพื่อใช้ขึงเอ็้นเป็นแนวก่อกำแพง ใช้ท่อแป๊ปหรือเหล็กกล่องวางเป็นเสาชั่วคราว ใช้้ระดับน้ำทาบเสา วัดให้ตั้งฉากกับพื้นโลก แล้วเริ่มก่อกำแพง โดยใส่เหล็กเส้นตามแนวก่ออิฐที่ขนานไปกับพื้น ให้เหล็กเส้นยื่นออกมาจากกำแพงเพื่อนำไปเกี่ยวกับเสาที่จะหล่อ เมื่อปูนก่อกำแพงแห้งแล้ว จึงเริ่มหล่อเสาโดยใช้แนวกำแพงเป็นกรอบ ช่วงระหว่างหล่อกำแพงจนถึงเริ่มหล่อเสา จะใช้เวลาหลายวัน หากกลัวว่าเหล็กเส้นที่ยื่นขึ้นมาจากฐานแผ่ จะขึ้นสนิม ให้หาฟิล์มหด แบบหลอดดูดน้ำ แต่ยาวกว่ามาก นำมาสวมทับเหล็กเส้นไว้ แล้วเป่าด้วยความร้อนตรงปลายทั้งสองด้าน เพื่อไม่ให้ความชื้นเข้าไปทำให้เหล็กเส้นขึ้นสนิม ถ้าหาฟิล์มหดเป็นท่อไม่ได้ อาจจะใช้ฟิล์มห่ออาหารพันแทน


เวลาเกิดแผ่นดินไหว จุดที่จะพังคือ รอยต่อที่ไม่ใส่เหล็ก เพราะลำพังอิฐและปูน เปราะมาก

บ้านควรมีเสาอย่างน้อย 6 ต้น แถวละ 3 ต้น 2 แถว เผื่อเสาต้นใดต้นหนึ่งหัก บ้านจะได้ไม่พังลงมา แน่นอนว่ายิ่งเสามากยิ่งดี แต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากขึ้น ถ้าขุดหลุมทำฐานแผ่ก็มีค่าใช้จ่ายแต่ละหลุม ยิ่งถ้าตอกเสาเข็มด้วยจะยิ่งแพงมาก จุดที่สามารถทำเสาเพิ่มได้นอกจากรอบบ้านคือ แนวกำแพงกั้นห้อง

คานดิน เป็นคานที่วางอยู่บนดิน เวลาดินทรุด จะยังมีคานรับน้ำหนักอยู่ ช่วยให้บ้านไม่ทรุด การทำคานดินตามปกติจะขุดดินทำคู่ไปกับฐานแผ่ โดยขุดดินให้เป็นร่อง นำไม้แบบมาวางเป็นแนว ใส่เหล็กเส้นเป็นโครงแล้วจึงเทปูน เมื่อได้คานดินรอบบ้านแล้ว ก็จะได้กรอบสำหรับเทพื้น

การสร้างเพดานชั้นบนที่เป็นปูน ให้ใช้ไม้กระดานทำแบบหล่อคานเชื่อมระหว่างเสา ใช้ไม้กระดานอีกแผ่นรองพื้นคานเพื่อเทปูน แล้วค้ำไว้ด้วยไม้กระดานอีกแผ่นที่ยันไว้กับพื้น การทำพื้นคอนกรีตชั้น 2 ก็ทำแบบเดียวกับหล่อคาน เพียงแต่ต้องใช้ไม้จำนวนมากกว่ามารองพื้น ใช้แผ่นพื้นปูนสำเร็จรูปจะสะดวกขึ้นมาก

หากจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน เราต้องเก็บแบบไว้ เผื่อในอนาคตต้องการต่อเดิม อย่างน้อยที่สุด จำเป็นต้องรู้ว่าเขาใช้เหล็กเส้นขนาดเท่าไหร่ โดยเฉพาะในส่วนของคาน เผื่อวันหลังต้องการต่อเติมชั้นบน จะได้คำนวณได้ว่าชั้นล่างรับน้ำหนักไหว ไม่พังลงมา เวลาอาคารพังแล้ว ไม่มีสัญญาณบอกกล่าว ขนาดตึกหลายชั้นยังลงไปกองกับพื้นในเวลาไม่กี่วินาที จึงไม่แปลกที่เวลาตึกถล่ม คนจะติดอยู่ข้างใน

ทาสี
สีทาบ้าน มี 2 แบบตามประเภทของผนังคือ ใช้กับปูนใหม่ หรือ ปูนเก่า และยังแยกไปอีกเป็นสีทาภายนอกและภายใน บางรุ่นใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน สีที่ใช้ทาผนังปูนใหม่ จะใช้สูตรน้ำพวก acrylic นิยมใช้เป็นถังพลาสติก ส่วนสูตรน้ำมันจะใช้ทาปูนเก่าหรือปูนใหม่ก็ได้ นิยมใช้เป็นถังเหล็ก ส่วนพวกเหล็กหรือไม้จะใช้สีน้ำมัน ปัจจุบันสีรุ่นใหม่ทาได้ทั้งปูนเก่าและปูนใหม่ แถมยังไม่ต้องรอ 1 เดือนให้ปูนแห้งด้วย แค่รอปูนฉาบแห้งหมาดๆสัก 2 วันก็ทาได้เลย สีราคาแพงจะต่างจากสีราคาถูกตรงที่ สารเติมแต่ง เช่น สารกันรา และติดผนังได้นานกว่า เรียกสีพวกนี้ว่า สีพรีเมียม อ่านดูข้างถังจะมีรายละเอียดบอกว่า ต้องรอปูนแห้งกี่วันจึงจะทาได้ และ ใช้กับปูนเก่าหรือปูนใหม่ และมีรับประกันว่าติดผนังได้นานกี่ปี ส่วนสีราคาถูก มักจะไม่มีรายละเอียดเหล่านี้ แต่จากที่ผู้เขียนใช้มา ถึงแม้จะเป็นสีพรีเมียมที่ราคาแพงที่สุด และทาตามวิธีที่บริษัทสีแนะนำมา แต่สีก็ยังลอกในเวลาเพียง 5 ปี แต่การใช้สีที่ดีที่สุด ก็ยังคงช่วยให้เราไม่ต้องทาสีบ่อยเกินไป

กำแพงคอนกรีตที่ฉาบเสร็จใหม่ๆ หากต้องการทาสี ควรทิ้งไว้ให้แห้งสนิท 6 เดือน หรืออย่างน้อย 1 เดือน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้รับเหมามักจะไม่รอนานขนาดนั้น เพราะจะเจ๊งก่อน จึงรอกันแค่ประมาณอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ถ้าแดดแรงก็รอแค่ 3-4 วัน แล้วให้บริษัทสีนำเครื่องมาวัดความชื้น เพราะ ถ้าปูนไม่แห้งสนิท แล้วฝืนทาสีไป สีจะลอก ระยะเวลาในการแห้งนี้จะขึ้นอยู่กับว่าตอนผสมปูนใส่น้ำเยอะหรือไม่

วิธีง่ายๆที่จะสังเกตุว่คอนกรีตแห้งหรือยัง คือ ดูที่สี คอนกรีตที่น้ำยังระเหยไม่หมด สีจะเข้ม แต่ถ้าตรงไหนที่น้ำระเหยหมดแล้วสีจะจางลง แต่วิธีนี้อาจเห็นไม่ค่อยชัด เพราะผู้เขียนเคยฉาบปูนทิ้งไว้ร่วม 6 เดือน เมื่อเทียบกับปูนที่เพิ่งฉาบเสร็จใหม่ๆได้อาทิตย์เดียว ก็ไม่เห็นความแตกต่าง วิธีอื่นที่ใช้ทดสอบคือ ใช้ผ้าพลาสติกใสๆ เหมือนถุงใส่กับข้าว ขนาดพอมือจับได้สะดวก คือ ประมาณ 50cmx50cm มาวางทับแล้วใช้เทปกาวปิดขอบทั้ง 4 ด้านกับผนังคอนกรีต ทิ้งไว้ 24 ชม.แล้วมาเปิดดูว่ามีความชื้นใต้แผ่นหรือไม่ อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้เครื่องวัดความชื้นในคอนกรีต วางทาบกับพื้น ซึ่งบริษัทขายสี จะมีเครื่องมือพวกนี้ งานก่อสร้างขนาดใหญ่ๆจะสามารถเรียกบริษัทขายสีมาวัดได้

ก่อนทาสี ถ้าเป็นปูนเก่า ควรฉีดด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง แล้วใช้แปรงขัดทำความสะอาดพื้นผิวก่อน หลังจากทาสีแล้ว หากมีน้ำซึมมาจากอีกด้านหนึ่ง ความชื้นในคอนกรีตก็ยังสามารถทำให้สีบวม การทาสีจึงควรเริ่มด้วยการทา sealer ซึ่งเป็นพวกสีอีพ๊อกซี่ เคลือบกันน้ำซึมผ่านผนังมาทำให้สีลอก ตามด้วยสีรองพื้น (primer) เพื่อให้เตรียมพื้นผิวสำหรับทาสี ช่วยให้ทาสีง่ายขึ้น และทำให้พื้นผิวเรียบด้วย แล้วรอให้แห้ง จึงค่อยทาสีจริง ซึ่งถ้าแดดแรงอากาศร้อนสีก็จะแห้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่อย่านานเกิน 30 วัน คนส่วนใหญ่จะทาแค่ primer แล้วลงสีเลย ไม่ทา sealer ก่อน แต่บางคนก็ไม่ทาทั้ง sealer และ primer ทาสีไปเลยก็มี ผู้เขียนเคยเห็นบ้านที่ไม่ทา sealer ทาแต่ primer และ สีจริง อยู่มาสิบปียังไม่มีปัญหาสีลอก

ผนังในบ้าน ควรเป็นสีขาว เพราะ สามารถสะท้อนแสงได้ดี ช่วยให้ในบ้านไม่มืดทึบ ไม่ต้องเปิดไฟสว่างมาก การหยิบของตามซอกที่ไฟส่องเข้าไปไม่ถึง แค่เปิดไฟสะท้อนกำแพง ก็สามารถมองเห็นได้

ผนักนอกบ้าน ไม่ควรเป็นสีทึบเพราะล่อยุง และถ้ามีโอกาสเปื้อนง่าย ไม่ควรใช้สีขาว อาจใช้สีสว่างๆดูเป็นธรรมชาติ อย่างสีทราย

สีทาบ้านจะใช้สี base มาผสมกับสีจริง สี base จะมี A,B,C,D โดย A จะขาวที่สุด แล้วค่อยๆเพิ่มสีครีมมากขึ้น เพราะเติมแป้งมากขึ้น ถ้าต้องการทาสีบ้านเป็นสีขาว สามารถซื้อ base A มาทาได้เลย โดยไม่ต้องผสมสีเพิ่ม หรือ base B ก็ยังออกสีขาวอยู่ ส่วน base D จะออกสีครีมแล้ว

สีรองพื้น 1 ถังขนาด 2.5 แกลลอน ทาบ้านชั้นเดียวขนาดเล็กๆได้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านใน ส่วนสีจริงมักจะต้องใช้มากกว่าสีรองพื้นเล็กน้อย เพราะทารอบเดียวอาจจะยังไม่สวย

จะเห็นว่าการทาสีคอนกรีตเป็นเรื่องยุ่งยาก ปัจจุบัน จึงมีปูนฉาบสีขาว  ราคาแพงกว่าปูนฉาบสีเทา แต่ดูสวยงามกว่าการทาสี และ ไม่มีปัญหาเรื่องสีลอกต้องทาใหม่เรื่อยๆ แถมยังไม่ต้องเสียเวลาทาสีอีกด้วย เพราะการทาสีแต่ละครั้งจะใช้เวลานานพอๆกับฉาบปูนเลยทีเดียว

สีควรซื้อมาพอดีกับที่ใช้ เพราะถ้าเป็นถังเหล็กจะขึ้นสนิม ถึงเป็นถังพลาสติก มีโอกาสบูด มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเกิดจากเชื้อโรค ยกเว้นจะเป็นสีระดับพรีเมียมที่มีสารกันบูดกันรา

เหล็กกลวง พวกเหล็กกล่องหรือท่อแป๊ป ควรทาสีก่อนนำไปทำโครง จะง่ายที่สุด เพราะ สามารถนำมาเรียงกันแล้วทาดีเดียวได้ ไม่เหมือนเวลาติดโครงเสร็จแล้ว จะมีซอกหลืบ ที่ทำให้ทาสีไม่ทั่ว แถมบางจุดที่ติดตั้งแล้วจะทาสีไม่ได้ เพราะ ติดต้นไม้หรือติดโครงสร้างบ้านเดิม ทำให้นั่งร้านเข้าไม่ถึง แต่ปัญหาคือ ถ้าทาสีแล้ว เวลาเชื่อมจะติดได้ไม่ดี จุดเชื่อมจึงต้องใช้โวลต์สูงๆ ละลายสีออกไปก่อน หรือ ก่อนทาสี ใช้เทปกาวกระดาษแปะไว้บริเวณที่จะเชื่อม แล้วจึงทาสี จุดที่เทปกาวแปะไว้จะไม่โดนสี พอเชื่อมเสร็จแล้วจึงค่อยทาสีบริเวณนั้น แต่สาเหตุที่ช่างเลือกติดโครงก่อนทาสี ก็เพราะกลัวร้อน จึงต้องติดหลังคาบังแดด การทาสีหลังจากติดตั้งแล้ว ใช้เครื่องพ่นสีจะง่ายกว่า เพราะสามารถต่อหัวได้

การทาสีบ้านจะใช้ลูกกลิ้ง เพราะทาได้พื้นที่มาก ถ้าส่วนไหนไม่ถึงก็เสียบไม้ต่อขึ้นไป ส่วนการทาสีพื้นที่แคบๆ อย่าพวกเหล็กกล่อง จะใช้แปรงทาสีกว้างประมาณ 2นิ้วครึ่ง

สว่าน
เมื่อสร้างบ้านเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว สว่านจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยมาก เพราะ ต้องเจาะยึดวัสดุต่างๆเข้ากับตัวบ้าน เช่น ยึดกรอบประตูหน้าต่าง ติดเต้ารับ

สว่านตัวแรกที่ควรจะมีคือ สว่าน 3 ระบบ ที่ทำได้ทั้ง หมุนอย่างเดียวเพื่อเจาะไม้หรือเหล็ก (drill), หมุนบวกกระแทกเพื่อเจาะปูน (hammer drill) และ กระแทกอย่างเดียวเพื่อสกัดปูน (hammer) ซึ่งสว่านประเภทนี้มักจะเป็นแบบโรตารี่ แต่ควรเลือกสว่านตัวเล็กที่สุดที่สกัดปูนได้ เพราะ สว่านตัวใหญ่ๆจะหนัก ถือนานๆจะเมื่อยมือ โดยเฉพาะเวลาสกัดปูนซึ่งต้องเจาะตามเสาและกำแพง ทำให้ต้องยกไว้เป็นเวลานาน นั่นคือ ควรใช้แบบมีสาย จะเบากว่าแบบใส่แบตเตอรี่

สว่านแต่ละยี่ห้อจะดูคล้ายๆกัน สว่านที่ดีสังเกตุได้จากรายละเอียดปลีกย่อย เช่น กล่อง บริเวณบานพับจะต้องไม่มีส่วนที่เป็นโลหะปรากฎให้เห็น เพราะส่วนนั้นจะเป็นสนิม เวลาสัมผัสกับอากาศ โดยเฉพาะเวลานำไปใช้ในที่ชื้นๆ อย่างตามห้องน้ำ หรือเค็มๆ อย่างริมทะเล จากที่ผู้เขียนใช้เครื่องมือมาหลายยี่ห้อ พบว่าบางยี่ห้อออกแบบมาไม่ดี เช่น kless และ makita แกนบานพับจะขึ้นสนิม, hitachi ดอกสว่านไม่มีกล่องหรือถุงใส่

ดอกสว่านทำจากเหล็ก ดอกสว่านที่ดีจึงควรจะมีกล่องมาให้ ถ้าเก็บไว้ในกล่องแล้ว ดอกสว่านจะไม่ขึ้นสนิม หรือ ถ้าไม่มีกล่อง ควรหาซื้อกล่องเพิ่มหรือ อย่างน้อยต้องเป็นถุงปิดมิดชิดกันอากาศเข้า ดอกสว่านที่ปล่อยโล่งไว้ในอากาศนั้น แสดงว่าออกแบบไม่ได้เรื่องเลย กล่องหรือถุงใส่ยังช่วยให้เวลาหยิบใช้ง่ายขึ้นด้วย

สว่านรุ่นใหม่ๆจะปรับรอบเร็วช้าได้ตามแรงกดของนิ้ว เพราะ เวลาเริ่มเจาะนำร่อง ต้องใช้รอบช้า พอเจาะเข้าแล้วเริ่มแข็ง หมุนช้าเจาะไม่ค่อยเข้า จึงหมุนเร็วขึ้นเพื่อให้เจาะเร็วขึ้น หรือ ถ้าเจาะเหล็กต้องใช้รอบช้ามากๆ และสว่านรุ่นใหม่ จะหมุนซ้ายขวาได้ เพราะเวลาเจาะเข้าไปแล้ว ดึงไม่ออก พอหมุนไปอีกทิศ ก็หมุนต่อไปได้


สว่านที่หมุนอย่างเดียว จะใช้เจาะไม้หรือเหล็ก แต่ไม่สามารถเจาะปูนได้ เพราะการเจาะปูนต้องกระแทกด้วย (ธรรมชาติของหินและปูนคือแข็งแต่เปราะ ถ้าโดนกระแทกก็จะแตกง่าย นักธรณีวิทยาจึงใช้ค้อนกับสิ่วเพื่อกระเทาะหินให้แตก) ถ้าจะซื้อสว่านแค่ตัวเดียวจบควรใช้สว่าน 3 ระบบ แต่ถ้ามีเงินเหลือ จึงซื้อสว่านแบบธรรมดาหมุนอย่างเดียวรุ่นเล็กที่สุด เพราะจะตัวเล็กและเบากว่าสว่าน 3 ระบบ ใช้ทำงานเล็กๆได้

สว่านไร้สาย มักจะมีกำลังน้อยกว่าสว่านแบบเสียบไฟ เจาะแต่ละครั้งจึงต้องใช้เวลามากขึ้น ปัญหานี้จะมองไม่เห็นตอนลองหมุนในอากาศ จะเห็นตอนเจาะจริงกับปูนหรือไม้แข็งๆ สว่านไร้สายมีข้อดีคือเบาและเคลื่อนย้ายง่าย จึงเหมาะสำหรับใช้ขันสกรู แต่ยังสู้ไขควงไฟฟ้าที่ออกแบบมาโดยตรงไม่ได้ และยังมีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่เสื่อม แถมเทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับสว่านมีสายที่เทคโนโลยีเสถียรแล้ว สว่านไร้สายจึงเหมาะสำหรับช่างที่ใช้งานเป็นประจำ ถ้าเจาะแค่ปีละไม่กี่ครั้ง ไม่สมควรซื้อเลย เพราะจะเป็นภาระในการดูแลรักษาแบตเตอรี่

เจาะไม้ รูเล็กใช้ดอก multipurpose ได้ ถ้ารูใหญ่จะมีดอกเจาะไม้โดยเฉพาะด้วย ซึ่งดีกว่า เพราะ มีปลายแหลมยื่นออกมา ช่วยให้เจาะได้แม่นยำขึ้นในตอนเริ่ม ต่อจากนั้นจะมีคมตรงขอบช่วยกรีดต่อ จึงเจาะเสร็จเร็วกว่าดอก multipurpose หากจำเป็นสามารถใช้ดอกเจาะเหล็กได้ แต่จะเจาะช้ากว่าและได้ขอบไม่เรียบ การเจาะไม้ควรใช้รอบเร็วปานกลาง จะเจาะได้เร็วกว่าเจาะรอบช้า ถ้าไม่อยากให้อีกฝั่งแตกเป็นรูใหญ่ ให้เจาะปลายทั้่ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน ไม้เนื้อแข็งควรจะใช้ดอกสว่านรูเล็กกว่าสกรูประมาณ 0.5 มม. ถ้าสกรูใหญ่กว่าดอกสว่านเกิน 1 มม.จะขันแล้วแน่นมาก มีโอกาสสกรูขาดติดอยู่ในรูได้ พอสกรูขาดแล้วก็เรื่องใหญ่ รูเล็กจึงควรใช้ดอกสว่านใหญ่ขึ้นเพื่อกว๊านรูให้หลวมขึ้น

เจาะพลาสติก ใช้ดอกอะไรก็ได้ ทั้งดอกสว่านเจาะไม้ เจาะเหล็ก หรือ multipurpose ใช้ความเร็วรอบช้าๆ แต่ใช้ดอกเจาะไม้จะแม่นยำที่สุด และเร็วที่สุด

เจาะเหล็ก ใช้สว่านแบบหมุนอย่างเดียว ใช้ดอก multipurpose หรือดอกเจาะเหล็กโดยเฉพาะ ควรหยอดน้ำมันที่ปลายดอกสว่าน เพื่อช่วยขับเศษโลหะและลดความร้อน ใช้น้ำมันหนืดจากปิโตรเลียมตัวไหนก็ได้ ยังดีกว่าไม่ใช้ อย่างน้ำมันแร่ที่ใช้ทำน้ำมันจักร หรือน้ำมันเครื่องที่ใช้ไม่หมด อย่าใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วจากเครื่องยนต์ เพราะจะมีเศษโลหะติดมา วิธีเจาะเหล็กให้เร็วที่สุด คือ ใช้รอบช้าที่สุด แต่กดแรงๆ โดยวางชิ้นงานลงกับพื้น แล้วยืนกดดอกสว่าน ใช้น้ำหนักกดจากลำตัว จะมีแรงกดมากกว่าการวางชิ้นงานไว้กับโต๊ะแล้วใช้มือกดอย่างเดียว ถ้าชิ้นงานลื่น ให้ตอกตะปูนำร่องก่อน หยอดน้ำมันให้เพียงพอ ใช้แหวนพลาสติกหรือโลหะวางรอบรู เพื่อน้ำมันและเศษโลหะไม่ไหลออกไปไกล ปัญหาคือเวลาเจาะทะลุแล้ว หัวดอกสว่านมักไปกระแทกกับพื้นด้านล่าง เพราะเวลาเจาะต้องออกแรงกดมาก แก้โดยรองพื้นด้วยไม้หรือพลาสติกหนาๆ ลำพังโฟมหนาๆรองพื้นยังไม่พอรับแรงกดตอนทะลุได้ หากปล่อยให้ดอกสว่านกระแทกของแข็ง ปลายจะเบี้ยว แล้วเจาะครั้งต่อไปจะแกว่ง

เจาะสเตนเลส หรือพวกโลหะผสม alloy จะแข็งกว่าเหล็ก ใช้หัวเหล็กผสม cobalt จะทนความร้อนได้ดีกว่า high speed steel

เจาะกระเบื้องปูผนัง ผิวกระเบื้องจะแข็งเฉพาะข้างหน้า พอเจาะผ่านเข้าไปได้แล้วก็นิ่ม กระเบื้องเซรามิกใช้หัวเจาะปูน แต่ถ้าเป็นกระเบื้อง porcelain ผิวจะแข็งมาก ต้องใช้หัวเพชร เพราะดอกเจาะปูนอาจจะแข็งสู้ไม่ได้ อย่าใช้กระแทก จะทำให้กระเบื้องแตก ใช้แบบหมุนช้าๆ จนทะลุกระเบื้อง พอเจอปูนแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นกระแทก  ถ้าไม่มีดอกเจาะกระเบื้อง ให้ใช้ตะปูตอกพอให้ผิวหน้าหลุดออก แต่ระวังกระเบื้องแตก หรือ ใช้วิธีไล่ดอกสว่านจากเล็กไปหาใหญ่

เจาะกระเบื้องมุงหลังคา ใช้ดอกเจาะปูน กับ สว่านแบบหมุนอย่างเดียว

เจาะหินขัด หินขัดจะลื่น ทำให้เจาะพลาดเป้าหมาย ให้ใช้หัวเจาะปูน เริ่มเจาะช้าๆ ระวังลื่น อาจต้องหยอดน้ำ เพื่อลดความร้อน เพราะผิวแข็งกว่าคอนกรีต

การเจาะรูใหญ่ร้อยท่อพวก pvc ขนาดใหญ่ ใช้ดอกสว่านใหญ่ที่สุดที่หาได้ แล้วสกัดต่อ แต่การสกัดรู จะได้พื้นผิวที่ไม่เรียบ จึงต้องใช้ปูนหรือกาวอุดให้เรียบร้อย ถ้าจะเจาะรูให้สวยงาม ก็ต้องใช้ดอกสว่านขนาดใหญ่ หรือใช้ hole saw

การเจาะรุด้วย hole saw ถ้าใช้หัว HSS จะเจาะวัสดุที่ไม่แข็งมาก อย่างไม้ โลหะอ่อนๆ พลาสติก ถ้าเจาะปูนหรือเหล็กแข็งๆอย่างสเตนเลส จะทื่อเร็ว ต้องเปลี่ยนมาใช้หัว carbide จะแข็งขึ้น เจาะง่ายขึ้น ถ้าใช้ดอกหัวเพชร จะเจาะได้ง่ายที่สุด แต่ราคาแพงมาก การใช้ hole saw จะหมุนอย่างเดียว ห้ามกดแรง กดเบาๆให้ hole saw ทำหน้าที่ตัด แต่ hole saw จะเจาะลึกแค่ 2 นิ้ว ต้องเจาะกำแพงจากอีกฝั่ง โดยเจาะรูนำทะลุไปก่อน หรือ แคะปูนออกก่อนแล้วค่อยเจาะใหม่ ถ้าไม่มี hole saw ให้เขียนวงกลมแล้ว ใช้สว่านเจาะรูเล็กๆติดๆกันตามเส้นรอบวง แล้วใช้ค้อนเคาะตรงกลางออก ถ้าเป็นกระเบื้องติดผนังใช้ค้อนเคาะเบาๆ ตามเส้นรอบวง แล้วจึงค่อยเคาะตรงกลางซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายนาที กว่าที่รูจะหลุดออก

ดอกสกัดปูนจะกระแทกอย่างเดียว ถ้าไม่มีดอกสกัดปูน สามารถดัดแปลงใช้หัวดอกสว่านเจาะปูนมาสกัดแทนได้

ข้อควรระวังในเลือกซื้อสว่าน
ดอกสว่าน ควรใช้ของแท้ เพราะของเทียม เจาะไม่เข้า ใช้ไม่กี่ทีก็พัง หรือห้กงอ ติดตายกับวัสดุ หรือสว่าน ทำให้ต้องส่งซ่อม ให้ช่างแกะชิ้นส่วนออกมาเพื่อดึงดอกที่ติดอยู่ออก การเก็บรักษาดอกสว่าน ให้เอาฝุ่นออกให้หมด หัวทุกชนิด ทาน้ำมันได้ก็ดี

การเจาะรูขนาดใหญ่ บนพลาสติกหรือไม้  สามารถใช้เครื่องเจียร หรือ ใช้ดอกสว่านขนาดเล็กกรีด หรือใช้ holesaw 

เจาะปูน
ธรรมชาติของปูนหรือหิน ถึงแม้จะแข็ง แต่เปราะ ถ้าโดนกระแทกจะแตกง่าย สว่านเจาะปูนต้องทั้งหมุนและกระแทก เพราะ ถ้าหมุนอย่างเดียวจะเจาะเข้าช้าหรือไม่เข้า ถ้ากระแทกอย่างเดียว จะแตกร้าวไม่ได้รูที่มีขนาดตามที่ต้องการ

ถ้าจะติดอะไรกับผนัง ควรใช้สว่านเจาะแล้วยึดด้วยสกรู อย่าใช้วิธีติดกาวสองหน้า เพราะใช้ไปได้ไม่ถึงปี กาวจะหลุดออกจากผนัง พอตกลงมาถึงพื้น กาวก็กลายเป็นยางเหนียวติดกับพื้นเหมือนหมากฝรั่ง ต้องลำบากขูดออก

สว่านเจาะปูน ควรจะหมุนรอบช้าได้ตามแรงกดที่มือ เพราะเวลาเริ่มเจาะนำร่อง ต้องใช้รอบช้า พอเข้าลึกเริ่มเจาะยากจึงหมุนเร็วขึ้น ปัจจุบันสว่านรุ่นใหม่ๆหมุนรอบช้าได้หมดแล้ว

สว่านเจาะปูนต้องมีแรงกระแทก มี 2 แบบคือ
ถ้าเจาะรูใหญ่เกินที่จะหาดอกสว่านได้ อย่างข้อต่อท่อ pvc ซึ่งมีขนาด 28 มม. แต่มีดอกสว่านใหญ่สุดแค่ 22 มม. จะเริ่มจากเจาะรูขนาด 22 มม.แล้วที่เหลือใส่หัวสกัดเพื่อทำลายต่อ  ถ้าไม่มีหัวสกัด สามารถหาเหล็กสกัดมาใช้ค้อนตอกแทน หรือใช้ holesaw

ดอกสว่านที่ใช้งานทั่วไปทำจาก high speed steel (HSS) เป็นเหล็กผสมโลหะอื่น (alloy) ช่วยให้ร้อนแล้วไม่อ่อน ใช้เจาะทั่วไปได้ทั้งเหล็ก ไม้ พลาสติก แต่ห้ามใช้ เจาะปูนดอกจะทื่อ ถ้าเจาะปูนต้องมีปลายแข็งขึ้น เพราะต้องใช้ปลายกระแทก ปลายบานออกเหมือนหอก ปลายมักจะทำจาก tungsten carbide (เรียกย่อๆว่า carbide) ซึ่งแข็งมาก แข็งกว่าเหล็ก สังเกตุได้จากปลายดอกสว่านเป็นเหล็กอีกชิ้นนำมาเชื่อมกับแกน ปลายมีแรงดูดแม่เหล็กน้อยกว่าแกนซึ่งทำจาก HSS แกนเล็กกว่าปลาย เพราะใช้เฉพาะปลาย แกนที่เหลือไม่ได้ทำอะไร หากแกนใหญ่จะเสียดสีกับรูทำให้รูหลวม บางยี่ห้อทำดอก multipurpose ใส่หัว carbide ใช้ได้ทั้งเหล็กและปูน แต่ carbide มีข้อเสียคือเปราะบิ่นง่าย

ดอกสว่าน ใช้แบบสำหรับเจาะปูน มีปลายบาน หรือจะใช้ดอก multipurpose ก็ได้

ดอกสว่านตัวแรกๆที่ควรซื้อติดไว้ มี 2 ขนาดคือดอก multipurpose 3 มม. ใช้เจาะทั่วไป กับ 5 มม.ใช้เจาะปูน ดอกสว่านขนาดเหล่านี้หาซื้อง่าย เทียบได้ทั้งนิ้วและ มม. แต่เทียบเป็น มม. จะจำง่ายกว่าและละเอียดกว่า เช่น แบ่งย่อยได้เป็น 5.5 มม.และ 6.5 มม.

เจาะแขวนของเล็กๆน้อยๆ ควรเริ่มต้นด้วยดอกสว่านเบอร์เล็กที่สุด คือ 5 มม. เพราะว่าพุกพลาสติกที่วางขาย มักจะเริ่มต้นที่ 5 มม. และดอกสว่าน SDS ใส่สว่านโรตารี่ จะเริ่มต้นที่ 5 มม. หากต้องการใส่พูกง่ายควรใช้ 5.5 มม. ซึ่งจัดเป็นขนาดอเนกประสงค์ เพราะเมื่อใส่พุกพลาสติก 5 มม.แล้ว จะใส่สกรูได้หลายขนาด ตั้งแต่ 3-4 มม. (ยกเว้นเจาะรูเบี้ยวจนหลวม) โดยสกรู 3 มม.สั้นๆใช้แขวนของเล็กๆ ที่ไม่รับแรง และ 4 มม.ยาวๆใช้รับน้ำหนักมากขึ้น ยกเว้นต้องการใส่สกรู 3 มม.ให้แน่นพอดี จึงใช้ดอกสว่านขนาด 5 มม. ถ้าต้องการเจาะยึดของที่ต้องรับแรงมากขึ้น อย่างเช่น ประตู หน้าต่าง ควรใช้ดอกสว่านขนาด 6.5 มม. ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใส่สกรูใหญ่ขึ้นจาก 5mm มากนัก แต่อาศัยใส่สกรูยาวเท่าพุกแล้วเจาะหลายๆรู จะช่วยได้

ข้อดีของการเริ่มด้วยดอกสว่านเบอร์เล็ก คือ อะหลั่ยพวกสกรู ดอกสว่าน เบอร์เล็ก มีราคาถูก และหาง่าย และ มีให้เลือกมาก แม้แต่สกรูสเตนเลสก็หาได้ แต่ถ้าเริ่มด้วยดอกสว่านขนาดใหญ่ แล้วเจาะพลาด จะหาพุกขนาดใหญ่กว่ามาใส่ลำบาก สกรู ขนาดเกิน 4 มม.ไปแล้วจะเริ่มหายาก และราคาแพง 

เวลาซื้อพุก จึงต้องซื้อหลายๆเบอร์ที่ใหญ่กว่าเบอร์ที่ใช้ เผื่อปูนเก่า รูหลวมมาก ต้องใส่พุกเบอร์ใหญ่ขึ้น บางครั้งเจาะเอียง มือสั่น ทำให้รูใหญ่กว่าดอกสว่าน เมื่อเจาะเสร็จแล้ว ก่อนจะใส่พุก ต้องนำพุกมาเทียบก่อน ว่าพอดีกับขนาดรูหรือไม่ ถ้ารูใหญ่กว่า ให้ใส่พุกเบอร์ใหญ่ขึ้น เช่น พุกเบอร์ 5 ควรจะซื้อพุกเบอร์ 6, 7 หรือแม้แต่ 8 มาเก็บไว้ด้วย แต่พุกเบอร์ใหญ่ขึ้นจะยาวกว่ารู ให้ตัดพุกทิ้ง จะได้ไม่ต้องเจาะกำแพงให้ลึกลงไป เพราะการเจาะใหม่อาจจะขยายรูจนปากรูเละ การตัดพุก ให้่่่ใช้มีดหรือกรรไกรตัดท่อพีวีซี ตัดตรงปาก เพราะ จุดที่ยึดสกรูจริงๆคือตรงปลาย ที่เป็นข้อๆ ส่วนที่เรียบๆตรงปากไม่ได้ทำหน้าที่อะไร

พุกใช้เพื่อเพิ่มการยึดเกาะระหว่างสกรูกับผนัง เพราะขอบที่มีความหนาสามารถยืดหยุ่นได้ การซื้อพุก อย่าเชื่อเบอร์ที่เขียนไว้บนพุก จำเป็นต้องวัดใหม่ เพราะแต่ละยี่ห้ออาจมีขนาดแตกต่างกัน หามาตรฐานไม่ได้ เช่น พุกพลาสติกไทยเบอร์ 7 ความจริงควรจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอกเป็น 7 มม แต่บางยี่ห้อวัดได้แค่ 6.5 มม. การวัดขนาดของพุกให้ใช้เวอร์เนียวัดตรงข้อกลางพุกจุดที่กว้างที่สุด ไม่วัดตรงปากซึ่งมักจะใหญ่กว่าปกติเพื่อใช้ล็อกกับรู

ตัวอย่างพุกไทย ที่ขายในท้องตลาด หากใช้เวอร์เนียวัด มักจะมีขอบหนาด้านละ 1 มม. จึงจับคู่กับดอกสว่าน และ สกรู มีขนาดตามตาราง
พุกพลาสติก เบอร์ 5
6
7
เส้นผ่าศูนย์กลาง
รอบนอกพุก(มม)
5
6
ควรเป็น 7 แต่ที่
วางขายแค่ 6.5
เส้นผ่าศูนย์กลาง
รอบในพุก(มม)
3
4
ควรเป็น 5 แต่ที่
วางขายแค่ 4.5
พุกยาว(มม)
25 28 31
ใช้ดอกสว่าน
ขนาด(มม)
5
6
6.5
สกรู เส้นผ่าศูนย์กลาง
ของเกลียวรอบนอก(มม)
3.5
4.5
5

ขนาดของสกรู สามารถกว้างหรือแคบกว่าพุกได้เล็กน้อย ความยาวของสกรู ก็สามารถสั้นหรือยาวหรือกว่าพุกได้ ขนาดของสกรูที่พอดีกับพุกพลาสติก ให้ใช้เวอร์เนียวัด เช่น ถ้าพุกพลาสติกมีเส้นผ่าศูนย์กลางรอบนอก 6 มม ขอบหนา 1 มม. ทั้งสองฝั่ง นั่นคือ สกรูมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-(1x2)=4 มม. แต่เวลาใช้จริง ต้องเพิ่มขนาดสกรูอีก 0.5 มม. กลายเป็น 4.5 มม. เพราะนอกจากจะต้องเผื่อรูที่ขยายเนื่องจากสว่านเจาะแล้ว ยังต้องเผื่อให้เกลียวกินเข้าไปในพุก จะได้ยึดได้แน่นขึ้น ข้อควรระวังในการซื้อสกรูคือ อย่าเชื่อเบอร์ที่เขียนไว้ข้างกล่อง เพราะ บางยี่ห้อ อย่างเช่นสกรูเหล็กมักจะใช้เป็นเบอร์ เช่น ถ้าเขียนไว้ว่าเบอร์ 6 วัดจริงๆจะได้ 3.5 มม.

ถ้าใส่สกรูแล้วหลวม ต้องใส่สกรูขนาดใหญ่ขึ้น จึงควรซื้อสกรูขนาดใหญ่กว่าเบอร์ที่ใช้มาด้วย เช่น สกรูขนาด 3.5 มม.ควรซื้อ 4 และ 4.5 มม. แต่ต้องมีความยาวเท่ากัน เช่น สกรูขนาด 3.5 มม.ยาวเท่ากับพุกเบอร์ 5 คือ 25 มม. ถ้าสกรูขนาดใหญ่ขึ้น ก็ต้องมีความยาวของสกรู 25 มม. ถ้าใส่พุกแล้วหลวมด้วย จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งพุกและสกรูให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
วิธีเจาะปูน ควรเจาะไปให้ลึกกว่าความยาวของพุกเล็กน้อย เผื่อกดสว่านไม่ลึกพอจะใส่พุกลงไม่สุด ถ้าเจาะรูเดิมใหม่จะทำให้รูหลวม

ถ้าใส่พุกพลาสติกลงไปในรูแล้วดึงไม่ออก ให้ใช้สว่านเจาะซ้ำเข้าไป เศษพุกจะหลุดร่วงออกมา

สกรูเหล็ก ถ้าใช้ในที่ชื้นๆ เช่น ห้องน้ำ จะขึ้นสนิม ควรเปลี่ยนไปใช้สกรูสเตนเลส จากที่ผู้เขียนทดลองใช้แถวห้องน้ำมาเกิน 10 ปี ขนาดจุดที่โดนน้ำเปียกๆแห้งๆอยู่ทุกวัน ยังไม่เจอขึ้นสนิม ในขณะที่สกรูเหล็กที่อยู่ใกล้กัน ขึ้นสนิมไปหมดแล้ว ถึงแม้จะไม่โดนน้ำกระเด็นใส่เลยก็ตาม เพราะแถวห้องน้ำมีความชื้นสูง

สกรูที่ยาวๆ ยาวกว่าพุกพลาสติก จะใช้เพื่อยึด สิ่งของที่หนาๆ เช่น ยึดวงกบ เข้ากับกำแพง

ปูนเก่าอายุเกิน 20 ปี คือปูนหมดอายุ เจาะแล้วจะแตกร่อนกลายเป็นรูขนาดใหญ่ ใช้ผนังหินขัดจะดีกว่า ใช้ไปนานๆก็ยังแข็ง เจาะได้เหมือนใหม่

ค้อนยาง
ค้อนยางใช้ตอกสิ่งของที่ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหาย อย่างเช่น คอนกรีตหรือพลาสติก ถ้าใช้ค้อนเหล็กทุบแล้วอาจทำให้พื้นผิวเสียหายได้ งานที่เหมาะกับค้อนยาง เช่น ตอกพุกเข้ากับกำแพง ตอกอิฐให้กดแน่นบนแนวยาปูน, ตอกอิฐมวลเบาที่ใช้ลูกหมูตัดแต่ยังไม่ขาด ให้ขาดออกจากกัน

ฝุ่น
งานช่าง ตั้งแต่เทปูนจนถึงตัดด้วยอุปกรณ์หมุนเช่น สว่านเจาะปูน ลูกหมูขัดไม้ขัดปูน ต้องเกี่ยวข้องกับฝุ่น ฝุ่นนอกบ้านไม่มีปัญหาในการทำความสะอาด

แต่ถ้าทำในห้อง ฝุ่นเล็กๆจะลอยไปเกาะเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านไปอยู่ตามซอกแล้วเช็ดออกไม่ หมด ปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ดีกับปอดของเรา แก้ไขเบื้องต้นได้หลายวิธี เช่น ถือเครื่องดูดฝุ่นตัวใหญ่ๆจ่อไว้ใกล้ๆ อาจต้องหาใครมาช่วยถือเครื่องดูดฝุ่นอีกคน


สว่านดูดฝุ่น ไม่มีฝุ่นฟุ้งไปกระจายเวลาเจาะ เพราะ ฝุ่นส่วนใหญ่จะถูกดูดเข้าไปในท่อ เหลือฝุ่นแข็งๆ เกาะอยู่ที่ผนัง แต่จำกัดอยู่แค่รอบๆขอบยางกันฝุ่น ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดออกได้ง่าย

ถ้าไม่มีวิธีกันฝุ่น ควรระวังเวลาเจาะเสร็จ ดึงดอกสว่านออกมาจากรูเจาะ ฝุ่นที่จับเป็นก้อนตามซอกดอกสว่าน อาจจะร่วงลงพื้น  และ ฝุ่นที่ค้างอยู่ในรูที่เจาะ จะร่วงลงพื้นได้ด้วยหากใส่พุกเข้าไปแล้วดึงออกมา

ผ้าไมโครไฟเบอร์ ดูดฝุ่นได้ดีมาก ใช้เช็ดฝุ่นออกจากอุปกรณ์ต่างๆ พอผ้าเก็บฝุ่นไว้มากแค่นำไปสะบัดฝุ่นออก สามารถนำมาใช้ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องซักล้างก่อน ซื้อขนาดเท่าผ้าเช็ดผม กระจายไว้หลายๆจุดที่มีฝุ่นจะช่วยให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปมา

ไฟบ้าน
ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ใช้งานได้ และ วัดได้ (การพูดให้คนเชื่อต้องทำตามได้) หลักการของไฟฟ้าคือ มีแรงดันจากโรงไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ซึ่งวัดเป็นโวลต์ (V หรือ v) เมื่อเราเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าจนครบวงจร จะมีแรงดันดันอิเลกตรอนที่อยู่นิ่งๆในสายไฟให้วิ่งไป (ทองแดงหรือเงินจึงนิยมนำมาทำสายไฟ เพราะดันให้อิเลกตรอนวิ่งได้ง่าย เรียกว่าเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี) แล้วอิเลกตรอนจะไปขับเคลื่อนให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงาน พัดลมหมุนได้ หลอดไฟมีแสงสว่าง เปรียบได้กับน้ำประปาที่ไหลออกมาจากท่อให้เราใช้งานได้ เพราะ มีแรงดันน้ำมาจากโรงกรองน้ำหรือจากถังน้ำที่อยู่สูงกว่า แรงดันไฟที่สูงขึ้นเปรียบเหมือนแรงดันน้ำที่มากขึ้น เปิดก๊อกแล้วล้างได้ทั้งของเล็กและใหญ่ ถ้าวัดจำนวนอิเลกตรอนที่ไหลผ่านสายไฟในช่วงเวลาหนึ่งวินาที จะเรียกว่ากระแสไฟฟ้ามีหน่วยเป็นแอมแปร์ (A) เปรียบเสมือนวัดปริมาตรน้ำที่ไหลออกมาจากท่อในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนพลังงานหรือกำลังไฟฟ้ามีหน่วยเป็นวัตต์ (W หรือ w) เปรียบได้กับการใช้น้ำล้างสิ่งของขนาดเล็กแค่เปิดก๊อกให้ไหลอ่อนๆก็พอใช้ ของขนาดใหญ่ต้องเปิดก๊อกให้น้ำไหลมากขึ้น ทำให้เสียค่าน้ำเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่วัตต์มากกว่าจะกินกระแสไฟมากกว่า เตารีด 1,000 วัตต์ จะกินไฟมากกว่าพัดลม 100 วัตต์ ตัวควบคุมกระแสไฟเข้ามากหรือน้อยคือ ความต้านทานในเครื่องใช้ไฟฟ้า หน่วยเป็นโอห์ม ความต้านทานน้อยเทียบได้กับการเปิดก๊อกให้น้ำไหลมากขึ้น ความต้านทานมากเทียบได้กับการหรี่ก๊อก ส่วนค่าไฟจะวัดตามระยะเวลาที่ใช้ โดยภาครัฐกำหนดมาว่า ค่าไฟ 1 หน่วย จะเท่ากับ เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้กำลัง 1,000 วัตต์ เป็นเวลา 1 ชม. หรือ 1 kWh เช่นเดียวกับ กำลังไฟฟ้าที่ออกมาจากโรงไฟฟ้า จะวัดเป็นวัตต์เช่นกัน แต่จะมีค่าสูงระดับล้านวัตต์หรือ 1 เมกะวัตต์ (MW) เครื่องปั่นไฟใหญ่ๆหรือเขื่อนใหญ่ๆ จะให้กำลังเกือบ 100 MW แต่ต้นทุนที่ใช้ จะคิดแยกต่างหาก ไม่นำวัตต์มาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้านำน้ำมันมาปั่นเครื่องปั่นไฟ จะคำนวณว่าใน 1 ชั่วโมง ต้องใช้น้ำมันกี่ลิตร แล้วจะคำนวณได้ว่า เครื่องปั่นไฟตัวนั้นมีต้นทุนเท่าไหร่

ด้วยธรรมชาติที่ว่าไฟฟ้าสามารถวัดได้นี้เอง การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า จึงต้องเริ่มต้นจากใช้เครื่องวัดเสมอ เครื่องวัดที่ต้องมี ได้แก่ ไขควงวัดไฟ และ มัลติมิเตอร์

ไฟบ้านจะเริ่มต้นที่ 2 สาย คือสายไฟเข้าคือ Line ( L) กับสายไฟออกคือ Neutral (N) หากใช้เครื่องมือวัดจะรู้ได้ว่าเป็นเส้นไหน และใช้งานได้ปกติหรือไม่

ไขควงวัดไฟ

ไขควงวัดไฟ ใช้วัดไฟบ้าน เมื่อเสียบเข้าไปในรูเต้ารับ แล้วใช้นิ้วแตะตรงเหล็กจุดที่กำหนดไว้บนไขควง (อาจอยู่ที่ก้นไขควงหรือด้านข้าง) จะรู้ได้ว่ารูไหนมีไฟเข้า ถ้าจิ้มรูไฟเข้า หลอดไฟในไขควงจะสว่างขึ้น ถ้าสว่างน้อยแสดงว่าแรงดันไฟไม่ถึง 220 โวลต์ ส่วนรูที่ไฟออก จิ้มไขควงลงไปจะไม่มีไฟสว่าง ข้อดีของไขควงวัดไฟคือ ปลอดภัย ใช้สะดวก ไม่เคยมีประวัติว่ามีคนโดนไฟดูดจากไขควง ควรซื้อแบบที่ถอดประกอบไม่ได้จะใช้ทนทานกว่า ปัญหาคือ ไขควงพวกนี้จะไม่แม่นยำ จิ้มอุปกรณ์ต่างๆแล้วมีไฟไม่ได้หมายความว่าจะดูด อาจเป็นไฟฟ้าสถิต จึงต้องใช้มัลติมิเตอร์วัดอีกที ไขควงรุ่นใหม่จะสามารถวัดอกมาเป็นโวลต์ได้ด้วย แต่ดูยากและไม่แม่นยำ ทุกแบบมีข้อควรระวังคือ อย่าใช้ทำอย่างอื่นนอกจากวัดไฟ เพราะด้ามมักจะบอบบาง บางรุ่นแค่กดแล้วกระจกหลุดออกมา บางรุ่นก้นหลวมหลุด ถ้าจำเป็นต้องใช้งัดแงะหรือขันสกรู ควรใช้อย่างระมัดระวัง หาไขควงแท้ๆที่กันไฟดูดได้มาใช้แทนจะแข็งแรงกว่า


มัลติมิเตอร์ (multimeter) คือตัววัดไฟที่ใช้งานบ่อยที่สุด ซึ่งแบบหน้าจอตัวเลข จะใช้ง่ายกว่าแบบหน้าจอเข็ม หากปรับมัลติมิเตอร์ ให้วัดโวลต์แบบกระแสสลับ (AC ใช้สัญลักษณ์ ~) แล้วเสียบทั้ง 2 ขาเข้ากับรูเต้ารับไฟบ้านทั้ง 2 รู จะอ่านได้ 220-240 โวลต์ ถ้าปรับมัลติมิเตอร์ ให้วัดโวลต์แบบกระแสตรง (DC ใช้สัญลักษณ์ ⎓) แล้วแตะเข้ากับปลายถ่านไฟฉายทั้ง 2 ด้าน จะพบว่า ถ่านใหม่จะมีโวลต์สูง ส่วนถ่านอ่อนจะมี โวลต์ต่ำ หากเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีไฟผ่าน จะวัดจากความต้านทาน หน่วยเป็นโอห์ม (Ω) หรือ connectivity คือความด้านทานค่าต่ำๆพร้อมเสียงเตือน ถ้าสายไฟขาดข้างในแต่มองไม่เห็น หรือ ถ้าอยากรู้ว่าสายต้นกับปลายเป็นสายเดียวกันหรือไม่ ให้วัด 2 จุดบนสาย สายที่มีความต้านทาน แสดงว่าเป็นสายเส้นเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีความต้านทานเลย แสดงว่าสายขาดหรือเป็นสายคนละเส้น เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆก็เช่นกัน อย่างเช่นฟิวส์ ถ้าฟิวส์ขาดจะไม่มีความต้านทานเลย เวลาต่ออุปกรณ์ใช้เอง แล้วอยากรู้ว่าจะทำให้ไฟช๊อตหรือไม่ ขั้นแรกยังไม่ต้องเสียบปลั๊ก แล้ววัดความต้านทานระหว่างปลั๊กทั้ง 2 หัว ถ้าปิดสวิทซ์แล้วจะต้องไม่มีความต้านทานอยู่เลย แต่ถ้าเปิดสวิทซ์จะมีความต้านทานขึ้น มัลติมิเตอร์ใหม่ๆจะมี NCV ใช้แทนไขควงวัดไฟได้ในกรณีที่วัดว่า มีไฟในสายหรือไม่ สายขาดตรงไหน ซึ่งไขควงวัดไฟทำไม่ได้

เรื่องแรกที่ต้องทำก่อนยุ่งเกี่ยวกับไฟบ้าน คือ สับสะพานไฟ (cut-out) เพื่อป้องกันไฟดูด ถึงไม่จะไม่มีไฟดูด แต่ไฟที่กระตุกจากการซ่อมแซม ก็อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังได้ แต่ปัญหาของการตัดไฟคือ อากาศร้อนจนทำงานไม่ไหว ดังนั้น แต่ละชั้นควรออกแบบให้มีสะพานไฟ 2 ตัว แยกแต่ละฝั่งกำแพง เพื่อเวลาตัดไฟแล้ว จะยังมีไฟฟ้าใช้สำหรับแสงสว่างและพัดลม ถ้ามีเครื่องใช้ที่ต้องเปิดตลอด 24 ชม เช่น ตู้เย็น หรือเครื่องคอมพ์ ควรมีสะพานไฟแยกออกจากส่วนที่เหลือ แล้วรวมทุกสะพานไฟเข้าหาสะพานไฟรวมของทั้งชั้น และทั้งบ้าน ติดตั้งไล่จากล่างขึ้นบนเหมือนปิรามิด

ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากมีโลหะมาต่อระหว่าง L กับ N ทำให้มีไฟฟ้าไหลผ่านมากกว่าปกติ เกิดไฟช็อต มีไฟแล่บ ถ้าคนไปแตะจะโดนไฟดูดตาย ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดไฟไหม้ แผงควบคุมไฟฟ้าเข้าบ้าน จึงต้องมีอุปกรณ์ตัดไฟอัตโนมัติ อย่างเบรกเกอร์ (
หรือฟิวส์) ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เมื่อกระแสไฟฟ้าเข้าบ้านมากเกินไป เบรกเกอร์จะตัดไฟ ทำให้ไฟดับทั้งบ้าน


การเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน จะต่อแบบขนาน คือ มีสายหลักพาดผ่าน แล้วเต้ารับกับหลอดไฟต่างๆพ่วงออกมาจากสายหลักขาหนึ่งพ่วงอยู่ฝั่ง สายเข้า อีกขาหนึ่งพ่วงอยู่ฝั่งสายออก
สายไฟบ้าน ตามจุดที่สายไฟอยู่กับที่ (ทั้ง AC และ DC) จะใช้สายไฟแข็ง มีทองแดงเส้นเดียว เพราะนำไฟฟ้าดีที่สุด และไม่ต้องการความยืดหยุ่น ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเคลื่อนย้ายจะใช้สายไฟอ่อน (stranded) บางคนเรียกว่า สายไฟฝอย เพราะใช้เส้นเล็กพันกัน มีความอ่อนเหมือนเชือก แต่นำไฟฟ้าได้น้อยกว่าสายไฟแข็งที่ขนาดเท่ากัน ยิ่งเส้นฝอยเล็กมากยิ่งอ่อนมาก ถ้าเส้นฝอยใหญ่ขึ้นมาหน่อยจะเริ่มแข็งขึ้น เหมาะใช้กับจุดที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อย่างภายในเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขนาดสายไฟแข็ง ให้ดูเครื่องใช้ไฟฟ้าว่าใช้กระแสสูงสุดกี่แอมแปร์ หรือเรียกสั้นๆว่าแอมป์ ถ้าไม่มีบอกก็ดูจากวัตต์ แล้วคำนวณจากสูตร P=IV เมื่อ V=220 โวลต์ เป็นค่าคงที่ ส่วน P คือวัตต์ และ I คือกระแสหน่วยเป็นแอมป์ (เช่น พัดลมใช้ไฟ 44 วัตต์ จะคำนวณกระแสได้ 44/220 = 0.2 แอมป์) หรือถ้าจะใช้มัลติมิเตอร์วัดกระแสโดยตรงเลยก็ได้ แล้วเลือกสายไฟโดยดูจากค่าในตาราง ซึ่งเป็นค่าทั่วไป ตัวเลขที่ถูกต้องควรดูจากผู้ผลิตอีกครั้ง

ขนาดสายไฟแข็ง (mm2)
กระแสสูงสุดที่รับได้ (แอมแปร์)
0.5
9
1
13
1.5
17
2.5
23
4
32
6
43
10
60

ขนาดของสายไฟที่วางขายจะเขียนไว้บนฉนวนหุ้ม เช่น 2x1.5 หมายถึง 2 เส้น(เข้ากับออก) แต่ละเส้นมีขนาดสายไฟ 1.5 ตารางมิลลิเมตร (mm2) ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่หน้าตัดของลวดทองแดง ไม่รวมฉนวน ส่วนเส้นผ่าศูนย์กลางสามารถคำนวณต่อได้จากขนาดสายไฟ (จากสูตร พื้นที่หารด้วยค่าพายคือ 3.1416 แล้วถอดรูท 2 แล้วคูณด้วย 2) แต่ในการติดตั้งจริง ไม่ควรใช้สายไฟที่มีขนาดเท่ากับกระแสสูงสุดพอดี เพราะสายจะร้อน ทำให้ฉนวนกรอบ ถ้ากระแสเกินจะร้อนจนเกิดไฟไหม้ได้ และถ้าในอนาคตมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากกว่ามาเพิ่ม จะเสียบไม่ได้ วิศวกรทุกสาขาจะรู้จักคำว่า safety factor เป็นค่าที่เผื่อความผิดพลาดเหล่านี้ไว้ ช่างไฟจะนิยมใช้ค่านี้อยู่ที่ประมาณ 1.25 หรือเพิ่มขึ้น 25% แต่เผื่อมากกว่านี้ยิ่งดี ถ้ามีเงินซื้อสายไฟ


สายไฟขนาด 1.5 mm2 จัดว่าเพียงพอสำหรับบ้านพักอาศัย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป มักจะกินไฟไม่เกิน 1000 วัตต์ (หารด้วย 220 โวลต์ ได้เกือบ 5 แอมแปร์) และถูกใช้แค่เป็นครั้งคราว อย่างเตารีด เตาอบเล็ก สว่าน ยกเว้นพวกสร้างความร้อนเร็ว อย่างปืนเป่าลมร้อน อาจถึง 2000 วัตต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากๆ อย่างเช่น แอร์บ้าน ปลั๊กชาร์จรถไฟฟ้า ควรจะต่อสายแยกออกมา หากไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในบ้าน จะทำให้ไฟกระตุกได้ง่าย แถมยังต้องใช้เบรกเกอร์ที่รับกระแสเพิ่มขึ้น ทำให้เสี่ยงอันตรายมากขึ้น


ปลายสายไฟที่ยื่นออกมา
แล้วไม่ได้ใช้ ต้องป้องกัน
ไฟรั่ว โดยใช้ท่อหดหุ้มไว้
หรือวิธีที่ดี กว่านั้นคือ
ซื้อจุกพลาสติก สวมปลอก
ทองแดงหรืออลูมิเนียม ใช้
คีมบีบให้แบนได้ โดยจุกขนาด
เล็กใช้กับสาย ทองแดง
1.5mm ส่วนจุกใหญ่ใช้กับ
สาย 2 เส้น

การเดินสายไฟในบ้าน ควรมีท่อหรือรางพลาสติกห่อหุ้มไว้ เพราะลำพังสายไฟเปล่าๆ มีโอกาสขาดได้ง่าย หากโดนของมีคมหรือหนูมากัดสายไฟ ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ไฟไหม้ เคยมีคนที่เดินสายเปลือยไปบนฝ้า แล้วไฟรั่วตรงห้องน้ำ ทำให้พื้นบ้านร้อนมาก พอการไฟฟ้ามาตัดไฟบ้านจึงเย็นลง จุดที่ไม่เดินท่อ อย่างน้อยควรตีกิ๊ป ผนังไม้ตีกิ๊ปแข็งแรงที่สุด แต่ถ้าผนังปูนเก่าจะตีกิ๊ปไม่อยู่ ตอกแล้วร่วน ต้องใช้สว่านเจาะแล้วตอกตะปูขนาดใหญ่ขึ้น ผนังปูนใหม่พอได้ แต่ถ้าเป็นอิฐแข็งๆหรือ ฉาบด้วยปูนซิเมนต์จะแข็ง ตีกิ๊ปลำบาก ตะปูเล็กตอกแล้วงอ ตะปูใหญ่ยังทื่อ เดินรางพลาสติกจะดีที่สุด แล้วเจาะรูใส่สกรูยึดรางกับผนัง จะมีอายุยืนยาว รางอย่าติดกาวสองหน้า เพราะไม่นานก็ลอก

สายไฟกับสายโทรศัพท์ควรจะแยกไว้ห่างกัน เพราะว่าสายไฟมีคลื่นแม่เหล็ก ไปรบกวนสายโทรศัพท์ ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้เบอร์โทรศัพท์แบบ VOIP ต่อผ่านสาย fiber optic แทนสายโทรศัพท์แบบเก่า สายไฟเบอร์สามารถอยู่ใกล้สายไฟบ้านได้เพราะ รับส่งข้อมูลด้วยแสงจึงไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็ก

ข้อควรจำในการเล่นกับไฟคือ อย่ากลัวจนขาดเหตุผล และ อย่ากล้าจนเกินไปจนขาดความระมัดระวัง ผู้หญิงมักจะกลัวไฟใหม้ เวลาออกจากบ้านต้องดึงปลั๊กทุกอย่างหรือสับสะพานไฟ ทำให้ชีวิตยุ่งยากต้องคอยดึงคอยเสียบใหม่ เพียงเพราะไม่รู้ว่า ไฟจะใหม้ก็ต่อเมื่อมีเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานอยู่  มีช่างบางคน ไม่กล้าติดปลั๊กไฟเยอะ เพราะกล้วว่าคนใช้จะใช้ไฟเกิน ทำให้ไฟใหม้ แต่ผู้ใช้กลับมีอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์จำนวนมาก จนปลั๊กไฟไม่พอ ทั้งๆที่อุปกรณ์แต่ละชิ้นใช้ไฟเพียงเล็กน้อย เมื่อรวมอุปกรณ์หลายๆชิ้น ก็ยังใช้ไฟไม่มาก เมื่อปลั๊กไฟไม่พอ จะต้องหาปลั๊กพ่วงมาใส่ ทำให้ไม่สะดวก เรื่องเช่นนี้นี้จึงเรียกว่า กลัวจนขาดเหตุผล คนที่มีเหตุผล จะคำนวณเบื้องต้นว่าใช้ไฟเท่าไหร่แล้วเผื่อไว้ อาจจะใช้สายไฟขนาดใหญ่ขึ้น ดีกว่าที่จะติดปลั๊กไฟน้อยเกินไป หรือ เวลาต้องติดตั้งแก้ไขปลั๊กไฟ ควรจะสับเบรคเกอร์ แต่ถ้าสับแล้ว จะไม่มีไฟฟ้าใช้เสียบสว่านขันน็อต หรือ เปิดไฟส่องสว่าง กรณีนี้ เราอาจไม่ต้องสับเบรคเกอร์ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำงาน พร้อมกับใส่ถุงมือและรองเท้าที่เป็นฉนวน แต่ถ้ามีเงินสามารถใช้อุปกรณ์ไร้สาย เช่น สว่านไร้สาย ส่วนกล้าจนเกินไป คือ ถ้าทำไฟแล้วไม่สับเบรคเกอร์ ไม่สวมรองเท้าที่เป็นฉนวน เกิดพลาดขึ้นมาจะโดนไฟดูดได้

เครื่องใช้ไฟฟ้า
หลักการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าให้คงทน คือ แหล่งจ่ายไฟจะต้องนิ่ง และ ใช้งานในจุดที่อุณหภูมิเหมาะสม อุปกรณ์ไฟฟ้ามักไม่ได้ออกแบบมาให้อยู่ในที่ร้อน เจออากาศร้อนๆเกิน 35 °C ไม่กี่ปีจะรวนหรือพังได้

ไฟบ้านบางทีจะไม่เท่ากับ 220 โวลต์เสมอไป ช่วงที่ไฟตกอาจจะเหลือแค่ร้อยกว่าโวลต์ ช่วงที่ไฟมาครั้งแรก อาจจะเกิน 220 โวลต์ แต่อุปกรณ์ไฟฟ้ามักจะทนไฟแกว่งได้ระดับหนึ่ง ไฟตกไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ถ้าไฟเกิน จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังเสียหายได้ วิธีป้องกันคือติดตั้ง surge protector ก่อนเข้าบ้าน ถ้าไม่มี surge protector เข้าบ้าน อุปกรณ์แต่ละชิ้นก็ต้องเสียบปลั๊กที่มี surge protector ในตัว ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็ใช้ ups แทน surge protector ผู้เขียนพบว่า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เสียบไฟบ้านโดยไม่มีตัวป้องกันไฟกระชาก เมนบอร์ดจะเสียเป็นประจำ แต่หลังจากติดตั้ง ups แล้ว ไม่เคยเสียอีกเลย เวลาไฟตกจะได้ยินเสียง ups เตือน ถ้าคอมพิวเตอร์ดับไปเอง ก็รู้ได้ทันทีว่า หม้อแปลงไฟในเครื่องเสื่อม ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว


เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้แต่แผงวงจร ก็มักจะมีความร้อนออกมาด้วย ถ้าใช้งานในจุดที่ร้อนเกินไป มีโอกาสเสื่อมเร็วขึ้น ถ้าอุปกรณ์ใดที่ต้องใช้งานในที่อากาศร้อน ควรจะเลือกยี่ห้อที่เขียน operating temperature ไว้ด้วย ว่าทำงานที่อุณหภูมิไม่เกินเท่าใด หรือใช้พัดลมเป่าช่วย


หัวหนีบสายไฟ ปากจรเข้ แบบไม่ต่อสายไฟ มีประโยชน์มากในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะใช้ต่อสายไฟชั่วคราว เพื่อทดสอบ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้มัลติมิเตอร์วัดไฟ จะใช้มือจับลำบาก สามารถใช้หนีบหัวมิเตอร์เข้ากับสายไฟได้ด้วย

หลอดไฟ

หลอดนีออน หรือฟลูออเรสเซนต์

หลอดไฟในบ้านแต่ละจุด ควรมี 2 แบบคือ สว่างมาก กับสว่างน้อย แบบสว่างมากใช้สำหรับหาของ ส่วนแบบสว่างน้อย ใช้แค่สำหรับให้เห็นทางเดินตอนกลางคืน จะช่วยประหยัดไฟลงได้ ถ้าไม่มีไฟสว่างมาก เวลาจำเป็นต้องหาของจะลำบากมาก และมักจะหาไม่เจอ เพราะมองไม่ค่อยเห็น ต้องอาศัยไฟฉายซึ่งถือลำบากแถมเปลืองถ่าน ถ้าสวิทซ์เปิดปิดอยู่จุดเดียวกัน ป้องกันการกดผิดด้วยการติดสวิทซ์ไฟสว่างมากไว้ข้างบน สว่างน้อยไว้ข้างล่าง หลอดไฟชนิดสว่างมาก ติดไว้ตรงกำแพงจะดีที่สุด เพราะถ้ามีตู้เก็บของวางติดกำแพง แล้วมีของตกไปหลังตู้ จะได้มองเห็นได้ จุดแรกที่ควรติดตั้งคือจุดที่ใช้งานบ่อยที่สุด ถ้ามีโต๊ะอาจใช้โคมไฟแบบหนีบขาโต๊ะแทน

หลอดไฟที่ดีที่สุดคือ หลอดเกลียว เพราะเก็บง่ายไม่กินที่ ซ่อมง่าย หาเปลี่ยนง่าย ราคาไม่แพง การติดตั้งราคาถูก แค่ซื้อขั้วหลอดมาต่อกับสายไฟ

หลอดฟลูออเรสเซนต์ ชนิดหลอดยาว ที่เรียกกันว่า หลอดนีออน เป็นหลอดไฟแบบเก่า ได้รับความนิยมในยุคที่หลอดขั้วยังเป็นแบบใส้ซึ่งกินไฟมาก หลอดนีออนประหยัดไฟกว่า แต่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทั้งการเดินสายไฟและต้องใช้อุปกรณ์หลายตัว ถ้าเปิดใช้บ่อยๆจะเสียง่าย ปกติเสียเพราะหลอดไฟหมดอายุ สังเกตุว่าตรงใกล้ๆขั้วจะดำ แต่ก็มีโอกาสที่จะเสียตรงส่วนอื่น คือ  สตาร์ทเตอร์ และ บัลลาสต์ วิธีซ่อมที่ง่ายที่สุดคือ ทดลองเปลี่ยนทีละตัว โดยเริ่มจากเปลี่ยนหลอดก่อน ถ้ายังไม่ติด จึงเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ ถ้ายังไม่ติด จึงสันนิษฐานว่าเป็นบัลลาสต์ นั่นคือ เราควรมีอะหลั่ยทั้ง 3 ชิ้นนี้ติดบ้านไว้ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถไปถอด จากหลอดอื่นมาทดลองดูได้ ข้อควรระวังในการเปลี่ยนหลอดฟลูออเรสเซนต์ คือ ระวังพวกขาหรือน็อตยึดฝาครอบราง ที่มักจะหลุดร่วงลงพื้นกระเด็นไปแล้วหาไม่เจอ แล้วอะหลั่ยพวกนี้ไม่มีขายแยกด้วย ต้องซื้อใหม่ทั้งราง ดังนั้น เมื่อถอดขาหรือน็อตยึดฝาครอบออกมาแล้ว จึงต้องหาที่เก็บให้ดี ถ้าหายไป ก็ต้องหาเทปมาปิด อาการของสตาร์ทเตอร์เสีย ที่ผู้เขียนเคยเจอมา จะเหมือนกับอาการหลอดเสื่อม คือ ไฟจะติดแค่ตรงแถวขั้วหลอดทั้ง 2 ข้าง ติดค้างอยู่อย่างนั้น แต่ต่างจากอาการหลอดเสื่อมตรงที่ขั้วหลอดไม่ดำ ส่วนอาการบัลลาสต์เสีย ไฟจะดับไปเลย

วิธีเดินสายหลอดไฟหลอดแอลอีดีแบบยาว

หลอดไฟแบบใหม่คือ LED (แอลอีดี) มีข้อดีกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเก่ามาก เพราะมีแค่หลอดเดียวนำแต่ละขั้วมาต่อไฟบ้านแล้วใช้ได้เลย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่อพวงอย่างพวกบัลลาสต์ สตาร์ทเตอร์ให้วุ่นวาย บางรุ่นมีรางไฟติดมาในตัว แถมกินไฟน้อยกว่ากันเท่าตัว แต่จากที่ผู้เขียนใช้มา ไม่ได้มีอายุยืนกว่าหลอดนีออนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสวิทซ์จะกั้นไว้ตรงสายไฟเข้า (L) หรือสายไฟออก (N) ก็ได้ แต่อยู่ตรง N จะบำรุงรักษาง่ายกว่า เพราะ สามารถทำให้ไม่มีไฟผ่านได้โดยไม่ต้องดับไฟในบ้าน


ปลั๊กไฟ
เต้ารับ ควรติดตั้งระดับอกจะสะดวกที่สุด เพื่อกันน้ำท่วม และเด็กมาเล่น ผู้ใหญ่จะเสียบปลั๊กง่าย ไม่ต้องก้มลงไป ระยะที่เหมาะสมที่สุดคือ 1.2 เมตรจากพื้น เพราะผู้ ที่นั่งรถเข็นสามารถเสียบได้ ถึงแม้ว่าจะมีโต๊ะบัง

เต้ารับควรมี 3 แบบ คือ
เต้ารับ ควรอยู่ห่างกันประมาณ 2 เมตร เพราะบางทีต้องซ่อมเต้ารับอันหนึ่ง เครื่องมือจะได้ไปเสียบไว้ที่เต้ารับใกล้กัน แต่ละจุดควรเสียบได้อย่างน้อย 2-4 ปลั๊ก ไม่จำเป็นต้องมากกว่านี้เพราะจะถ้าไม่ได้ใช้จะสิ้นเปลือง ถ้าวันหลังจะขยับขยายก็แต่ติดเต้ารับเพิ่ม ไม่ต้องเดินสายไฟใหม่ ถ้าเป็นไปได้ทุกจุดควรใช้เต้ารับ 3 ตาทั้งหมด ถ้าจุดไหนไม่พอใช้จึงค่อยติดเต้ารับ 2 ตาเพิ่มทีหลัง รูเต้ารับควรเสียบได้ทั้งตัวผู้แบบกลมและแบน เพราะ อุปกรณ์บางชิ้นเป็นปลั๊กแบบยุโรป คือตัวผู้เป็นแท่งกลม บางชิ้นเป็นแบบอเมริกา คือตัวผู้แบน หาความแน่นอนไม่ค่อยได้ เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรพยายามเลือกปลั๊กแบนเพราะเสียบได้ทุกที่

แต่ละห้อง ควรมีเบรกเกอร์อย่างน้อย 2 ตัว แบ่งเป็นผนังแต่ละฝั่งเผื่อเวลาต้องติดตั้งหรือแก้ไขเต้ารับ แล้วจำเป็นต้องสับเบรกเกอร์ลง จะได้มีไฟฟ้าเหลือใช้เพื่อเสียบอุปกรณ์อื่นๆ เช่น สว่น พัดลม เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ ไฟเพดานก็เช่นกัน ควรจะแยกเบรกเกอร์ เพื่อเวลาที่สับเบรคเกอร์อันหนึ่งลง จะได้มีไฟส่องสว่างไว้ใช้ เพื่อทำงานตอนกลางคืนได้ ถ้าจะให้ซ่อมง่ายที่สุด ควรติดตั้งเบรกเกอร์ทุกจุดที่เริ่มมีการใช้ไฟฟ้า จะเปลี่ยนจากเบรกเกอร์เป็นสวิทซ์เปิดปิดไฟก็ได้ แต่จะสับสนกับสวิทซ์ไฟปกติ

เต้ารับที่ดี เมื่อเสียบบ่อยๆแล้วต้องไม่หลวมง่าย และหน้ากากไม่บุ๋มลงไป เต้ารับที่ราคาถูกจะใช้ทองแดงบางๆ ที่อ้าแล้วไม่มีสปริงรองรับ พอเสียบปลั๊กเข้าออกบ่อย จึงอ้าออกถาวรทำให้เสียบครั้งต่อไปแล้วหลวม บางยี่ห้อใช้วิธียึดเต้ารับกับหน้ากากด้วยแง่งพลาสติกบางๆเล็กนิดเดียว เจอกดแรงๆทีเดียวก็หักแล้ว หรือใช้ไปสัก 10 กว่าปีพลาสติกกรอบหักเอง เต้ารับที่ดีด้านหลังควรจะยันไว้กับผนัง หรือถ้าลอยห่างจากผนัง ควรจะยึดกับหน้ากากด้วยการขันสกรูหลายๆตัว ไม่ใช้พลาสติกรับแรงกด นอกจากนี้ สกรูยึดหน้ากากปลั๊กไฟ อย่าใช้ปลายแหลม เพราะสกรูอาจจะไปแทงสายไฟขาด ทำให้ไฟรั่วได้ ควรใช้ปลายหัวตัด

เต้ารับแต่ละตัวที่อยู่จุดเดียวกันควรอยู่ห่างกันพอสมควร เพื่อเวลาเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้ว จะได้ไม่กินที่ปลั๊กตัวอื่น จนทำให้เสียบปลั๊กอีกตัวหนึ่งที่อยู่ใกล้กันไม่ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยกับพวกที่มีตัวแปลงไฟ อย่างเช่น ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือปลั๊กแปลงขา เต้ารับแต่ละจุด ควรจะมีอย่างน้อย 2 ตัว เผื่อตัวหนึ่งเสีย จะมีอักตัวเสียบใช้ได้
การร้อยสายไฟ ใส่เต้ารับ ปกติข้างเต้ารับ จะทำรอยประให้ใช้คีมหักได้ง่าย ถ้าจุดไหนไม่มีรอยประ สามารถใช้คีมหักได้เช่นกัน แต่จะไม่ค่อยเรียบร้อย ถ้าจะให้เรียบสามารถใช้ใบเลื่อยหรือเครื่องเจียรลูกหมู เจาะรูให้พอดีใหญ่กว่าสายอย่างน้อยเท่าตัวเผื่ออนาคตจะร้อยสายเพิ่มอีกเส้น อย่าเจาะรูใหญ่เกินไป มิฉะนั้น จิ้งจกอาจเข้าไปทำรัง ถ้ากลัวมดเข้าไปทำรัง ให้ใช้กาวอุด

สวิทซ์เปิดปิดไฟ ควรอยู่ใกล้ๆกับหลอดไฟ อย่าไปรวมกันที่จุดเดียว เพราะ ปกติเวลาเราอยู่จุดไหน ต้องการแสงสว่างจุดนั้น จะได้กดสวิทซ์ใกล้ๆกัน ไม่ต้องเดินไปไกลๆซึ่งอาจจะมืด ทำให้เดินสะดุด การใช้สวิทซ์ที่รวมกันอยู่จุดเดียวกัน จะสับสนง่ายว่า สวิทซ์อันไหนเป็นของหลอดไฟตัวไหน ด้วยเหตุนี้ แต่ละจุดควรจะมีสวิทซ์เปิดปิดไฟแต่ตัวเดียว และไม่ควรมีปลั๊กเสียบไฟอยู่ใกล้ เพราะเวลามืดๆแล้วเอื้อมมือไปเปิดไฟ อาจจะคลำไปโดนปลั๊กไฟที่เสียบอยู่ไม่แน่น แล้วโดนไฟดูดได้

นอกบ้านควรมีเต้ารับไว้ด้วย เผื่อทำงานนอกบ้าน เช่น ดูดฝุ่นแอร์ ซ่อมรถ งานบางอย่างทำในบ้านไม่ได้เพราะต้องการอากาศปลอดโปร่ง เช่น บัดกรี

ใต้เต้ารับ ควรมีตะขอแขวนสายไฟที่ไม่ได้ใช้บ่อย เวลาจะใช้จะได้หาง่าย


โทรศัพท์บ้าน
โทรศัพท์ติดผนัง เวลานั่งเก้าอี้แล้ว ควรอยู่ในระดับสายตา เพราะว่า เวลานั่งโต๊ะ ก็จะได้สามารถกดโทรศัพท์หรือรับโทรศัพท์ได้เลย ไม่ต้องยืน และ จะได้สามารถยืนจัดการกับเครื่องด้านบน เช่น เปลี่ยนสายโทรศัพท์ เสียบปลั๊กไฟ ปิดเปิดเสียง  ถ้าติดโทรศัพท์ไว้สูง จะต้องใช้เก้าอี้ปีน แต่ไม่ควรติดโทรศัพท์ต่ำเกินไป เพราะ สายหูฟังจะห้องลงมาวางไว้บนโต๊ะ อาจโดนโต๊ะหนีบกับกำแพงได้

บ้านที่มีโทรศัพท์หลายเบอร์ กล่องใส่สายโทรศัพท์หน้าบ้าน ควรจะเขียนเบอร์โทรติดสติ๊กเกอร์แปะไว้ เผื่อเวลาซ่อมเอง หรือ บริษัทโทรศัพท์มาซ่อม จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไล่สาย ถ้าเขียนแปะไว้ในกล่องที่มีฝาครอบ จะไม่มีปัญหาเรื่องจาง แต่ถ้าเขียนแปะไว้บนฝากล่องด้านนอก จะโดนลม โดนความชื้น ทำให้จางง่าย ต้องแปะเทปกาวใสทับอีกชั้น ควรแปะไว้ทั้งบนฝากล่องทั้งด้านนอกและในกล่อง เผื่อตรงไหนสติ๊กเกอร์ลอก แต่ถ้าฝากล่องด้านนอกตากฝน ก็ไม่จำเป็นต้องแปะไว้ แปะด้านในอ่างเดียวพอ

บัดกรี
บัดกรีมี 2 ประเภทคือ งานอิเลกทรอนิกส์ และ งานใหญ่ๆ

วัตต์ต่ำจะร้อนช้า วัตต์สูงจะร้อนเร็ว วัตต์สูงไม่ได้หมายความว่าจะร้อนมากกว่า แต่วัตต์ต่ำ จะใช้เวลานานกว่าที่จะละลายวัตถุ งานเล็กๆควรเลือกหัวเล็กๆ อย่างเช่นแผงวงจร หัวใหญ่เหมาะสำหรับงานเชื่อมวงจรขนาดใหญ่ๆ

งานอิเลกทรอนิกส์ ใช้หัวแร้งแบบปากกา เพราะแบบปากกา ออกแบบมาสำหรับงานที่ต้องการความแม่นยำสูง จะร้อนเฉพาะที่หัว งานเล็กๆ พื้นที่ถ่ายเทความร้อนน้อย ควรใช้ 10-20W ถ้าเกินกว่านี้ ต้องรีบจิ้มรีบดึงออก มิฉะนั้นจะทำให้ชิ้นงานละลาย ถ้าต่ำกว่านี้ ไม่พอที่จะใช้กับอุปกรณ์ขนาดใหญ่ บัดกรีที่ดีควรจะบอกอุณหภูมิของหัว

หัวแร้งเกิน 30w จะใช้กับชิ้นงานขนาดใหญ่ เช่น ลวดขนาดใหญ่ เพราะ watt สูงจะถ่ายเทความร้อนไปยังชิ้นงานได้เร็ว งานหยาบควรใช้แบบปืน

การทำความสะอาดหัว ควรเช็ดกับฟองน้ำเปียก หรือ เช็ดกับฝอยทองเหลือง

การจับชิ้นงานอิเลกทรอนิกส์หรือต่อสายไฟ ใช้คลิปหนีบ มีแท่นพร้อมคลิปขาย หรือจะทำเองก็ได้

บัดกรีส่วนใหญ่ไม่มีสวิทซ์เปิดปิด ให้เสียบกับสวิทซ์เปิดปิดแยกต่างหาก จะใช้แบบแท่งหรือแบบปืนขึ้นอยู่กับงาน ถ้าเป็นแผ่นวงจรวางราบ ใช้แบบแท่งถนัดกว่า ถ้าตั้งฉาก ใช้แบบปืนจะถนัดกว่า

วิธีการบัดกรีคือ ใช้หัวบีดกรี ชี้กับชิ้นงาน เช่น ถ้าเชื่อมสายไฟต่อกับแผงวงจร ให้เอาหัวบัดกรีกดสายไฟไว้กับแผงวงจร พอเริ่มร้อน เอาตะกั่วจิ้มลงไปที่หัวบีดกรี ตะกั่วจะละลายคลุมจุดนั้นไว้ แล้วค่อยถอนหัวบัดกรีออกมา

เหล็กและสนิม
แม่เหล็กใช้ทดสอบเหล็ก อย่างเช่น สกรูที่ยึดกับวัสดุต่างๆ เพราะ แม่เหล็กจะดูดติดเหล็ก แต่ไม่ดูดอลูมิเนียมหรือสเตนเลส เครื่องใช้บางอย่าง อาจมีแกนเหล็กซ่อนอยู่ข้างใน แล้วหุ้มด้วยอลูมิเนียมหรือพลาสติก ซึ่งสามารถใช้แม่เหล็กทดสอบได้ ปกติปลายไขควงจะเป็นแม่เหล็กอยู่แล้ว ใช้ยาวหน่อยมีแรงดูดเห็นได้ชัด ไม่จำเป็นต้องซื้อแม่เหล็กแยก

วิธีกำจัดสนิมแบบใช้แรง คือ ใช้กระดาษทรายขัดออก ส่วนแบบใช้สมองคือ ใช้กรด phosphoric จะทำปฎิกริยากับสนิมเหล็กสีแดง กลายเป็น iron phosphate สีดำ ซึ่งจะเคลือบผิวไว้ป้องกันสนิมต่อไปได้

สกรูขึ้นสนิม ใช้เครื่องเจียรลูกหมูตัด ตรงรอยต่อระหว่างสกรูกับตัวยึด พอดึงตัวยึดออกมาแล้ว เหลือหัวสกรูคาอยู่ ให้ตัดหัวสกรูออกครึ่งหนึ่ง หัวสกรูจะกลายเป็นเหลี่ยม สามารถใช้คีมจับหมุนได้แล้ว ค่อยๆไขออกมา

เครื่องเจียร หรือลูกหมู
ใช้แบบปรับรอบได้จะดีมาก เพราะว่ารอบต่ำๆ ใช้ตัด หรือใส่กระดาษทรายขัดสิ่งต่างๆได้ รอบสูงจะใช้ใส่ใบเจียร ขัดสิ่งแข็งๆได้เร็วขึ้น

เครื่องปรับอากาศ
บ้านที่ดี ควรออกแบบมาโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ(แอร์) อาศัยอากาศธรรมชาติถ่ายเทดี อยู่แล้วเย็นสบาย  เพราะนอกจากแอร์จะเปลืองค่าไฟแล้ว ยังต้องได้รับการบำรุงรักษาอย่างดีและบ่อยๆ ยิ่งเก่ายิ่งปวดหัว ทั้งเรื่องของฝุ่น น้ำหยด แอร์เสีย ฯลฯ ยกตัวอย่างแค่น้ำหยดอย่างเดียว ต้องถอดอะหลั่ยฝาครอบออกทั้งหมดเพียงเพื่อจะทำความสะอาดท่อ บางทีประกอบเสร็จ แกนพลาสติกยึดครีบหลุด แล้วไม่รู้จะใส่กลับไปยังไง ถ้าโชคดีที่บ้านมีแอร์เหมือนกันอีกตัว ก็ต้องถอดอีกตัวมาเทียบ บางทีดึงท่อน้ำทิ้งแอร์ออกแล้วท่อหัก เพราะทำจากพลาสติก พอหักแล้วเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่รู้จะถอดมาเปลี่ยนอย่างไร ฯลฯ ถ้าห้องออกแบบมาให้ใช้แอร์อย่างเดียว อากาศไม่ถ่ายเท เวลาแอร์เสีย หรือต้องบำรุงรักษา จะเป็นนรกมาก เพราะอากาศในห้องจะร้อนมาก ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ผู้ผลิตแอร์แต่ละยี่ห้อ ออกแบบมาแย่ ถอดประกอบเพื่อซ่อมบำรุงลำบาก เพื่อที่จะให้เรียกช่างของเขามา แล้วโดนบริษัทโขกทั้งค่าอะหลั่ยและค่าแรง ถ้าโชคดีถอดเองได้ เปลี่ยนอะหลั่ยแต่ละทีก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ราคาถูกๆ ไม่เหมือนพัดลมหรือมุ้งลวดที่ดูแลง่าย หาเปลี่ยนง่าย ราคาไม่แพง

วิธีทำให้บ้านเย็นโดยไม่ต้องใช้แอร์ คือ ปลูกต้นไม้บังแดด หรือติดพัดลมดูดอากาศออก โดยติดพัดลมไว้บนที่สูง ตรงกำแพงฝั่งที่อากาศร้อนกว่า แล้วติดมุ้งลวดไว้ที่ต่ำ ตรงกำแพงฝั่งที่อากาศเย็นกว่า ซึ่งได้แก่ฝั่งที่มีต้นไม้เยอะ

การติดแอร์และเดินท่อแอร์ ควรทำเอง หรืออย่างน้อยก็ต้องหาตำแหน่งติดตั้งและเดินท่อไว้ให้เรียบร้อย มิฉะนั้น ถ้าช่างมาทำจะชุ่ยมาก เช่น ท่อน้ำทิ้งไม่เอียงพอทำให้ตันง่ายแล้วน้ำหยด หรือ ปล่อยท่อน้ำทิ้งลงในจุดที่ไม่เหมาะสม ทำให้น้ำทิ้งจากท่อแอร์ ไหลเลอะเทอะ ทิ้งไว้นานๆจะกลายเป็นตะไคร่น้ำ ผมเคยเห็นช่างติดแอร์ที่ทำชุ่ยถึงขนาดหยดท่อน้ำทิ้งลงพื้นบ้านในห้องเลยที เดียว เจ้าของบ้านต้องเอากาละมังมารองน้ำไว้ตลอดเวลา บางที่ติดคอยล์ร้อนไว้ในบ้าน พอร้อนมากๆเลยพัง

วิธีติดแอร์ด้วยตนเองไม่ให้มีปัญหาน้ำหยด ควรเริ่มจากเจาะรูกำแพงให้เอียงมากที่สุดที่น้ำทิ้งจะไหลได้สะดวก เสร็จแล้วนำคอยล์เย็นมาวางทาบกับกำแพงโดยยังไม่ต้องยึด ให้คนช่วยจับวางคอยล์ให้ได้ระดับ แล้วใช้ดินสอลากเส้นรอบวงของคอยล์เย็นลงบนกำแพง หลังจากนั้นถอดคอยล์เย็นออก เพื่อวัดจุดติดตั้งแผงเหล็กด้านหลังคอยล์เย็น เทียบกับแนวดินสอบนกำแพง ซึ่งขั้นตอนการวัดขนาด จะทำตอนช่างมาติดตั้ง หรือจะขนคอยล์เย็นมาติดตั้งเองก่อน แล้วรอช่างมาทำส่วนที่เหลือก็ได้


ช่างแอร์จะบอกให้ติดแอร์ตัวใหญ่ๆ เช่น 2 ตัน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแอร์ตัวใหญ่ จะดีแค่ตอนเปิดใหม่ ห้องจะเย็นเร็ว แต่พอเริ่มเย็นแล้วจะตัดบ่อย ทำให้เปลืองไฟ เหมือนรถที่วิ่งๆหยุดๆ จะเปลืองน้ำมันกว่ารถที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ เพราะ พลังงานจะใช้มากตอนที่เริ่มหมุน


วิธีที่ถูกต้องคือ ต้องติดแอร์ตัวเล็ก 2 ตัว ตัวหนึ่งพอที่จะใช้ในช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก แล้วแอร์ไม่ตัด ถ้าร้อนมากก็เปิด 2 ตัวพร้อมกัน อย่าคำนวณขนาดแอร์จากขนาดห้อง เพราะมีปัจจัยมาเกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น ห้องชั้นบนหรือห้องที่ผนังตากแดดจะร้อนกว่าห้องที่ไม่โดนแดด และยังมีเรื่องของ อุณหภูมิภายนอก บางวันอากาศข้างนอกร้อน บางวันอากาศข้างนอกเย็น ดังนั้น สำหรับห้องทั่วๆในบ้าน (ไม่ใช่พวกโกดัง) ควรเริ่มจากติดแอร์ตัวเล็กที่สุดก่อนคือ 9,000 btu แล้วทดลองเปิดให้อุณหภูมิต่ำสุด และเปิดพัดลมแอร์ให้แรงที่สุด เพื่อที่จะดูว่า ในหน้าร้อนที่อากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิห้องสามารถลดลงไปต่ำสุดเท่าไหร่ และในตอนกลางคืนหรือหน้าหนาว อุณหภูมิลดลงต่ำสุดได้เท่าไหร่ ถ้าหน้าร้อนที่สุด แล้วหนาวกว่าอุณหภูมิที่ต้องการ แสดงว่าแอร์ขนาดนี้พอแล้ว ควรติดเพิ่มอีกตัวขนาดเท่าเดิม แต่ถ้าหน้าร้อนที่สุดแล้ว ยังไม่รู้สึกหนาวถึงอุณหภูมิที่ต้องการ จึงค่อยติดแอร์ขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มจาก 12,000 btu ก่อน แล้วทดลองในหน้าร้อนที่สุดอีกครั้ง ถ้ายังไม่รู้สึกหนาว ก็เปิด 2 ตัวเลย หรือถ้ามีเงินจะติดตัวใหญ่ขึ้นอีกเป็น 18,000 btu ก็ได้  สาเหตุที่ต้องติดแอร์หลายตัว ขนาดต่างๆกัน มีข้อดีหลายอย่าง
เรื่อง ที่สำคัญมากในการติดตั้งแอร์ คือ ท่อน้ำทิ้งเริ่มจากคอยล์เย็น จะต้องลาดลงมากพอที่น้ำและฝุ่นจะไม่ตกค้างอยู่ในท่อ เพราะน้ำท่อนี้จะไหลออกด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่มีแรงดันอะไรมาช่วยเลย ช่างที่ไม่เก่งจะติดตั้งให้ท่อนี้เอียงไม่มากพอ ทำให้ท่อตันง่าย มีน้ำหยด ต้องเสียเวลาถอดมาล้างบ่อยๆ ถ้าไม่ถอดมาล้าง น้ำก็จะหยดลงพื้น พื้นไม้จะมีปลวกตามมา พื้นปูนจะมีเชื้อราขึ้นที่ฝ้าด้านล่าง ทางเดินท่อน้ำทิ้งแอร์ ควรลาดลงตลอดทาง เพื่อให้น้ำทิ้งไหลได้สะดวก อย่ายกขึ้นหรือตกท้องช้าง มิฉะนั้นจะกลายเป็นจุดที่ขี้ฝุ่นไปสะสม ทำให้ท่อน้ำทิ้งตัน พอท่อน้ำทิ้งตันแล้ว จะมีน้ำหยดออกมาจากคอยล์เย็น ถ้าน้ำหยดออกมาตรงรอยต่อระหว่างคอยล์เย็นกับท่อน้ำทิ้ง แสดงว่าใช่แน่นอน ถ้าตันมากๆจะไม่มีน้ำหยดออกที่ปลายท่อน้ำทิ้ง ลองถอดท่อน้ำทิ้งออกมาจากคอยล์เย็น จะมีน้ำขังอยู่และไหลออกมาจำนวนมาก วิธีแก้ปัญหาให้น้ำไหลผ่านได้คือ ใช้สายยางขนาดใกล้เคียงกับขนาดในท่อน้ำทิ้ง แหย่เข้าไปให้ลึกที่สุด ให้ถึงตรงจุดที่ตกท้องช้างนั้น ส่วนที่แหย่ไม่ถึง ให้ใช้ blower เป่าเข้าไปในรูเพื่อไล่ฝุ่นออก จะใช้ blower อย่างเดียวก็ได้ แต่บางครั้งอาจมีพวกเมือกที่เป่าออกไม่หมด หรือจะใช้สายยางแหย่อย่างเดียวก็พอแก้ขัดได้ เพราะฝุ่นมักจะขังอยู่ตรงท่อแถวๆใกล้ๆแผงคอยล์เย็นมากกว่า สายยางขนาดพอดีกับท่อ จะดีกว่ากระดูกงู เพราะ สามารถทะลวงแล้วดึงฝุ่นออกมาได้ด้วย แต่การจะแก้ปัญหาน้ำหยดให้หายขาด ต้องแยงทั้งสองฝั่งคือ ฝั่งท่อน้ำทิ้งที่ต่อจากเครื่อง กับฝั่งคอยล์เย็นในเครื่อง เพราะบางทีฝุ่นไม่ได้ขังอยู่ในท่อน้ำทิ้งเพียงอย่างเดียว แต่จะขังอยู่ในคอยล์เย็นตรงเหนือท่อน้ำทิ้งด้วย ซึ่งท่อในคอยล์เย็นจะเป็นท่อกลวง พอน้ำไม่ไหลลงมา จึงไหลกลับขึ้นไปแล้วไหลออกมาทางด้านหน้าเครื่อง แล้วหยดลงพื้น

การใช้แอร์ที่ถูกต้อง ควรจะเปิดพัดลมแอร์ให้แรงที่สุด แล้วปรับอุณหภูมิเอา สาเหตุที่ต้องเปิดพัดลมแอร์ให้แรงที่สุดนั้น คนที่เรียนเรื่องแอร์มาจะรู้ว่าหลักการทำงานของแอร์คือ ใช้พัดลมเป่าความเย็นจากคอยล์เย็นออกมา ดังนั้นถ้าเราเปิดพัดลมหรี่ ความเย็นก็จะสะสมอยู่ที่คอยล์เย็น ซึ่งไม่ดีเลย เพราะ ทำให้น้ำเกาะ ซึ่งหมายถึงคอยล์เย็นสกปรกเร็ว และ ทำให้แอร์ตัดบ่อย ซึ่งหมายถึงกินไฟมากขึ้นและ compressor พังเร็วขึ้น

ถ้าต้องการให้ความเย็นกระจายทั่วห้อง ไม่กระจุกอยู่ใกล้ๆแอร์ ควรหาพัดลมมาเปิดช่วยอีก ทำแบบนี้แค่เปิดแอร์แค่ 28-29 องศาเซลเซียสก็เริ่มหนาวแล้ว


คอยล์เย็นใช้ไปนานๆ จะเริ่มตัน ตอนซื้อมาใหม่ๆ ให้สังเกตุว่า เปิดพัดลมแรงที่สุดแล้ว ลมไปไกลแค่ไหน ถ้าใช้ไปแล้วลมไปไม่ไกลถึงจุดนั้น แสดงว่ารังผึ้งเริ่มตัน ต้องล้าง

วิธีใช้แอร์โดยที่ไม่ต้องล้างคอยล์เย็นบ่อยๆ คือ ให้ดูดฝุ่นในห้องให้เกลี้ยง และ ก่อนที่จะปิดแอร์ ควรเปิด mode พัดลมอย่างเดียว จนกระทั่งลมเย็นหมดไป สังเกตุว่าไม่มีน้ำหยดออกมาทางท่อน้ำทิ้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งถึง 1 ชม. จึงค่อยปิดหรือตั้งเวลาปิดอัตโนมัติ (แต่ไม่ใช่ปรับอุณหภูมิให้สูงขึ้น เพราะจะเปิดให้สูงสัก 30 องศาเซลเซียส คอยล์เย็นก็ยังมีน้ำเกาะ) การทำเช่นนี้จะทำให้คอยล์เย็นไม่มีน้ำเกาะ ซึ่งน้ำที่เกาะนี้เองจะทำให้ฝุ่นเกาะเป็นขี้โคลน พอใช้ไปสักพัก ลมก็จะผ่านคอยล์เย็นไม่ได้ ไม่ช้าแอร์จะไม่เย็น เพราะคอยล์เย็นตัน ทำให้ระบายความเย็นไม่ดี และลมอ่อน แต่ถึงจะใช้วิธีไล่น้ำด้วยการเปิด mode พัดลมก่อนปิด ใช้ไปนานหลายๆปี อาจจะมีฝุ่นเกาะ จึงควรจะล้างคอยเย็นบ้าง นานๆครั้ง แต่ถ้าน้ำหยดจากคอลย์เย็นตรงบริเวณอื่นที่ไม่ใช่ตรงรอยต่อท่อน้ำทิ้ง สันนิษฐานได้ว่าฝุ่นไปอุดตันตรงคอยล์เย็น กรณีนี้จำเป็นต้องล้างคอยล์เย็น

การล้างคอยล์เย็น ควรทำเมื่อลมอ่อนหรือแอร์ไม่ค่อยเย็น วิธีล้างง่ายๆคือ ถอดแผ่นกรองฝุ่นด้านหน้าออกมาล้าง จะช่วยให้อากาศไหลผ่านได้ง่ายขึ้น ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าในรังผึ้งตัน เครื่องดูดฝุ่นจะช่วยได้เล็กน้อย เพราะส่วนที่ตันมักจะอยู่ลึกและเป็นโคลนแข็ง วิธีกำจัดฝุ่นออกจากรังผึ้งได้สะอาดที่สุด คือใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง โดยขั้นแรกก่อนล้างรังผึ้งให้สับสะพานไฟ แล้วป้องกันะละอองน้ำที่กระเด็นไปรอบๆบริเวณ การล้างด้วยแรงดันน้ำประปาเพียงอย่างเดียวจะไม่สะอาด ต้องใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจึงจะล้างโคลนออกได้ ถ้าเป็นช่างแอร์จะใช้ผ้าพลาสติกยึดไว้รอบๆคอยล์เย็น แล้วฉีดให้น้ำไหลลงมาตามผ้าลงมาในถัง วิธีที่สะดวกกว่าการปูผ้าคือ ทำจุดยึดถาดและรางระบายน้ำถาวรไว้ใต้คอยล์เย็น ส่วนวิธีที่ง่ายกว่าแต่ไม่ค่อยสะอาดแถมราคาแพงคือ ฉีดน้ำยาโฟมกัดฝุ่นออก ส่วนมากเป็นสารล้างคราบมันผสมสารเคมีต่างๆ ใช้ในกรณีที่ไม่มีปืนฉีดน้ำแรงดัน เวลาฉีดต้องมีผ้าปิดจมูก และใส่แว่นตาป้องกันละอองสารเคมีโดนหน้าหรือเข้าจมูก น้ำยาบางตัวผสมโซดาไฟซึ่งนอกจากจะกัดผิวหนังแล้ว ยังกัดอลูมิเนียมทำให้ท่อรั่วเป็นรูเข็มในภายหลังด้วย (ลองใส่น้ำโซดาไฟลงในหม้ออลูมิเนียมจะเห็นฟอง) แม้แต่ท่อทองแดงยังโดนกัดได้ ที่จริงสารเคมีอื่นๆที่เป็นกรดหรือด่างสามารถกัดกร่อนโลหะได้หมด แต่ผู้ขายมักจะไม่ค่อยบอกส่วนผสมเพราะกลัวโดนเลี่ยนแบบ วิธีใช้ดูจากข้างกระป๋องม้กจะแนะนำว่าให้ใช้ขวดสเปรย์ใส่น้ำฉีดก่อน ซึ่งต้องฉีดมากๆหน่อยจึงจะได้ผล (เหมือนใช้ผงซักฟอกล้างสิ่งของทั่วไป) ใช้หัวฉีดน้ำแบบเป็นละอองต่อกับก๊อกจะสะดวกขึ้น พอเปียกหมดแล้วจึงฉีดโฟมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ให้โฟมไหลลงไปกัดละลายฝุ่น ตามระยะเวลาเขียนบอกข้างกระป๋อง จึงฉีดน้ำล้างอีกรอบ เสร็จแล้วต้องเปิดระบายอากาศจนกลิ่นสารเคมีหายไป เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุชภาพ

จุดที่ติดแอร์ควรคำนึงถึงการบำรุงรักษาเป็นสำคัญ ควรมีที่ว่างรอบๆ สำหรับขันสกรูและล้าง โดยเฉพาะคอยล์ร้อน ที่ต้องขันสกรูรอบด้าน อย่าวางด้านใดชิดกำแพงเกินไป จุดที่วางคอยล์ร้อน ควรมีประตูหรือหน้าต่างเปิดเข้าออกจากในห้อง เพื่อจะทำความสะอาดจากในห้องได้ โดยไม่ต้องออกไปนอกระเบียงให้เลอะ คอยล์เย็นควรติดบริเวณเหนือประตูหรือหน้าต่าง เวลาล้างคอยล์เย็นจะได้เทน้ำทิ้งได้ง่าย ไม่ควรชิดเพดานเกินไป เพราะจะล้างลำบาก ควรอยู่ห่างจากเพดานพอที่จะสอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูงชนิดสั้นเข้าไปล้างครีบได้ เพราะส่วนที่ฝุ่นเยอะที่สุดคือครีบด้านบน การล้างแอร์ต้องใช้น้ำ ทุกจุดในบ้านที่ติดแอร์ ควรเดินท่อและก๊อกน้ำไว้ตรงระเบียง สามารถต่อสายยางมาใช้ฉีดได้ในกรณีที่ไม่มีปืนฉีดน้ำแรงดัน แต่ปัญหาคือ น้ำประปาของไทย หาความแน่นอนไม่ได้ บางวันอาจจะมีแรงดันน้ำขึ้นไปไม่ถึงชั้นสอง หรือขึ้นไปถึงแต่แรงดันน้ำไม่พอที่จะฉีดออกมา บางทีก็มีบ้านอื่นใช้น้ำอยู่ ทำให้น้ำไหลเอื่อย ถึงแม้จะเป็นบ้านชั้นเดียว แต่คอยล์ร้อนก็มักจะติดแถวๆชั้นสอง ผู้เขียนเคยเจอมาด้วยตนเอง ขณะล้างแอร์ชั้นสองค้างอยู่ แล้วน้ำก๊อกไหลเอื่อยจนหยุดไหลไป 

จุดติดตั้งแอร์ติดผนัง (wall type) ที่ยื่นออกมาจากกำแพงสัก 3-4 นิ้วจะช่วยเวลาที่ท่องน้ำทิ้งตัน สามารถถอดท่อออกมาล้างฝุ่นในท่อได้ง่ายขึ้น

เครื่องฉีดน้ำล้างแอร์บ้าน ที่ดีควรปรับแรงดันน้ำได้ แรงดันไม่เกิน 130 บาร์ ฉีดตรงๆแนวเดียวกับครีบจะไม่ทำให้ครีบล้ม แต่แรงระดับ 100 บาร์ถ้าฉีดเฉียงๆจะล้มแน่นอน แรงดันขั้นต่ำที่สามารถฉีดเฉียงได้ไม่ทำให้ครีบล้ม อยู่ที่ประมาณ 50 บาร์ ลองฉีดน้ำโดนมือแล้วไม่เจ็บ แสดงว่าถ้าฉีดโดนครีบแอร์ ก็จะไม่ทำให้ครีบล้ม แต่จะล้างโคลนไม่ค่อยออกจากครีบ ต้องใช้ระดับใกล้ๆ 100 บาร์จึงจะเริ่มล้างออก เครื่องฉีดน้ำแบบเสียบไฟตั้งพื้น ส่วนใหญ่จะมีแรงดันตั้งแต่ 100 บาร์ขึ้นไป มีน้อยมากที่จะมีแรงดันต่ำกว่านั้น ซึ่งเป็นแบบปรับแรงดันได้ ปืนฉีดน้ำแบบไร้สายใช้แบตเตอรี่ลิเธียม มีแรงดันตั้งแต่ 10-90 บาร์ แต่ข้อเสียคือปรับแรงดันไม่ได้ เครื่องฉีดน้ำทุกแบบสามารถดูดน้ำจากถังได้โดยตรง หรือจะต่อจากสายยางก็ได้ ถ้าเลือกได้ควรเลือกแบบตั้งพื้นปรับแรงดันได้จะดีที่สุด เก็บเครื่องใส่ตะกร้าเจาะรูด้านข้างไว้ร้อยสายยาง จะพกพาสะดวกมาก ปืนฉีดน้ำต้องเป็นปืนสั้น และ รัศมีการกระจายของน้ำจะต้องไม่กว้างเกินไป มิฉะนั้นจะทำเปียกทั้งห้อง เครื่องฉีดน้ำราคาถูกๆแบบเสียบไฟ ต้องระวังเคยมีคนใช้แล้ว โดนไฟดูดตาย

การล้างคอยล์ร้อน จะง่ายกว่าคอยล์เย็น เพราะมีแต่ฝุ่นแห่งๆบังลมเข้าทางด้านหลัง แค่ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดก็สะอาดได้ อาจตามด้วยฉีดน้ำจากก๊อก แล้วใช้แปรงขัดตามแนวยาวของครีบ เพื่อกันครีบล้ม แต่ถ้าจะให้สะอาดและรวดเร็ว ควรใช้ปืนฉีดน้ำแรงด้น โดยเริ่มจากสับสะพานไฟ ถ้าด้านหลังมีฝุ่นเกาะมาก ควรถอดฝาครอบด้านบนแล้วฉีดน้ำจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อไล่ฝุ่นออกด้านหลัง บางจุดสามารถฉีดจากบนลงล่างไม่ให้โดนใบพัดลมได้เลย บางจุดทำไม่ได้ต้องฉีดตรงช่องว่างระหว่างใบพัดลม แต่ถ้าฝุ่นน้อยสามารถฉีดจากข้างหลังไล่ฝุ่นไปข้างหน้าได้เลยโดยไม่ต้องถอดฝา ครอบด้านบน แต่ควรพยายามฉีดจากบนลงล่างเพื่อป้องกันแรงดันน้ำโดนใบพัดลมเสียหาย เสร็จแล้วทิ้งไว้สัก 2 ชม ให้น้ำแห้ง หรือ ใช้เครื่องเป่าลมช่วย
ถ้าคอยล์เย็นอยู่ใกล้ๆกับคอยล์ร้อน ก็ไม่จำเป็นต้องมีก๊อกในบ้าน เพราะถ้าน้ำหกจะต้องทำความสะอาด อาศัยใช้ก๊อกจากนอกหน้าต่างดีกว่า สำคัญกว่าก๊อกจะต้องอยู่ใกล้ๆกับคอยล์เย็นด้วย และที่แขวนหัวฉีดน้ำนอกหน้าต่าง ก็ต้องอยู่ใกล้ๆกับคอยล์เย็นด้วย เวลาไม่ใช้ชั่วคราวจะได้แขวนไว้นอกบ้าน ไม่ต้องแขวนไว้ในบ้านให้มีน้ำหกเลอะเทอะ

ถ้าคอยล์ล้ม ต้องใช้หวีแต่งรังผึ้ง ซึ่งในทางทฤษฎีคือ วัดระยะห่างของคอยล์ว่ากี่ มม. แล้วไปเทียบกับหวี แต่ในทางปฎิบัติ หวีที่วางขายอยู่ มักจะใช้งานจริงกับแอร์บ้านไม่ได้ เพราะฟันหนาเกินไปจนลงร่องคอยล์ไม่ได้ ฝืนดันเข้าไปจะทำครีบล้ม ต้องใช้วิธีดัดแปลงวัสดุอื่นมาใช้แทน อย่างแผ่นเหล็กหรือพลาสติกบางๆ ค่อยๆเรียงทีละครีบ เวลาซื้อหวีจึงต้องใช้วิธีนำแผ่นที่ขนาดบางพอดีกับคอยล์ไปเทียบแทน

เวลาแอร์ไม่เย็น ถ้าอยากรู้ว่าน้ำยาแอร์ปกติหรือไม่ จะใช้วิธีซื้อท่อวัดความดันแอร์มาเสียบเข้าไปตรงคอยล์ร้อน ซึ่งพอดึงตัววัดออก จะมีน้ำยาแอร์รั่วออกมาส่วนหนึ่ง ทำให้แรงดันของน้ำยาแอร์ตกลงไปอีก

แอร์อินเวอร์เตอร์เป็นแอร์ที่ดีที่สุด ผู้เขียนใช้แล้วเย็นปกติดี อุณหภูมิห้องคงที่ ไม่ขึ้นๆลงๆ พวกที่ประมาณบอกว่าแอร์อินเวอร์เตอร์ไม่เย็น ไม่ฉ่ำ เข้าใจว่าเป็นพวกปรับแอร์ไม่เป็น อาจจะปรับโหมดผิดหรือเปิดพัดลมเบาไป

โดยส่วนตัวผู้เขียน ไม่เคยเจอเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไหนดีจริงเลย ที่บ้านของผู้เขียนใช้ไดกิ้นอินเวอร์เตอร์ 1ตัน เปิดทั้งวันทั้งคืน ไม่เคยมีปัญหา เปิดมาครบ 10 ปีแล้ว จึงเริ่มมีเสียงอี๊ดๆที่คอยเย็น แกะเองไม่เป็นเพราะคู่มือไม่ได้บอกไว้ จึงโทรไปถามบริษัท ช่างมีความรู้ดี และเข้ามาซ่อมให้ตามนัดภายในไม่กี่วัน ช่างเล่าว่า ปกติแอร์อินเวอร์เตอร์จะเสียบ่อย คาดว่าเกิดจากไฟตก ทำให้บอร์ดรวน (แถวบ้านผู้เขียนก็มีไฟตกบ้าง แต่ไม่บ่อยมาก และพอไฟตกทีไรก็ไม่เคยเห็นแอร์จะมีปัญหาตามมา) ช่างยังเล่าต่อว่า แอร์ทั่วไปพอใช้ไปนานๆ ท่อคอยล์เย็นมักจะรั่วเพราะความชื้น แต่พวกช่างแปลกใจที่แอร์ของผู้เขียน ไม่เคยเสียเลยสักตัว แถมยังมีลมออกจากคอยล์เย็นโล่งเป็นปกติ ทั้งๆที่แอร์ของคนทั่วไป ใช้ไปได้สัก 2-3 เดือนก็จะเริ่มตัน

เครื่องดูดฝุ่น
แบ่งตามประเภทของถุงเก็บฝุ่น
  1. ใช้ถุง เครื่องดูดฝุ่นยุคแรกจะใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้า  ถุงกระดาษ ใช้วิธีเปลี่ยนถุง แต่ถุงราคาค่อนข้างแพง ส่วนถุงผ้า ถอดถุงมาล้างได้ เวลาเทฝุ่นจะฟุ้งเลอะเทอะ  พอใช้ไปนานๆ จะหาถุงรุ่นนั้นเปลี่ยนไม่ได้แล้ว ถุงที่ขนาดใกล้เคียงกันก็หายาก
  2. ไม่ใช้ถุง แบบนี้ออกแบบมาทีหลัง และน่าใช้มากที่สุด เพราะ เก็บฝุ่นไว้ในกล่องพลาสติก ดึงกล่องออกมาเทได้ง่าย ควรมาพร้อมระบบ cyclone เพื่ออัดฝุ่นให้เป็นก้อน มิฉะนั้นเวลาเทฝุ่นจะฟุ้ง บางรุ่นมีระบบทำความสะอาด filter ด้วย
ตัวเล็กๆ จะได้ซอกแซกกับอุปกรณ์ได้ดี เหมาะใช้ตามรถยนต์ แต่ไม่เหมาะใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะ แรงดูดจะไม่ค่อยมากเท่าตัวใหญ่ วิธีเลือกเครื่องดูดฝุ่นคือ ให้ดูที่
ประตู หน้าต่าง
กรอบยุคแรก ใช้ไม้ แต่ไม้ใหม่หรือไม้บางชนิดใช้ไปสักพักจะหด ยุคต่อมาใช้กรอบอลูมิเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่ดีที่สุด เพราะมีอายุคงทนยาวนานชั่วอายุคน และสามารถแต่งรูปได้ตามต้องการ แต่ราคาจะแพงกว่าไม้ และถูกกว่าไม้ดีๆ แต่ปัญหาของอลูมิเนียม คือ เป็นตัวนำความร้อนที่ดี ถ้ใช้กับห้องแอร์จะเปลืองไฟ

ยุคล่าสุด ใช้ uPVC หรือที่เรียกว่าไวนิล (unplasticized Poly Vinyl Chloride - เป็น pvc ที่ยังไม่ได้เติมสารที่ทำให้อ่อนตัว) ใช้พลาสติกสีขาวทำกรอบ พอใช้ไปนานๆจะเหลือง เหมาะสำหรับใช้ริมทะเล ซึ่งไอทะเลกัดโลหะทุกชนิดรวมทั้งอลูมิเนียม

ประตูหน้าต่างแบบเปิดอ้าได้ 180 องศา จะดีที่สุด ไม่ควรใช้บานเลื่อนเพราะเปิดได้ครึ่งเดียว แถมยังมีร่องด้านล่างให้ขี้ฝุ่นมาสะสม

วิธีสร้างบ้านอย่างประหยัดคือ ซื้อประตูหน้าต่างสำเร็จรูปมาก่อน แล้วค่อยก่อสร้าง ขนาดประตูหน้าต่าง ควรจะเท่ากับประตูหน้าต่างขนาดมาตรฐานที่วางขายในท้องตลาด เพื่อวันหลังจะหาอะหลั่ยเปลี่ยนง่าย หรือจะเปลี่ยนจากวัสดุตัวหนึ่งเป็นอีกตัวหนึ่ง ก็ทำได้โดยไม่ต้องไปทุบกำแพงหรือก่อปูนเพิ่ม

ข้อเสียของประตูสำเร็จรูปคือ มีฐานด้านล่าง ซึ่งสูงกว่าพื้น เวลากวาดฝุ่นออกนอกบ้านทางประตูแล้ว จะติดฐานประตู วิธีแก้ไขคือ ทำฐานประตูให้อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นในบ้าน หรือวิธีที่ดีกว่าคือ อย่ากวาดฝุ่นออกทางนั้น แต่ให้ทำช่องสี่เหลี่ยมสำหรับกวาดฝุ่นออกแทน สูงประมาณไม่เกินคืบพอมือและไม้กวาดล้วงเข้าไปได้ แล้วปิดจากด้านนอก ในลักษณะบานพับด้านบน ซึ่งนอกจากระเป็นช่องระบายฝุ่นแล้ว ยังระบายน้ำได้ด้วย


บานเฟี้ยม
ข้อเสียของบานประตูทั่วไปคือ พื้นที่เปิดจำกัด ถ้าเป็นบานเลื่อนจะเปิดได้แค่ครึ่งเดียว การเปิดพื้นที่กว้างโดยไม่เกะกะ จะใช้ประตูบานพับเลื่อนได้ที่เรียกว่า บานเฟี้ยม ซึ่งมีราคาแพงกว่าประตูปกติ แต่เพิ่มความสะดวกโดยไม่มีข้อเสีย การติดตั้งจะใช้รางเลื่อน บนหรือล่าง รางบนจะสวยงามกว่าและไม่มีร่องเก็บฝุ่นที่พื้น แต่จะต้องอาศัยบ้านที่ออกแบบมาให้สามารถแขวนได้ เพราะประตูมีน้ำหนักค่อนข้างมาก

เวลาซื้อประตูหน้าต่าง ควรดูว่า ออกแบบมาให้ยึดอย่างไร หน้าต่างบางยี่ห้อเป็นแบบต้องโบกปูนหล่อติดกับผนังเดิม ไม่มีรูมาให้เจาะยึด ซึ่งหมายถึงเวลาถอด ต้องทำลายปูนเดิมทิ้งแล้วหล่อใหม่ ส่วนประตูหน้าต่างแบบมีรูให้เจาะยึด จะใช้อะคริลิกอุดช่องว่าง เพราะอะคริลิกจะทาสีได้ ไม่เหมือนซิลิโคนที่ทาสีไม่ติด

ประตูหน้าต่าง ไม่ควรใช้สีดำ เพราะจะล่อยุง เวลาเปิดแล้วยุงจะตามเข้ามาในห้อง

ประตูที่จำเป็นต้องปิดไว้ในบางเวลา เช่นประตูที่กั้นระหว่างในบ้านกับนอกบ้าน เพื่อกันแมลงและสัตว์ ควรเป็นประตูแบบบานพับที่เมื่อเปิดแล้วปิดเองได้ เพราะ บางทีมีคนนอกมาเยี่ยมหรือเดือดร้อนมาขอพักอาศัย แล้วบางคนไม่ค่อยมีมารยาท เปิดแล้วไม่ปิด

ผ้าม่าน ของประตูหน้าต่าง ควรเลี่ยงใช้แทนมุ้งลวด โดยเฉพาะตรงประตู เพราะหมาแมวสามารถเข้ามาขี้ในบ้านได้ ถ้าเป็นแบบมุ้งจะป้องกันแมลงได้ดีพอสมควร ถ้าเป็นผ้าทึบจะแทนหน้าต่าง แต่ไม่ควรเป็นแบบรูดเปิดจากตรงกลาง เพราะจะมีร่องตรงกลางเป็นจุดโหว่ให้แมลงเข้า หรือคนข้างนอกมองเห็นได้ง่าย บางทีโดนลมในห้องจะทำให้ม่านปลิวเปิดๆปิดๆ

กระจก
กระจกที่กันความร้อนได้ดีขึ้น ราคาจะแพงขึ้น

ห้องไม่ควรมีกระจก เพราะ กระจกหรือพลาสติกใสมีอันตรายต่อสุขภาพ เป็นตัวกรองรังสียูวีบีออกหมด เหลือแต่รังสียูวีเอทะลุเข้ามา รู้กันว่า รังสียูวีเอ เป็นตัวทำลายผิว ทำให้เหี่ยวและตกกระ ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ในขณะที่รังสียูวีบี ช่วยสร้างวิตามินดี ซึ่งไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายมะเร็ง ถ้ามีจำเป็นต้องมีกระจก ควรเลือกแบบที่กันรังสียูวีเอได้ คือกระจกเขียว หรือพวก laminated glass ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องมีม่านบังแสงจากกระจกอีกชั้น จะช่วยกั้นรังสียูวีเอได้บ้าง ยิ่งกั้นแสงได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกันยูวีเอได้มากเท่านั้น ส่วนพวกฟิล์มติดรถยนต์จะกันรังสียูวีเอได้แค่บางส่วน

การใส่หรือเปลี่ยนกระจกที่ไม่ใช่ laminated glass ควรระวังกระจกแตกหล่นใส่เท้า อย่างน้อยควรใส่รองเท้าบูทยาง

หลังคา
เมืองไทยไม่มีหิมะตก จึงไม่จำเป็นต้องทำหลังคาแบบลาดชันมากๆอย่างในยุโรป (ถ้าไม่ทำหลังคาให้ชัน หิมะจะไม่ไหลลงไป) เมืองไทยมีแต่ฝนตก แค่เอียงหลังคาเล็กน้อย เพียงเพื่อให้น้ำไหลผ่าน ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หลังคาที่นิยมใช้กัน มี 2 แบบคือ เมทัลชีท (metal sheet) และ กระเบื้อง

ควรหลีกเลี่ยงหลังจากปูน เพราะน้ำซึมได้ เมื่อเวลาผ่านไป ปูนจะผุกร่อน ยิ่งมีเศษผงและใบไม้ไปกอง จะผุไวมาก จนน้ำรั่วในที่สุด


ลูกเห็บทำหลังคาทะลุ เสียหายหลักแสน
เมทัลชีท คือแผ่นเหล็กรีดบางแล้วนำไปเคลือบสังกะสีผสมอลูมิเนียม ซึ่งต่างจากหลังคาสังกะสีสมัยก่อนตรงที่ราคาพอๆกัน แต่เป็นสนิมช้ากว่า ถ้าอยู่ริมทะเลอาจจะใช้ได้นานถึง 10 ปี แต่ถ้าอยู่ไกลทะเลออกมา อาจจะใช้ได้นานถึง 20 ปี การติดตั้งไวมากแค่ยิงติดกับแป จุดประสงค์หลักของการใช้คือ มีน้ำหนักเบา จึงเหมาะสำหรับการต่อเติมอาคาร แต่ร้อน และความคงทนจะสู้กระเบื้องไม่ได้ เพราะ เมื่อสารเคลือบถูกกัดกร่อนจนถึงเนื้อเหล็ก ก็จะขึ้นสนิม และไม่สวยงามเท่ากระเบื้องเพราะ ติดตั้งเสร็จแล้ว จะเห็นโครงและคานเหล็ก

หลังคากระเบื้องในอดีตทำจากคอนกรีตหรือเซรามิกซึ่งมีคุณสมบัติเหมือน วัสดุธรรมชาติทั่วไปคือ ต้องทำให้หนาจึงจะแข็งแรง (ถ้าบางจะแตกหักง่าย) ข้อเสียคือหนัก ต้องอาศัยบ้านที่มีฐานรากแข็งแรง ปัจจุบันนิยมใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์ ทำจากปูนซีเมนต์ผสมเส้นใยจากเศษไม้ (cellulose) ทำให้บางลงเหลือแค่ 3-4 มิลลิเมตร มีน้ำหนักเบาลง เรียกกันว่ากระเบื้องลอนคู่ (และหลายลอน) แต่ยังมีคุณสมบัติเหมือนคอนกรีตทั่วไป คือถ้ามีอะไรหล่นใส่ จะแตกง่าย แค่แมวขึ้นไปกัดกันบนหลังคาก็ทำให้กระเบื้องแตกได้ ถ้าบริเวณไหนที่มีลูกเห็บตก อย่างทางภาคเหนือและอีสาน ไล่ตั้งแต่โคราชไล่ขึ้นไปจะมีพายุลูกเห็บ บ้านที่ใช้กระเบื้องบางเจอลูกเห็บขนาดใหญ่เกิน 1.5 นิ้วจะทะลุเป็นรูพรุน เมทัลชีทจึงเป็นที่นิยมในแถบนั้น ทางเลือกอื่นคือ ใช้กระเบื้องหนาๆ อย่างกระเบื้องที่ทำจากคอนกรีตล้วนหรือเซรามิกล้วน จะป้องกันลูกเห็บได้ถึง 2.5 นิ้ว แต่จะมีน้ำหนักมากขึ้น จึงต้องอาศัยบ้านที่มีฐานรากแข็งแรง

กระเบื้องมุงหลังคา มักจะเกยกันอยู่ประมาณ 20 ซม.

การปีนหลังคา เมทัลชีตจะเหยียบไปตามร่องของลอน ห้ามเหยียบส่วนที่นูนจะบุบได้  การปีนหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ ต้องระวังกระเบื้องทะลุ อย่างแรกคือต้องดูว่ามีคานรองกระเบื้องอยู่ตรงไหน โดยดูจากจุดที่มีน็อตโผล่ขึ้นมา แต่ไม่ควรใช้เท้าเหยียบ ให้ใช้ก้นนั่งลงบนหลังคาแล้วค่อยๆขยับไปตามแนวคาน

การยึดรางน้ำฝนกับหลังคา จะยึดเชิงชาย เชิงชายคือไม้กระดานซึ่งมีหน้ากว้างประมาณ 15-20 ซม. นำมายึดติดกับแป ปัจจุบันนิยมใช้ไม้สังเคราะห์ที่ทำจากไฟเบอร์ซีเมนต์

หลังคาอยู่ด้านบนสุดของบ้าน มีโอกาสที่จะแตกรั่วเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเสียแล้วซ่อมลำบาก เพราะต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา ดังนั้น ใต้หลังคาจึงไม่ควรติดฝ้า แต่ควรทำพื้นให้เว้นห่างจากหลังคาพอสมควร พอให้คนสามารถซ่อมแซมได้ จากใต้หลังคา โดยไม่ต้องปีนขึ้นไปบนหลังคา ถ้ามีฝ้าใต้หลังคา ควรทำแบบเปิดดูได้ว่า มีหลังคาจุดใดแตกรั่วหรือไม่ ถ้าทำฝ้าปิดมิดชิด เวลากระเบื้องมุงหลังคาแตกหรือรั่ว จะไม่รู้ รอจนฝนหยดลงมาบนฝ้า ถ้าโครงเป็นไม้ จะมีปลวกตามมา ถ้าโครงเป็นเหล็กจะขึ้นสนิม

บ้านที่หลังคาติดกับตัวบ้าน ชั้นบนสุดจะร้อนมาก กลางคืนก็ยังร้อนจนนอนไม่ได้ วิธีแก้คือ ยกหลังคากแยกออกจากตัวบ้าน เว้นช่องว่างให้ลมพัดผ่านใต้หลังคา จะช่วยระบายความร้อนได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เวลาฝนตก ฝนจะสาดเข้ามาใต้หลังคา ใต้หลังคาจึงไม่ควรเป็นฝ้า เพราะน้ำจะขังและซึมลงมา แต่ควรจะทำเป็นเหมือนหลังคาอีกชั้น

ฝ้า เพดาน
ฝ้าเพดาน ไม่จำเป็นต้องมี แต่มีไว้เพื่อความสวยงาม เช่น ติดไฟ และช่วยป้องกันความร้อนจากชั้นบน ปกติฝ้าจะเป็นวัสดุที่เบา จึงสามารถใช้โครงที่เบาและราคาถูกอย่าง c line ซึ่งทำจากสังกะสีเป็นรูปตัว c ซึ่งถึงแม้วัสดุจะอ่อนและบา แต่เพียงพอที่จะใช้รับน้ำหนักโครงฝ้าได้

ฝ้าเพดานปกติจะนิยมใช้ยิปซั่มเพราะทาสีได้ โดยซื้อโครงชนิดสังกะสี c-line ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง ตัดด้วยกรรไกรตัดสังกะสี แล้วนำมาวางเป็นตะแกรง แล้วยิงฝ้าติดกับตะแกรง นอกจากนี้ยังต้องมีเหล็กแขวนฝ้า ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านอลูมิเนียม บอกพื้นที่ไป ทางร้านจะคำนวณให้เสร็จว่าต้องใช้กี่ตัว แต่ข้อเสียของการใช้ยิปซั่มหรือสมาร์ทบอร์ดคือ ต้องฉาบและทาสี และปูนฉาบต้องใช้ปูนเฉพาะของวัสดุแต่ละชนิดด้วย

ปัจจุบันมีไวนิล ที่สามารถนำมาทำฝ้าได้ เป็นพลาสติก uPVC ซึ่งจะขายพร้อม c-line มีข้อดีคือไม่ต้องฉาบหรือทาสี แต่จะเป็นลอนๆลูกคลื่นไม่เรียบ

ฝ้าเพดานที่เป็นไม้ เวลาปลวกกิน ต้องรีบซ่อม ไม่งั้นวันดีคืนดี จะร่วงลงมา ทำข้าวของเสียหาย ฝุ่นเต็มบ้าน กวาดไม่หมด

พื้นบ้านและผนัง
ปัญหาของการปลูกบ้านคือ บางที่มีปัญหาดินทรุดตัว สิบกว่าปีก็ยังเป็นอยู่  ต้องคอยซ่อมท่อ บันได ตลอดเวลา ถ้าใช้เข็มสั้น ทรุดไปด้วยกัน ถ้าใช้เข็มเจาะ ดินใต้พื้นจะทรุดจนเป็นโพรง
พื้นบ้านควรใช้สีขาวล้วน ไม่มีลวดลาย เวลาของชิ้นเล็กๆตก หรือกระเด็นไป จะได้มองเห็น

พื้นบ้านที่นิยมใช้กันในอดีตคือ หินขัด แต่ปัจจุบันนิยมใช้กระเบื้อง เพราะราคาถูกกว่าหลายเท่า แต่ข้อเสียของกระเบื้องคือ ร่องตรงรอยต่อจะเป็นปูนซึ่งเปื้อนง่าย ใช้ไปนานๆร่องจะกลายเป็นสีดำน่าเกลียด

พื้นบ้านควรลาดเอียง เพื่อให้น้ำบนพื้นในบ้านไหลออกนอกบ้าน และพื้นบ้านควรสูงกว่าพื้นนอกบ้าน เวลามีฝุ่นหรือน้ำในบ้าน จะได้เททิ้งนอกบ้านได้ง่าย ถ้าพื้นในบ้านอยู่ต่ำกว่านอกบ้าน เวลาใช้น้ำราดพื้นแล้วน้ำจะขังอยู่ในบ้าน ซึ่งถ้าเป็นสิ่งโสโครกอย่างเช่น ปัสสาวะของผู้สูงอายุ จะต้องตามเช็ดออกซึ่งลำบากมาก

หินขัดเป็นวัสดุปูพื้นที่ดีที่สุด เพราะ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมาก และ แข็งแรงมาก (บ้านของผู้เขียนใช้มานานเกิน 50ปีแล้ว ยังไม่ต้องซ่อม และเคยทำลูกเหล็กหนักหลายสิบกิโลหล่นมาจากที่สูงถึง 1 เมตร แต่มีรอยบิ่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ไม่มีร่อง ราคาไม่แพงมาก แต่ข้อเสียคือ ถ้าเปียกน้ำแล้วจะลื่น วิธีทำคือ นำปูนซีเมนต์ขาวมาผสมกับหินอ่อนหรือหินแกรนิต เลือกหินสีให้ได้ลายตามต้องการ นำมาปูพื้นตามแนวที่ทำไว้ รอให้แข็งตัว แล้วจึงใช้เครื่องขัดเงา

กระเบื้อง นิยมใช้ปูพื้นและผนังในจุดที่มีน้ำมาก เพื่อกันน้ำซึมเข้าไปในปูน ผนังปูนสามารถดูดน้ำได้และน้ำซึมผ่านได้ ผิวกระเบื้องที่เคลือบมาแล้วไม่ดูดน้ำ จึงป้องกันไม่ให้ซึมเข้าไปในปูน กระเบื้องจึงเหมาะมากสำหรับห้องน้ำ การปรับระดับพื้นให้เรียบด้วยกระเบื้องจะง่ายกว่าการใช้ปูนทราย ก่อนปูกระเบื้องไม่ต้องฉาบปูน แต่กระเบื้องก็มีข้อเสียคือ ถ้าปูไม่ถูกวิธี จะโก่งงอแตกร้าวหลุดออกมาได้

กระเบื้องจะแบ่งตามขนาด ถ้าแผ่นเล็กกว่า 60x60ซม. จะเป็นเซรามิก กระเบื้องแผ่นใหญ่เกิน 60x60ซม. มักจะเป็นแกรนิตโต้ ทำมาจากหินแกรนิต แต่บางครั้งก็เป็นเซรามิก แกรนิตโต้มีข้อดีคือ ไม่ดูดน้ำ ต่างจากกระเบื้องเซรามิกที่ด้านที่ไม่เคลือบจะดูดน้ำได้ดี กระเบื้องมีทั้งที่นำเข้าและผลิตในเมืองไทย กระเบื้องที่ผลิตในเมืองไทย จะราคาถูกกว่าของนอก แต่ของไทยจะลวดลายเยอะกว่าของนอก

กระเบื้องไม่ควรจะมีขนาดใหญ่เกินไป เพราะ จะหนัก ปูยาก ยิ่งเล็กยิ่งปูง่าย แต่ถ้าเล็กมากไปจะเสียเวลา กระเบื้องปูพื้นจะมีความหนาแน่นมากกว่ากระเบื้องปูผนัง เพราะต้องรับน้ำหนักมากกว่า กระเบื้องปูพื้นจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเนื้อหยาบ เพื่อกันลื่นเวลามีน้ำที่พื้น กระเบื้องปูพื้นห้องน้ำจะหยาบกว่าห้องนอน เพราะห้องน้ำมีโอกาสลื่นง่ายกว่า ยิ่งเป็นกระเบื้องปูพื้นนอกบ้าน จะยิ่งหยาบมาก ส่วนกระเบื้องปูผนังจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและลื่นกว่า ข้อดีของกระเบื้องเนื้อลื่นคือทำความสะอาดง่ายกว่า กระเบื้องขนาดที่ช่างนิยมใช้ปูพื้นคือ 40x40ซม. (16"x16") ส่วนกระเบื้องปูผนังจะใช้ขนาด 20x25ซม ถ้าใหญ่กว่านี้ เวลาปูสูงๆแล้วมีโอกาสหล่นลงมา

กระเบื้องจะขายเป็น ตรม. เช่น ขนาด 40x40ซม. จะขายกล่องละ 6 ก้อน รวมกันได้ประมาณ 1 ตรม. แต่ถ้าเป็นพวกแกรนิตโต้จะขายเป็นแผ่น

ก่อนปูกระเบื้องเซรามิก ถ้าใช้ปูนซีเมนต์ธรรมดา ควรเอากระเบื้องแช่น้ำ เพื่อป้องกันกระเบื้องด้านที่ไม่เคลือบดูดน้ำจากปูน ทำให้ปูนกับกระเบื้องไม่ติดกัน แต่ถ้าใช้ปูนกาวก็ไม่จำเป็นต้องแช่น้ำ ปูนกาวจะวัดกันตามแรงยึดเกาะ ปูนกาวที่ราคาถูกที่สุดจะมีแรงยึดเกาะระดับหนึ่ง สามารถใช้ปูกระเบื้องเล็กๆตั้งแต่ 30x30ซม.ลงมา ส่วนปูนกาวที่ มีแรงยึดเกาะสูงขึ้น จะใช้ปูกระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

การปูกระเบื้องที่พื้นชั้นล่างไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องน้ำซึมลงพื้น เพราะสามารถปล่อยให้น้ำไหลลงไปในดิน แต่พื้นชั้นบนโดยเฉพาะห้องน้ำ จำเป็นต้องป้องกันน้ำซึมแล้วหยดลงมาทำฝ้าเสียหาย หรือหยดใส่คนที่อยู่ชั้นล่าง พื้นชั้นใดที่ไม่ได้ปูกระเบื้องแต่มีโอกาสที่จะมีน้ำที่พื้น เช่น ระเบียง ก็ควรจะกันซึมให้หมด วิธีกันซึมคือ ทาน้ำยากันซึมก่อนปูกระเบื้อง แล้วตอนปูกระเบื้อง ให้ผสมน้ำยากันซึมลงในปูนด้วย หรือจะใช้ปูนกันซึมสำเร็จรูปที่ผสมน้ำยามาแล้วก็ได้ แต่ปูนกันซึมสำเร็จรูปจะมีแบบให้เลือกน้อยและราคาแพง ไม่มีแรงยึดเกาะตามที่เราต้องการ ด้วยเหตุนี้ ปูนกันซึมสำเร็จรูปจึงเหมาะกับพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่คิดจะทาน้ำยากันซึม เพราะ ถ้าซื้อน้ำยากันซึมมาทา จะสิ้นเปลืองมากขึ้น แต่ถ้าพื้นที่มากขึ้น การซื้อน้ำยากันซึมมาผสมกับปูนกาว จะถูกกว่าปูนกันซึมสำเร็จรุป และเราสามารถเลือกปูนที่มีคุณสมบัติแรงยึดเกาะตามต้องการได้ด้วย เพื่อให้ประหยัด เพราะปูนที่มีแรงยึดเกาะสูงขึ้นจะราคาแพงขึ้น แต่การกันซึมก็ยังมีค่าใช้จ่าย ถ้าจะประหยัดจึงควรกันซึมเฉพาะในห้องที่ต้องเปียกบ่อย อย่างห้องน้ำ ห้องครัว่  ปกติน้ำยากันซึมจะใช้วิธีตวงปริมาตรต่อน้ำหนักปูน จึงควรมีถ้วยตวงด้วย ถ้าช่างใช้ปูนครั้งละครึ่งถุงๆละ 20 กก. ก็หาถ้วยที่มีปริมาตรเท่ากับปริมาณน้ำยาที่ใช้ จะใช้ง่ายกว่าถ้วยตวงแบบวัดปริมาตร

การเลือกกระเบื้อง สำคัญที่ลวดลายถูกใจหรือไม่ แล้วจึงค่อยมาเปรีบเทียบราคาแต่ละที่

กระเบื้องมีหลายเกรดตั้งแต่ A,B,C กระเบื้องเกรดต่ำกว่า A ขอบจะไม่เป็นมุมฉาก ช่างจะปูยากขึ้น ต้องอาศัยฝีมือมากขึ้น

การปูกระเบื้องทุกชนิด (ทั้งเซรามิกและแกรนิตโต้) จะไม่ปูชิดกันเกินไป แต่จะเว้นช่องว่างไว้ ถ้าปูชิดเกินไปกระเบื้องจะดันกันจนโก่งงอขึ้นมาจากพื้น หรือหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ จนถึงแตกร้าวบาดคน หรือ กระเด็นออกมาทำอันตรายคนได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศร้อนจัดสัก 40 องศาเซลเซียส และ หนาวจัดต่ำกว่า 10 องศา

การปูกระเบื้อง ควรใช้ปูนกาวสำหรับปูกระเบื้องโดยเฉพาะ แล้วอุดร่องด้วยปูนยาแนว ซึ่งปกติจะกันน้ำและกันเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้เองที่จะทำให้ร่องกระเบื้องกลายเป็นสีดำ ปูนยาแนวยังมีแบบทนกรดและไม่ทนกรด ถ้าเป็นพื้นห้องน้ำ ควรใช้แบบทนกรด เพราะ น้ำยาล้างห้องน้ำบางตัวเป็นกรด พอเจอปูนยาแนวก็จะเกิดฟองฟู่ นั่นคือกรดในฟองฟู่ทำปฎิกริยากับปูนยาแนว แล้วกัดจนปูนยาแนวหายหมด เหลือแต่ร่องกระเบื้อง แล้วต่อไปกระเบื้องก็จะหลุด

กระเบื้องปูพื้นและผนัง ควรใช้สีขาว เพื่อเวลามีกระเบื้องเหลือ สามารถเก็บไว้ใช้กับงานอื่นได้ในอนาคต  ถ้าขาดก็หาซื้อได้ง่าย ร้านไหนก็มีสีขาว ไม่ต้องเจาะจงไปร้านเดิม ถ้าใช้กระเบื้องที่มีลวดลาย จะนำไปใช้กับลายอื่นลำบาก ถ้านำไปแทรกไว้ก็จะดูไม่สวยงาม และ ถ้าเวลาผ่านไปนานๆ ไปหาซื้อลายเดิมอาจไม่มี ถ้ากระเบื้องแตกร่อนไปตัวหนึ่ง จะหาซื้อมาเปลี่ยนไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเราควรเก็บกระเบื้องที่เหลือจากการก่อสร้างไว้ เผื่อต้องนำมาซ่อมแซมในภายหลัง จะได้ไม่ต้องไปซื้อใหม่ เพราะ กระเบื้องจะขายเป็นกล่องๆละหลายๆชิ้น

พื้นสีเข้ม อย่างเช่น สีเนื้อไม้ จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ เป็นห้องที่ต้องทำงานเกี่ยวกับสิ่งของที่มีสีขาว อย่างห้องแลป เช่น แคปซูลสีขาว หรือ ผงต่างๆซึ่งมักจะมีสีขาว ซึ่งเมื่อตกพื้นและจะมองเห็นได้ง่าย

อุดรอยรั่ว
การอุดรู ให้คิดถึงปูนซีเมนต์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะราคาถูก เนื่องจาก รูในบ้าน มักจะมีขนาดใหญ่ จึงต้องใช้วัสดุมาก ถ้าใช้วัสดุอื่น จะราคาแพงกว่าปูนซึเมนต์ ซีเมนต์แบบถุงเล็กผสมน้ำใช้ได้เลย มีขายตามห้าง

ถ้าต้องอุดรูน้ำไหล ใช้ซีเมนต์แห้งเร็ว 30-60 วินาที ปั้นได้

ถ้าอุดรูอย่างอื่นที่ใช้ปูนไม่ได้ และ เป็นรูหรือรอยแตกไม่ลึก ใช้ acrylic เพราะราคาถูกรองจากปูน มีข้อดีคือ บีบออกมาใช้ได้เลย ไม่ต้องผสมน้ำเหมือนปูน และทาสีทับได้ แต่ข้อเสียคือ เหลวเกินไป จึงต้องการวัสดุแข็งๆรองพื้นก่อนถึงจะทาทับได้

ถ้าเป็นรูลึก หรือกว้าง ที่ใช้ปูนไม่ได้ เช่นรอยต่อในแนวตั้งและสูง ต้องใช้ polyurethane foam ฉีดออกมาแล้วขยายตัว เพื่อรองพื้น แล้วค่อยทา acrylic ทับ การล้่างโฟมออกจากท่อฉีด ใช้ acetone หรือน้ำยาล้างเล็บ เพราะน้ำยาล้างเล็บมี acetone อยู่ 60-79% ที่เหลือเป็นน้ำ

polyurethane foam ใช้หลักการเขย่า คือ ก่อนใช้ ให้ใช้สกรูมือ เจาะโฟมที่แข็งตัวอุดรูอยู่ (ใช้ครั้งแรกก็ต้องเจาะ) ต่อท่อฉีด เขย่ากระป๋องประมาณ 10-20 รอบ แล้วคว่ำกระป๋องลง โฟมจะไหลออกมาเอง แต่พอหงายประป๋องขึ้น โฟมก็จะหยุดไหล ส่วนโฟมที่ติดคาอยู่ในท่อฉีด ให้ใช้ acetone ล้างตอนที่ยังไม่แข็ง ตอนที่แข็งแล้วก็พอล้างได้ จะใช้น้ำยาล้างเล็บแทนก็ได้ เพราะ น้ำยาล้างเล็บมีส่วนผสมของ acetone เป็นหลัก acetone สัมผัสกับผิวหนังได้ มีความเป็นพิษต่ำ

ถ้ารอยต่อมีการเคลื่อนตัว ใช้วัสดุที่ยืดหยุ่นเหมือนยาง เช่น ซิลิโคน แต่จะทาสีไม่ได้ เพราะใช้ไปสักพักสีจะร่อน ถ้าต้องทาสี ใช้ อะคริลิก หรือ polyurethane

ซิลิโคน มี 2 แบบคือ มีกรด กับ ไม่มีกรด แบบมีกรดจะเหม็น แต่แห้งเร็ว ส่วนแบบไม่มีกรด จะแห้งช้า

กาว
การเลือกใช้กาวประเภทใด ให้ดูว่ารับแรงประเภทใด และ วัสดุที่นำมายืด มีการเปลี่ยนรูปร่างไปมาหรือไม่ เพราะกาวบางชนิดแห้งแล้วแข็ง หากถูกงอจะแตกหัก การเชื่อมต่อจะแข็งแรงที่สุด เมื่อใช้กาวที่เป็นวัสดุเดียวกัน เช่น กาวผสมพีวีซีเพื่อติดพีวีซี 

ซิลิโคน ใช้ยาแนว ถึงแม้จะเรียกกันเป็นกาวยาแนว แต่ไม่เหมาะใช้เป็นกาว เพราะไม่ค่อยยึดเกาะพื้นผิวต่างๆอย่างโลหะรวมไปถึงอลูมิเนียมพอติดได้ บ้าง หากต้องรับแรงเฉือนหรือมีการเคลื่อนไหวจะหลุดง่าย แต่บางครั้งนำมาใช้เพราะคุณสมบัติอื่น อย่างทนสารเคมี หรือทนความร้อน ข้อดีหลักคือ พอแข็งแล้วมีคุณสมบัติเหมือนยางพาราธรรมชาติ คือกันน้ำและยืดหยุ่น จึงนิยมใช้อุดกันรั่วตรงรอยต่อกระจก เพราะกระจกทำจากทราย (silicon) และซิลิโคนทำจากทรายผสมสารเคมีให้กลายเป็นเส้นใย จึงสร้างพันธะเคมียึดกับกระจกได้แน่น กาวจะแข็งตัวเมื่อเจอความชื้นแล้วปล่อยสารระเหยออกมา ถ้าเป็นชนิดมีกรดจะปล่อยกรดอะซิติกมีกลิ่นฉุน พื้นผิวที่ไม่ถูกกับกรดจะใช้ชนิดไม่ผสมกรด แต่ผสมสารระเหยชนิดอื่นแทนอย่างแอลกอฮอล์ เมื่อเปิดใช้แล้วทิ้งไว้ไม่นานจึงแข็งหมดทั้งหลอด จึงไม่ควรซื้อมาตุน

กาวที่แข็งแรงที่สุดคือ epoxy เวลาใช้ต้องนำสาร 2 ชนิดมาผสมกัน หลอดหนึ่งคือเส้นใย  ผสมกับอีกหลอดหนึ่งคือสารเร่งให้เส้นใยแข็ง ยิ่งใส่สารเร่งแข็งเยอะขึ้น ยิ่งใช้เวลาแข็งตัวนานขึ้น แต่ก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น ข้อดี เช่น กันน้ำได้ จึงผสมกันใต้น้ำได้เลย และรับแรงเฉือน และแรงดึงได้ดี จึงใช้ยึดวัสดุได้ทุกชนิดทั้ง ไม้ ยาง พลาสติก โลหะ แก้ว ซีเมนต์ แต่ข้อเสียคือ เมื่อแข็งแล้ว จะเหมือนแก้ว ไม่ยืดหยุ่น จึงไม่เหมาะจะใช้กับวัสดุที่มีการเปลี่ยนรูปร่างได้ อย่างเช่นผ้า หลังจากผสมแล้ว จะใช้เวลา 2-3 ชม.จึงเริ่มแข็ง แต่ควรทิ้งไว้ในที่อากาศอุ่นประมาณ 3 วันจึงจะแข็งเต็มที่ กาวยี่ห้อที่ดีจะแข็งแรงเหมือนเชื่อมเหล็ก ถ้าใช้แล้วไม่แข็งแรงแสดงว่ายี่ห้อไม่ดีหรือเตรียมพื้นผิวไม่สะอาดพอ

กาวร้อน คือสารเคมีที่ชื่อ cyanoacrylate เป็นเส้นใยอะคริลิก รองรับแรงดึงได้ดีมาก แต่รับแรงเฉือนต่ำ ถ้าโดนแรงเฉือนจะเปราะแตกง่าย จึงไม่เหมาะกับการยึดผิว วัสดุ ที่ถูกเลื่อนออกจากกัน (แต่ถ้าเทียบกับกาวยาง แล้วยังแข็งแรงกว่ามาก) โดนน้ำแล้วไม่เป็นไร ถ้าเป็น methyl cyanoacrylate เหมาะสำหรับยึด โลหะเข้าด้วยกันหรือยึดโลหะกับวัสดุอื่น ยกเว้นยางแข็งจะติดไม่ดี แต่ที่ขายในท้องตลาดมักจะเป็น ethyl cyanoacrylate ซึ่งราคาถูกกว่า คุณสมบัติการยึดติดโลหะจะด้อยกว่า จึงใช้ยึดวัสดุอย่างอื่นแทบทุกชนิด เช่น พลาสติก ไม้ ยาง หรือเหล็กชิ้นเล็กๆที่ไม่ได้รับแรง ฯลฯ ยก เว้นผ้าฝ้าย ถ้ามีกาวจำนวนมากพอ จะทำให้ ผ้าฝ้ายไหม้ เพราะ เวลาสัมผัสกาวกับอากาศจะเกิดความร้อน จึงเรียกกาวร้อน เป็นกาวที่แห้งเร็วมาก ถ้าคล้ายน้ำจะแห้งในเวลาไม่เกิน 5 วินาที ถ้าหนืดขึ้นก็จะแห้งช้าลง แต่ไม่เกิน 10 วินาที และรับแรงได้เต็มที่ในเวลาไม่เกิน 2 ชม. ถึงแม้ว่ากาวโดนมือจะไม่มีอันตรายก็ตาม แต่เวลา ทาควรสวมถุงมือป้องกันกาวติดมือ  เมื่อ กาวแข็งติดวัตถุแล้ว สามารถใช้ละลายได้ด้วยอะซิโตน หรือทาเกลือแล้วจุ่มน้ำ กาวร้อนจะเหมาะมาก สำหรับยึดติดอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆแข็งๆ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ (แต่ไม่เหมาะสำหรับวัสดุที่ยืดหยุ่นได้ อย่างเช่น ผ้าไนล่อน หรือ ยาง เพราะกาวร้อนที่แห้งแล้วจะแข็งเหมือนแก้ว) และต้องระวังเวลาโดนพลาสติกใสจะกลายเป็นขุ่น หลังจากติดกาวร้อนแล้วใช้ไปได้สักพักมีโอกาสหลุด แล้วต้องทาใหม่ แต่หลอดกาวร้อนที่เปิดใช้แล้ว มักจะมีเศษกาวแข็งอุดปลายท่อ ต้องใช้เข็มหมุดเจาะให้มีรูจึงจะไหลออกมาใหม่ กาวร้อนจึงซื้อแบบราคาถูกๆใช้ได้ ปกติกาวร้อนปิดฝาทิ้งไว้ไม่นานจะแข็ง มีวิธียืดอายุคือ ใส่ถุงซิปแล้ว แช่ตู้เย็นในช่องแข็ง ยิ่งเย็นมากยิ่งเก็บได้นาน แต่ก่อนจะนำมาใช้ต้องทิ้งไว้ให้หายเย็น มิฉะนั้นจะเกิดไอน้ำในหลอด แล้วไอน้ำทำให้กาวแข็ง เมื่อหายเย็นแล้ว สามารถทิ้งไว้ที่อุณหภูมิปกติได้นานนับสัปดาห์ โดยที่กาวยังเป็นน้ำพร้อมใช้อยู่ หากต้องใช้รับแรงเฉือน ควรใช้ epoxy หรือกาว polyurethane ถ้าติดวัสดุแข็ง ใช้ epoxy

กาวยาง (rubber cement) ทำจากยางพาราดิบใหม่ที่ยังไม่รมควัน เช่น ยางก้อนถ้วย ผสมตัวทำละลายพวกน้ำมันปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน (หรือ อะซิโตน แต่จะสู้เบนซินไม่ได้ เพราะระเหยเร็วกว่า) แล้วแช่ไว้จะได้กาวยาง ใช้ยีดวัสดุหลากหลาย ข้อดีของกาวยางคือ ยืดหยุ่นได้ดี เมื่อแห้งแล้วสามารถลอกออกจากพื้นผิวได้ง่าย ไม่ยึดติดพื้นผิวเหมือนกาวประเภทอื่น แต่ข้อเสียคือ รับแรงได้ไม่มากนัก จะหดตัวเมื่อกาศเย็น ขยายตัวเมื่ออากาศร้อน และอายุการใช้งานสั้น กาวยางจึงเหมาะจะใช้กับงานชั่วคราว หรือติดพวกกระดาษกับผนัง อย่างแผ่น sticky note แต่ละแผ่นจะยึดติดกันด้วยกาวยาง แต่ต้องระวังถ้ามีส่วนผสมของอะซิโตน จะทำลายผิวพลาสติกได้ และอย่าทิ้งไว้จนแห้งเพราะจะกลายเป็นยาง แล้วเกิด cross-link (เรียกว่า vulcanization) ไม่ละลายในน้ำมันอีก ยางดิบสีขาวที่นำไปทำเป็นยางสุกสีเหลือง โดยใช้ความร้อนและกำมะถัน จะเกิด cross-link ไม่ละลายในน้ำมันเบนซินเช่นกัน ถ้าต้องการความยืดหยุ่น ใช้ กาวยาง หรือ polyurethane แต่ถ้าต้องการทั้งยืดหยุ่นและรับแรงเฉือนด้วย ต้องใช้กาว polyurethane

กาวน้ำอย่างกาวลาเท็กซ์ ทำจากน้ำผสมเส้นใยอย่างยางพารา จึงเหมาะกับพื้นผิวที่ซับน้ำหรือน้ำระเหยได้ อย่างใช้ติดกระดาษหรือไม้เล็กๆน้อยๆ ไม่ติดพื้นผิวลื่นๆอย่างพลาสติกหรือโลหพอกาวแห้งแล้วจะหลุดง่าย

กาวยาแนว ทั้งอะคริลิก และซิลิโคน ไม่ใช่กาว เพราะการยึดเกาะต่ำ ใช้อุดรูเป็นหลัก

ห้องน้ำ
ถ้าเราอยากรู้ว่า บ้านออกแบบมาดีหรือไม่ ให้ดูที่ห้องน้ำ ถ้ามีห้องน้ำห้องเดียว แสดงว่าแย่มาก เพราะบางครั้งคนในบ้านต้องเข้าห้องน้ำพร้อมกัน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นช่วงเช้า ที่คนตื่นพร้อมกัน ดังนั้น ห้องน้ำควรมีอย่างน้อย 2 ห้อง ถ้าให้ดีควรมี 3 ห้อง ห้องหนึ่งเป็นห้องส้วมอย่างเดียว อีกห้องเป็นห้องอาบน้ำอย่างเดียว อีกห้องทำได้ทั้งสองอย่าง เพราะบางครั้งอาจต้องอาบน้ำพร้อมกัน และเวลาคนหนึ่งเข้าส้วมแล้วอาจเหม็นจนอาบน้ำไม่ไหว

ห้องน้ำควรมีอยู่ทุกชั้นของบ้าน เผื่อตอนกลางคืนตื่นมาฉี่ จะได้ไม่ต้องขึ้นลงบันไดให้เหนื่อย เพราะพอเหนื่อยแล้วก็จะนอนต่อไม่ได้

ห้องน้ำสำหรับคนแก่ ควรมีราวจับ กันลื่น คนแก่ลื่นล้มทีเดียวก็ถึงกับกระดูกแตกหัก ต้องเข้าโรงพยาบาล คนแก่มีโอกาสวูบล้มในห้องน้ำโดยเฉพาะตอนเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาการป่วยหนักที่สุดเมื่อเทียบกับเวลาอื่น

ห้องน้ำควรมีหน้าต่างที่ปีนออกได้ เพราะเคยมีกรณีกลอนประตูเสีย ทำให้คนในห้องถูกขังไว้ ถ้ากำแพงห้องน้ำเตี้ยอาจจะปีนออกได้ แต่กำแพงที่เตี้ยไม่ควรอยู่ในบ้านเพราะจะทำให้บ้านชื้นตลอดเวลา ถ้าอยู่นอกบ้านก็จะมีปัญหาเรื่องยุง

กลอนประตูห้องน้ำแบบร่องเป็นรูปสี่เหลี่ยม จะไม่มีกุญแจไข แต่มีร่องให้เสียบเหรียญบาทเข้าไปไขได้

ห้องน้ำควรแยกจากบ้าน เพราะ มีความชื้นสูง ทำให้เหล็กพวกตู้เย็นสึกกร่อนพังเร็ว สกรูที่ต้องเจอน้ำเจอความชื้น เช่น ห้องน้ำ นอกบ้านตามหลังคา ควรเป็นสเตนเลส เพื่อป้องกันสนิม

จุดตั้งส้วมที่ดีที่สุดคือ รถสูบส้วมเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ต้องต่อสายผ่านเข้ามาในบ้าน ถ้าให้ดีกว่านั้น ควรต่อท่อจากโถส้วมออกไปลงบ่อเกรอะที่อยู่นอกตัวบ้าน เพื่อเวลาส้วมตัน จะได้เปิดฝาบ่อเกรอะตักออกหรือซ่อมแซมได้ง่าย โดยไม่ต้องจ้างรถสูบส้วมมาดูดออก และห้องส้วมชั้นล่างควรมีอย่างน้อย 2 ห้อง เพราะถ้าทั้งหลังมีส้วมชั้นล่างห้องเดียว ถึงแม้จะมีหลายชั้น แต่ก็มีบ่อเกรอะบ่อเดียว ถ้าบ่อเกรอะตัน ห้องน้ำทั้งหลังจะมีปัญหาตามไปด้วย

อาการส้วมเต็ม จะเริ่มจากราดน้ำไม่ลงก่อน ต้องรอสักพักกว่าน้ำจะลงจนถึงระดับปกติ ถ้าทิ้งไว้แบบนี้นานหลายๆเดือน คราวนี้น้ำไม่ลงแล้วอุจจาระก็ไม่ลงด้วย ถึงจุดนั้น ต้องใช้รถสูบส้วมมาดูดออก หรือ ถ้าตักออกเองได้ ให้ใช้กระบวยแบบด้ามยาวสักหน่อย มาตักออก

วิธีแก้ส้วมเต็ม ควรหาสาเหตุ ซึ่งมักจะมาจาก ท่อระบายน้ำตันหรือมีตะกอนเยอะ เพราะปกติส้วมจะต้องมีทางระบายออกไปยังท่อสาธารณะเพื่อกันส้วมเต็ม เมื่อแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ตักตะกอนออกจากท่อน้ำสาธารณะแล้ว ส้วมเต็มมักจะหายไป แต่ถ้าเต็มมากๆจนระบายออกไม่ได้ ใช้โซดาไฟ (NaOH คือ sodium hydroxide) ละลายน้ำ ราดลงไปจนถึงจุดที่ยังมีคราบ รอน้ำลดแล้วราดใหม่ ราดหลายๆรอบ โซดาไฟจะไปย่อยเศษอุจจาระ ราดตอนน้ำเอ่อจะได้ผลดีที่สุด เพราะจะขจัดคราบที่ติดตามขอบออกไปด้วย ส่วนที่เหลือแค่ใช้น้ำฉีดตาม แต่ต้องระวัง เวลาผสมโซดาไฟกับน้ำจะมีไอระเหยมีกลิ่นหอม ถ้าสูดดมเข้าไป จะไปกัดหลอดลมและปอด ถ้าไม่สามารถระบายอากาศได้ ต้องใช้วิธีผสมน้ำมากขึ้น จนไม่ร้อนจัด จะไม่มีไอระเหย ถ้าละลายแล้วไม่ร้อนมาก ใส่ภาชนะแก้วหรือกระเบื้องจะไม่แตก อย่าใส่พลาสติกอาจจะร้อนจนละลายได้ อย่าใส่หม้ออลูมิเนียมจะทำปฏิกริยากัน กลายเป็นคราบขาวของอลูมิเนียมออกไซด์

โซดาไฟหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ถุงละประมาณ 1 กก.นำมาเทใส่ขวดพลาสติกชนิด HDPE (ขวดมีสีทึบและหนา) อย่างพวก ขวดน้ำยาซักล้างที่ใช้หมดแล้ว จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้ไม่มีวันหมดอายุ นำมาทำสบู่ใช้เองได้ด้วย ผู้เขียนทำสบู่น้ำมันมะพร้าวใช้เอง ข้อดีคือไม่มีสารเคมี และล้างน้ำมันออกได้ดีกว่าสบู่ชนิดอื่น แต่การละลายโซดาไฟต้องระวังมาก เพราะโซดาไฟสามารถกัดผิวหนังจนบวมแดงทะลุได้อย่างรวดเร็ว

ส้วม เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้ดีตั้งแต่ก่อนใช้งาน เพราะถ้าติดตั้งไม่ดี ใช้ไปได้สักพัก แล้วชิ้นส่วนใดขยับได้ กลิ่นจะออก ส้วมในบ้านผู้เขียนมีแมลงสาบมุดเข้ามุดออกด้วย บางแห่งช่างใส่ท่อพีวีซ๊โดยไม่ทากาวและใส่ไม่แน่น ทำให้สิ่งปฎิกูลไหลออกมา แล้วการซ่อมส้วม เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะน่าขยะแขยง ต้องทำงานกับสิ่งปฎิกูลที่เหม็นมาก ต้องยกโถส้วมขึ้นมาเพื่อดูว่าข้างใต้มีอะไร น่าเศร้าที่ช่างส่วนใหญ่มักจะทำส้วมแบบชุ่ยๆ คือ วางส้วมลงบนพื้นแล้วก็ทาปูนรอบๆ เพื่อยึดโถส้วมกับพื้น แล้ววันดีคืนดีปูนก็จะแตก แล้วส้วมก็เริ่มขยับได้ บางคนชักโครกล้มแตก ส้วมที่ดี จะใช้วิธีขันน็อตยึดติดกับพื้น

ส้วมคอห่าน ควรหล่อปูน คลุมรอบข้าง
เพื่อกันไม่ให้ส้วมขยับ


ส้วมแบบคอห่าน เป็นส้วมที่ถูกสุขอนามัยกว่าชักโครกของฝรั่ง เพราะใช้แค่เท้าเหยียบ จึงไม่มีร่างกายส่วนอื่นสัมผัสกับส้วม แต่ปัญหาคือช่างส่วนใหญ่ติดตั้งไม่เป็น ช่างมักจะวางไว้กับพื้น แล้วทาปูนยาแนวรอบๆรอบต่อระหว่างโถส้วมกับพื้น เมื่อเวลาผ่านไป ปูนยาแนวจะแตก ยิ่งเหยียบบ่อยๆ จะยิ่งทำให้ปูนแตกง่าย บางทีน้ำยาล้างห้องน้ำกัดปูนยาแนวไปเรื่อยๆ พอปูนแตกแล้ว จะเริ่มมีปัญหา เช่น กลิ่นออก

วิธีติดตั้งส้วมแบบคอห่าน ควรใช้ทรงสูง แล้วหล่อปูนขึ้นมาคลุมรอบข้างเพื่อกันไม่ให้ส้วมขยับ การซ่อมโถส้วมคอห่านทรงเตี้ยที่ปูนยาแนวแตก ให้หล่อปูนขึ้นมาให้คลุมมากที่สุด คือ ถึงบริเวณเท้าเหยียบ แต่พื้นรอบข้างควรต่ำกว่าเท้าเหยียบเล็กน้อย ไม่ควรอยู่ในระดับเดียวกัน เผื่อเวลาใช้น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาจะได้ไม่ไหลลงไปในคอห่าน ทำให้แบคทีเรียตาย ทำให้ส้วมเต็ม ต้องดูดออก จุดที่จะวางโถส้วมต้องปรับให้ได้ระดับ เพราะพื้นห้องน้ำส่วนใหญ่มักจะเอียง เพื่อให้น้ำไหลลงท่อได้ดี

ในห้องส้วมควรออกแบบให้ล้างทำความสะอาดง่าย โดยมีก๊อกน้ำสำหรับต่อสายยางเพื่อฉีดล้างทำความสะอาดพื้น และท่อน้ำทิ้งยังควรอยู่ใกล้กับโถส้วม เพื่อสิ่งปฎิกูลตามพื้นจะได้ไม่ไหลไปไกล

ในบ้านควรมีทั้งส้วมแบบคอห่าน และ แบบชักโครกของฝรั่ง เพราะ บางคนอ้วนมาก หรือ คนแก่บางคนหัวเข่าไม่ดี จึงนั่งส้วมคอห่านไม่ได้

โถฉี่ของผู้ชาย เป็นสิ่งที่ควรจะมี ถึงแม้ว่าบ้านจะไม่มีผู้ชาย แต่ก็อาจจะมีผู้ชายมาเยี่ยมบ้าน โถฉี่แบบนี้นอกจากจะฉี่สะดวกแล้วยังช่วยประหยัดน้ำได้

ประตูห้องน้ำภายในบ้าน นิยมใช้ pvc แต่ถ้าใช้ภายนอกบ้านแล้วโดนแสงแดด pvc จะโก่งงอเสียรูปได้เร็ว ผิวสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เช่นเดียวกับ ABS ที่ไม่ทนกับรังสี UV พลาสติกที่ทนรังสี uv มากขึ้นคือ pvc ที่เติม titanium dioxide ซึ่งอาจจะมีขายในพวก uPVC บางยี่ห้อ

ห้องน้ำควรมีอิฐบล็อกแก้วรอบทิศ โดยเฉพาะบริเวณประตู เพื่อให้แสงภายนอกส่องเข้ามาเพื่อกันไม่ให้ทึบจนเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเพื่อให้ข้างนอกรู้ว่า ห้องน้ำเปิดไฟทิ้งไว้หรือมีคนอยู่ในห้องน้ำ แต่ไม่ต้องการให้เห็นคนภายใน  ถ้าไม่มีบล็อกแก้ว เวลาปิดประตูห้องน้ำเพื่อกันกลิ่น จะมองไม่เห็นว่าเปิดไฟทิ้งไว้หรือไม่ เพราะประตูห้องน้ำนิยมใช้พลาสติกทึบ อย่างพวกพีวีซี แต่ไม่นิยมใช้ประตูกระจกมัวเพราะจะมองเห็นคนข้างในรางๆ ส่วนห้องประเภทอื่นที่จะใช้บล็อกแก้วเหนือประตูได้ มีเหตุผลเดียวคือ ให้ภายนอกเห็นว่า ภายในห้องเปิดไฟทิ้งไว้หรือไม่

อ่างล้างมือที่วางบนปูน จะมีอายุยืนกว่าแบบยึดแขวนไว้กับผนัง เพราะ พวกเหล็กยึดจะผุขึ้นสนิม ยิ่งในห้องน้ำมีความชื้นสูง ยิ่งทำให้เหล็กผุง่าย แม้แต่สเตนเลส 304 ก็ยังผุ

ก๊อกน้ำของอ่างล้างมือ ควรใช้ก๊อกแบบยกสูง เพราะหัวก๊อกแบบเตี้ยมีพื้นที่จำกัด เวลาต้องกรอกน้ำใส่ขวดหรือล้างหน้าจะลำบากมาก

พื้นห้องน้ำและกำแพง ควรเป็นสีขาว เช่นเดียวกับพื้นห้อง เพื่อเวลามีสิ่งสกปรก จะได้มองเห็นและทำความสะอาดได้ง่าย บางคนคิดไปเองว่าควรใช้สีเข้มๆจะได้ไม่เปื้อนง่าย แต่หารู้ไม่ว่า เวลาสกปรกแล้วมองไม่ค่อยเห็น ทำให้พื้นและกำแพงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย เวลาทำความสะอาดก็จะมองเห็นไม่ชัดว่าเกลี้ยงหรือไม่ เราจึงสังเกตุเห็นได้ว่า สุขภัณฑ์ที่วางขาย ตั้งแต่อ่างล้างมือจนถึงโถส้วม จึงเป็นสีขาว

งูโผล่ขึ้นมาจากโถส้วม เจอทั้งชักโครกและคอห่าน

ฝาท่อน้ำทิ้งที่พื้นห้องน้ำ ควรอยู่ใกล้กับส้วม เพื่อให้เศษสิ่งปฎิกูลไม่ไหลไปไกล แต่ควรอยู่ไกลจากจุดที่อาบน้ำ เพื่อเวลาอาบน้ำแล้วที่ขังอยู่ที่พื้น ระบายลงท่อไม่ทัน จะได้ไม่ล้นมาถึงเท้า นั่นคือประตูควรอยู่ใกล้กับจุดที่อาบน้ำด้วยเช่นกัน เพื่ออาบน้ำเสร็จจะไม่ต้องย่ำน้ำที่ขังออกไป ฝาท่อควรมีตะแกรงมาปิด ไม่ควรเปิดโล่งไว้ เพราะแมลงสาบจะขึ้นมาได้ แต่ฝาท่อที่มีตะแกรงปิด มักจะมีปัญหาเรื่องมีเศษผมหรือสิ่งสกปรกไปอุดตัน ทำให้น้ำไม่ไหลลงท่อ ต้องถอดมาทำความสะอาดบ่อยๆ

บ้านควรมีอ่างอาบน้ำ อย่างน้อย 1 อ่าง จะใช้ร่วมกันกับทุกคนในบ้าน หรืออยู่กลางแจ้งก็ยังก็ได้ เพราะ อาจต้องใช้เพื่ออาบแร่ธาตุ อย่างเช่น แมกนีเซียมซัลเฟต เพื่อใช้รักษาโรคหลายชนิด

บ้านที่อยู่กับพื้นที่รกร้างตามชานเมือง มีโอกาสที่งูจะมุดเข้ามาตามท่อระบายน้ำ แล้วเข้ามาทางท่อน้ำล้นออกจากบ่อเกรอะ แล้วเข้ามาในบ่อเกรอะ แล้วโผล่ขึ้นมาบนโถส้วมเพื่อมาสูดอากาศ เคยมีคนเจอทั้งงูเหลือม งูหลาม งูเห่า เคยมีคนเข้าส้วม แล้วโดนงูโผล่ขึ้นฉกที่ขา เคยมีคนกำลังนั่งปลดทุกข์อยู่ แล้วงูเหลือมโผล่ขึ้นมากัดอวัยวะเพศชาย บางคนเจองูเห่าแล้วงูมุดกลับลงไปในบ่อเกรอะ กู้ภัยต้องฉีดยาฆ่ายุงเข้าไปโถส้วมและในบ่อเกรอะ ทิ้งไว้สักครู่ งูจะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว โผล่ขึ้นมาหายใจให้จับ ปัญหานี้จะพบกับบ้านจัดสรร ที่สร้างอย่างชุ่ยๆ มีท่อระบายน้ำออกจากบ่อเกรอะ โดยไม่ได้ติดตะแกรงกันงูไว้ วิธีฉึดยาฆ่ายุงนี้ได้ผลเสมอกับงูที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุม อย่างเช่น ใต้กะโปรงรถ

การออกแบบท่อระบายน้ำ ควรมีความกว้างพอที่จอบจะลงไปขูดได้ และควรมีขนาดความกว้างที่สามารถหาฝาท่อมาทดแทนได้ง่าย โดยไม่ต้องหล่อใหม่ เช่น กว้างเท่ากับแผ่นพื้นสำเร็จรูปคือ 35 ซม. เวลาท่อระบายน้ำตัน ให้ไล่ไปถึงตรงจุดที่ไม่ตัน แล้วใช้จอบตักขึ้นมา จะง่ายกว่าใช้ไม้กระทุ้ง

ห้องน้ำ ควรมีห้องเล็กเก็บเครื่องมือซ่อมส้วม เช่น แปรงขัดส้วม ไม้แยงเวลาส้วมตัน

น้ำประปา

ปัญหาน้ำไหลอ่อนเป็นบางเวลา มักเกิดจากท่อประปาที่ผ่านหน้าบ้านมีขนาดเล็ก และเพื่อนบ้านใช้ปั๊มดูดน้ำเข้าบ้าน น้ำประปาในบ้านจึงไม่ควรพึ่งท่อประปาโดยตรง เพราะหาความแน่นอนไม่ได้ แต่ควรมีถังเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย แต่ถ้าน้ำประปาไหลอ่อนตลอดเวลา และค่าน้ำสูงขึ้น เป็นไปได้ว่าท่อน้ำจะรั่ว ลองไล่ดูเริ่มจากมิเตอร์น้ำหน้าบ้านเข้ามา ปกติจะเป็นท่อรั่วใต้ดินทำให้มองไม่เห็น สังเกตุได้จากมีน้ำเจิ่งนองบนพื้นอยู่ตลอดเวลา พื้นกระเบื้องอาจหลุดร่อนมีน้ำอยู่ด้านล่าง แต่บางทีอาจมองไม่เห็นอะไรผิดปกติเลย ปกติถ้าท่อรั่วนอกบ้านจะมีพนักงานประปาเดินตรวจเป็นระยะ แล้วใช้เครื่องมือฟังเสียงน้ำไหล เมื่อเจอแล้วจึงมาซ่อมให้ฟรี แต่ถ้ารั่วใต้ดินในบ้านต้องหาเอง ถ้าหาไม่เจอต้องเจาะพื้นดู หากจ้างช่างประปามาช่วยจะมีประสบการณ์และมีเครื่องมือครบ ด้วยเหตุนี้ ท่อประปาในบ้านจึงควรหลีกเลี่ยงการฝังท่อใต้ดิน เพราะท่อแตกได้ง่ายกว่าทั้งจากดินทรุดหรือรถทับ แตกแล้วมองเห็นยาก หากวางท่อลอยหมดแล้วจะเหลือแค่ท่อประปาเข้าบ้านที่ฝังลงดินแล้วอาจรั่วได้ เคยมีคนรั่วตรงจุดนี้ แก้ไขได้โดยดัดแปลงต่อท่อลอยออกจากมิเตอร์แทน ถ้าจำเป็นต้องฝังท่อลงดิน เช่น ต่อท่อข้ามสนามหญ้าไปยังบ้านอีกหลัง สามารถทำให้ตรวจสอบได้ด้วยตนเองโดยทุกจุดที่ท่อเริ่มขึ้นมาจากดิน ควรติดวาล์วน้ำ (stop valve) เวลาปิดวาล์วน้ำแล้วมิเตอร์น้ำยังหมุนอยู่จะรู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องขุดพื้นดู เพราะการขุดพื้นเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าบ้านเก่าไม่ได้ทำวาล์วน้ำไว้ คิดหาทางติดวาล์วน้ำหรือเดินท่อลอยใหม่จะง่ายกว่าขุดพื้น

ทางเดินน้ำประปา ควรทำให้แข็งแรงและติดตั้งวาล์วน้ำทุกจุดที่มีท่อน้ำเริ่มแตกสาขาออกไป เพราะถ้ามีสาขาจุดใดหักหรือรั่ว จะเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ทั้งบ้าน ต้องรีบซ่อม แต่ถ้ามี วาล์วปิดไว้ที่จุดหนึ่ง จุดอื่นจะไม่ได้รับผลกระทบ การทำวาล์วน้ำเฉพาะตรงจุดที่มีก๊อก นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะ บางทีวาล์วรั่วหรือพังเสียเอง จึงต้องมีวาล์วน้ำทุกๆข้อต่อ การเลือกวาล์วน้ำที่ดี ก้นจะต้องไม่ปูดออกมามาก เพราะเวลาต่อกับท่อ ก้นจะชนกำแพง ทำให้ตัวมันยื่นออกจากกำแพงมากกว่าแนวท่อ จนทำให้เดินท่อไม่ตรงแนว เกิดการรั่วตรงรอยต่อได้ง่ายโดยเฉพาะเวลาซ่อม

ท่อน้ำประปาเข้าบ้านควรมี 2 เส้นแยกไปคนละทาง เผื่อเส้นหนึ่งมีปัญหาจะได้ไม่กระทบกับอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งหมายถึง ควรติดวาล์วน้ำตั้งแต่รอยต่อจากมิเตอร์น้ำเข้าบ้าน เพื่อเวลาปิดน้ำจะทำได้ง่ายกว่าการหมุนเกลียวบนมิเตอร์

ถังเก็บน้ำช่วยแก้ปัญหาน้ำประปาหาความแน่นอนไม่ได้ บางครั้งมีการซ่อมท่อสาธารณะแล้วน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลเอื่อย เราจึงควรมีถังน้ำสำรองที่ปิดสนิท เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ ถังน้ำสำรองควรวางไว้ชั้นบนสุด แต่ถ้าบ้านมีหลายชั้น น้ำประปาอาจแรงไม่พอที่จะขึ้นไปเก็บไว้ชั้นบนสุด จำเป็นต้องใช้ปั๊มน้ำช่วย ถังน้ำสำรองอยู่ชั้นบนของห้องน้ำจะดีที่สุด เพราะใกล้จุดใช้มากที่สุด และห้องน้ำปกติจะมีชั้นเดียว ทำให้ร้อน การมี 2 ชั้นจะช่วยให้ห้องน้ำเย็นขึ้น รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ใช้สอยชั้นบน แถมเวลาน้ำท่วม ยังสามารถหนีขึ้นไปชั้นบนได้ เคยมีเหตุการณ์ที่น้ำป่ามา แล้วคนหนีขึ้นชั้นบนจึงรอด ส่วนรถถูกน้ำพัดลอยไป

ท่อพีวีซี (pvc) จะมีหลายสี ท่อสีน้ำเงินจะใช้กับน้ำประปา สีเทาใช้กับท่อน้ำทิ้งที่ไม่ต้องรับแรงดันน้ำมาก อย่างแอร์ หรือ ส้วม ส่วนสีเหลืองใช้เดินสายไฟหรือสายโทรศัพท์ และสีขาวใช้กับสายไฟในบ้าน สายไฟในบ้านจะนิยมใช้รางสี่เหลี่ยมแบบเปิดฝาได้ แต่อย่าใช้ท่อสีขาวเป็นท่อน้ำ เพราะบางยี่ห้อบางมาก บิดหัวก๊อกแรงหน่อยท่อหักเลย หากต้องการท่อสีอื่น ค่อยทาสีทับทีหลัง แต่ใช้นานๆไปสีจะลอก


ที่ตัดท่อแบบหนีบ ใช้ตัดท่อทองแดง
วิธีเลือกขนาดท่อ pvc คือ ดูว่าของเดิมใช้ยี่ห้ออะไร และวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกด้วย เนื่องจาก ท่อ pvc ที่วางขาย มีหลายยี่ห้อ  ถึงแม้ว่า ขนาดที่เขียนไว้ข้างท่อ จะเท่ากัน แต่เมื่อวัดเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว อาจไม่เท่ากัน ถ้าซื้อท่อขนาดไม่เท่ากันมา จะนำมาต่อกันไม่ได้ เพราะไม่มีตัวแปลงต่างมาตรฐานวางขาย นอกจากนี้ ยังต้องดูหัวก๊อกด้วย ใส่กับท่อ pvc ได้หรือไม่

ท่อ pvc ยาวๆ สามารถขนใส่รถได้ ด้วยการงอเป็นครึ่งวงกลม พอขนลงจากรถแล้ว ค่อยมาดัดอีกที


กรรไกรตัดท่อพีวีซี มี 2 แบบคือแบบไม่มีฟันเฟือง (ซ้าย) และแบบมีฟันเฟือง (ขวา) แบบแรกทำงานตามซอกเล็กซอกน้อย ได้ดีกว่าแบบหลัง เพราะปากแคบกว่า แบบหลังเหมาะกับตัดท่อในที่โล่ง เพราะมีฟันเฟืองช่วยผ่อนแรงได้
การตัด ท่อ pvc ควรใช้กรรไกรตัดท่อ หรือจะใช้เลื่อยตัดก็ได้แต่จะช้า (เลื่อยเหมาะสำหรับวัสดุที่ใช้กรรไกรตัดไม่ได้เช่น ท่อขนาดใหญ่เกินกว่าปากกรรไกร หรือ ท่อพลาสติก ABS ซึ่งเปราะแตกง่าย) ใช้ลูกหมูตัดก็ได้แต่จะยุ่งยากเสียเวลา เพราะต้องประกอบใบและเสียบไฟ กรรไกรราคาถูกๆบางตัว อาจจะขึ้นสนิมไว หรือ ตัดท่อไม่ตรง บางทีเหลือติ่งไว้ กรรไกรดีๆจะตัดง่าย ตัดแล้วท่อตรง การเลือกกรรไกรตัดท่อ pvc ควรเลือกแบบที่ไม่มีฟันเฟือง(ratchet) เพราะใช้ง่ายกว่า และแคบเก็บในกล่องง่าย แบบมีฟันเฟืองถ้าไม่บีบจนสุด อาจจะเข้าเฟืองใหม่ไม่ได้ บางยี่ห้อบีบจนสุดแล้วก็อาจจะยังเข้าไม่ได้ เพราะเฟืองหลุด ต้องใช้มือดันเข้าไปใหม่ จุดที่หลวมนี้เองมักจะทำให้เฟืองสึกง่าย ถ้าจะใช้กรรไกรแบบมีเฟือง ควรจะใช้แบบเฟืองถี่ๆ

การตัดท่อ pvc ควรตัดให้เกินไว้ เพราะต้องใช้ความยาวเพิ่มเพื่อสอดท่อเข้าไปในข้อต่อ


การประกอบท่อน้ำประปาที่เป็นเกลียว อย่าขันแบบเอาเป็นเอาตาย แค่ขันให้น้ำไม่รั่วและไม่หลวมก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ถ้าขันแน่นเกินไปมีโอกาสที่พลาสติกจะแตก อุปกรณ์บางชิ้นอย่างเช่น เครื่องกรองน้ำ อาจจะไม่เห็นผลทันที ใช้ไปสัก 3 เดือนพอแรงดันน้ำสูงขึ้น จึงจะเริ่มบวม แล้วต่อไปก็จะรั่วไปตลอด

วิธีต่อท่อ
  1. ล้างฝุ่นและคราบมันออกจากรอยต่อ เพราะคราบสกปรกจะทำให้กาวหลุดลอกง่าย ถ้าล้างไม่ออกจึงใช้แปรงขัด ถ้าขัดไม่ออกจึงใช้กระดาษทรายขัดต่อ ถ้าเป็นคราบมันอย่างเดียว สามารถใช้ primer ออกล้างได้
  2. ก่อนประกอบท่อเข้าด้วยกัน ควรจะวัดระยะที่ท่อเล็กสอดเข้าไปสุดท่อใหญ่ แล้วติดเทปกาวไว้ตรงจุดสิ้นสุดของท่อเล็ก เพื่อเวลาสอดจริง จะได้รู้ว่าสอดเข้าไปสุดหรือไม่
  3. เตรียมพื้นผิวก่อนทากาว โดยใช้ primer ทารอยต่อทั้ง 2 ชิ้นเพื่อละลายพื้นผิว ช่วยให้รอยต่อนิ่มขึ้น และช่วยให้กาวติดดีขึ้น (ยกเว้นท่อ ABS สีดำไม่ต้องใช้ เพราะผิวบาง แค่ล้างแล้วทา ABS cement ได้เลย) สารเคมีพื้นฐานที่ใช้คืออะซิโตน ซึ่งมีข้อเสียคือระเหยไว จึงควรเปลี่ยนมาใช้ MEK แทน ถ้าไม่ใช้ primer ใช้แต่กาวอย่างเดียว จะสามารถดึงท่อให้หลุดจากกันได้ง่าย ถ้าเจอความร้อนหรือแรงดันน้ำก็มีโอกาสรั่วได้ ถึงแม้ว่าในกาวจะมีส่วนผสมของ primer แต่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลัก ถ้าใช้ primer 100% จะทะลุทะลวงได้ดีกว่าที่ผสมอยู่ในกาว ทำให้เชื่อมท่อได้แน่นกว่า จริงๆแล้วแม้แต่ท่อน้ำทิ้งธรรมดา ที่ไม่ได้รับแรงดันอะไรถ้าไม่ใช้ primer พอทิ้งไว้ไม่กี่ปี มีโอกาสหลุดออกจากกันเหมือนไม่ได้ทากาว ดังนั้น อย่าทำให้เกิดปัญหาต้องมาซ่อมภายหลังจะดีกว่า เมื่อทา primer แล้วอย่าทิ้งไว้นาน เพราะผิวจะแข็ง ต้องทาใหม่ ควรรอให้หมาดๆแล้วทากาว จะติดดีที่สุด ถ้าทากาวทั้งที่ยังเปียกๆ กาวจะไม่ติด ควรใช้ primer แบบใส ระวังแบบที่วางขายแล้วเติมสีม่วง เพราะเคยมีคนใช้แล้วท่อไม่เชื่อมต่อกัน (สีม่วงใช้เพื่อให้คนที่มาตรวจสอบรู้ว่าได้ทาแล้ว กฎหมายบางพื้นที่ในต่างประเทศบังคับให้ใช้ ถ้าจำเป็นต้องใช้สีม่วง แต่กลัวมีปัญหา ให้เติมสีใสลงไปอย่างละครึ่ง) ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีเหล่านี้คือ อย่าสูดดมเข้าไป และอย่าให้หกใส่พื้นไวนิล พื้นจะเสียได้ ถ้าอยู่ในพื้นที่กันดาร หาสารเคมีเหล่านี้ลำบาก หรือช่างบางคนใช้ไม่เป็น แค่ล้างแล้วสามารถต่อท่อได้เลย
  4. ใช้กาวทาท่อ เชื่อมท่อ pvc กาวจะช่วยละลายผิวท่อ ร่วมกับเส้นใย pvc ในกาวที่แข็งตัวแล้วเป็นเหมือนพลาสติกชิ้น หนึ่งที่ช่วยกันรั่ว ทากาวบางๆ ที่ผิวของทั้งสองชิ้น (อย่าทาด้านเดียวเพราะจะมีโอกาสหลุดได้ง่าย) กาวจะแห้งเร็วมาก เพราะฉะนั้น รีบจับมาต่อกัน หมุน 1/4 รอบเพื่อให้กาวกระจายทั่ว เช็ดกาวส่วนเกินออกด้วยผ้าขี้ริ้วหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ อาจใช้ primer ช่วยเช็ดหากเช็ดเบาๆ จะไม่ทำอันตรายต่อท่อ pvc แต่ถ้าใช้มากกว่านี้จะทำให้ท่อนิ่ม ควรแบ่งกาวจากกระปุกมาใส่ขวดน้ำยาทาเล็บเปล่า โดยใช้กระดาษมาม้วนทำเป็นกรวย ติดเทปกาวกันอ้า แล้วเทจากกระปุกใหญ่ผ่านกรวยลงในขวดเล็ก สามารถใช้แปรงทาเล็บออกมาทาท่อ pvc ได้พอดี รอเวลา 15 นาทีเพื่อให้ทนแรงดันน้ำได้ และ 2 ชั่วโมงเพื่อให้แข็งแรงเต็มที่ ก่อนเปิดน้ำเข้าท่อ ลองเติมน้ำลงไปในท่อให้เต็มดูก่อนว่ามีอะไรรั่วหรือไม่ ถ้าเปิดน้ำแล้วไม่มีน้ำหยดออกมา ถือว่าใช้ได้ ถ้าน้ำหยด ให้ทดลองบิดออกมา ถ้าหลุดให้ทากาวใส่เข้าไปใหม่ กาวทาท่อมีหลายยี่ห้อ ยี่ห้อที่มีมาตรฐานติดแล้วไม่หลุด ส่วนพวกราคาถูกๆ อาจจะติดไม่แน่น ทำน้ำรั่ว หรือใช้ไปสักพัก มีโอกาสหลุดได้
ข้อควรรู้ในการะประกอบท่อ pvc คือ เมื่อทากาวแล้วจะยึดถาวร ถอดไม่ได้ หากรั่วแล้วซ่อมยาก จึงควรประกอบด้วยความระมัดระวัง และทำให้ซ่อมแซมได้ง่ายเวลาเกิดปัญหา ทุกจุดของบ้าน ที่เป็นรอยต่อระหว่าง ความสกปรกกับความสะอาด จำเป็นต้องมีน้ำล้างมือหรือล้างเท้า เพื่อเวลาทำงานสกปรกนอกบ้าน จะไม่เอาฝุ่นเข้ามาในห้องที่สะอาด จุดแรกคือ ประตูเข้าบ้าน หรือจุดอื่นๆเช่น หน้าห้องเก็บของ จุดที่ต้องล้างแอร์ทั้งคอยล์เย็นและคอยล์ร้อนซึ่งเป็นจุดดักฝุ่น ฯลฯ ถ้าจุดที่ทำงานสกปรกไม่มีก๊อกน้ำ แก้ไขเบื้องต้นด้วยถังใส่น้ำล้างมือ

เมื่อมีน้ำแล้วก็ต้องมีผ้าเช็ดน้ำ เมื่อมีผ้าแล้วก็ต้องมีที่ตากผ้าและตากไม้ถูพื้น ควรทำที่ตากใกล้จุดที่ต้องเช็ดน้ำมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินไปตากไกล

ก๊อกน้ำ
ก๊อกที่ไม่ควรใช้คือก๊อกพลาสติกราคาถูกๆ เพราะเปิดปิดไม่กี่ทีก็รั่ว บางทีขันเข้าไปแล้วหักตรงรอยต่อระหว่างเกลียวกับตัวก๊อก ทำให้เกลียวติดอยู่ในรู ต้องใช้เลื่อยบากเป็นร่อง 4 มุม แล้วใช้ไขควงดันตรงร่องเพื่อหมุนออกมา แม้แต่ก๊อกเหล็กที่ราคาถูก ใช้ไปสักพัก มักจะหักหรือรั่ว ต้องซื้อใหม่อยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ใช้โลหะผสมเพื่อลดราคา พอเจอความชื้นในห้องน้ำ สีเงินมักจะเปลี่ยนเป็นคราบสีดำ

วัสดุที่ใช้ทำก๊อกน้ำ ก๊อกน้ำที่ดี ต้องใช้วาล์วทำจากเซรามิก จึงจะทนเพราะส่วนใหญ่ก๊อกจะรั่วตรงวาล์วกับมือจับ ส่วนภายนอกจะทำด้วยสเตนเลสแท้เกรด 304 ซึ่งมีราคาแพง แต่ก๊อกน้ำที่ราคาแพง อาจมีส่วนประกอบของพลาสติกเคลือบโครเมียม ซึ่งเมื่อใช้ไปนานๆก็จะลอก แล้วกลายเป็นคราบสีดำ ก๊อกน้ำสเตนเลสบางยี่ห้อจะมีห่วงยางมาให้ ไม่ต้องใช้เทปพัน แต่ยางพวกนั้นรวมถึงพลาสติกด้านใน ถ้าไม่ใช่แบบเติมธาตุฮาโลเจน พอใช้ไปได้สักพัก จะโดนคลอรีนจากน้ำประปากัดจนเสีย แต่ก๊อกน้ำที่วางขายในท้องตลาด ไม่ได้บอกละเอียดขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรเลือกซื้อก๊อกน้ำที่รับประกันรั่วซึมตลอดอายุการใช้งาน พวกราคาถูกๆ ใช้ไปสักพักจะเป็นสนิม  พวกราคาปานกลางข้างในจะไม่ใช้ทองเหลืองแท้ สังเกตุว่าดูว่าสีเหลืองด้านในจะมีคราบ พอใช้ไปนานๆ อาจมีสิ่งเจือปนมากับน้ำ พวกราคาแพงจะชุบโครเมียม และด้านในใช้ทองเหลืองแท้ ใช้ได้นานเป็นสิบๆปี


รูปทรงก๊อกน้ำที่เหมาะใช้ในบ้าน ควรเป็นแบบสูงๆ ยาวๆ เปิดปิดง่าย จะสะดวกกว่าพวกก๊อกสนามซึ่งเปิดปิดยาก ที่เปิดก๊อกแบบ โยกขึ้นลง ราคาแพงกว่า แบบโยกซ้ายขวา เพราะวาล์วต่างกัน การรับประกันจึงต่างกัน ราคาแพงจะรับประกันตลอดชีวิต ราคาถูกจะรับประกันแค่ไม่กี่ปี ถ้าต้องต่อก๊อกเข้ากับท่อโดยตรง อย่าเดินท่อในแนวขนานกับพื้น เพราะจะหาก๊อกน้ำใส่ยาก ปลายท่อที่อยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้น จะหาก๊อกใส่ง่ายกว่า แต่ถ้าจะต่อก๊อกเข้ากับอ่าง ก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะมีท่ออ่อนเป็นตัวกลาง

ขนาดของก๊อกน้ำ ควรดูจากสิ่งกีดขวางที่อยู่รอบข้าง ทั้งด้านบนและด้านล่าง ถ้าเป็นก๊อกของอ้างล้างจาน ก็อย่าให้ยาวจนน้ำล้นออกมานอกอ่าง และอย่าให้สูงมาก มิฉะนั้นเวลาประกอบจะหมุนไม่ได้เพราะ ติดอ่างด้านล่าง


วิธีต่อก๊อกน้ำ ให้อ่านคู่มือที่ติดมากับหัวก๊อก หลักการคือ เมื่อก๊อกน้ำซึ่งเป็นเหล็กมาต่อกับท่อน้ำ ซึ่งอาจเป็นเหล็กหรือพีวีซี จะต่อกันไม่สนิท เพราะแข็งกับแข็งมาเจอกัน เราจึงต้องหาวัสดุที่นิ่มๆมากั้นระหว่างกลาง ซึ่งจะเป็นยางหรือซิลิโคนก็ได้ แต่สาเหตุที่ใช้เทปเทฟลอน คือพลาสติกที่เติมฟลูออไรด์ จึงไม่ทำปฎิกริยากับคลอรีนในน้ำประปา เทปจะอุดช่องว่างระหว่างเกลียว ป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่าน หลักการพันเกลียวของก๊อกน้ำคือ อย่าให้น้ำรั่ว และ ต้องให้น้ำไหลออกจากก๊อกในแนวดิ่ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบที่พัน ถ้าพันหนาเกินไป จะขันเกลียวไม่สุด ถ้าพันน้อยเกินไปจะรั่ว พอรั่วแล้วต้องถอดออกมาซ่อมด้วยการพันเพิ่ม พันให้หนาพอที่เวลาขันเข้าไปแล้วรู้สึกฝืด เริ่มพันจากน้อยรอบ แล้วทดลองขันดู ถ้ายังหลวม ให้ถอดออกมาพันเพิ่ม ก๊อกบางตัวพันแค่ไม่กี่รอบ แต่บางตัวต้องพันหลายสิบรอบ จึงจะเริ่มขันแล้วฝืด แล้วจึงขันจนสุดเกลียวจนเริ่มแน่นขันต่อไม่ได้ แต่ไม่ต้องแน่นมาก แค่หัวก๊อกไม่ขยับหมุนซ้ายขวาได้เองเวลาใช้งานถือว่าใช้ได้  ถ้าเริ่มฝืดแล้ว มุมของหัวก๊อกยังเบี้ยว ให้คลายออกมาพันเทปเพิ่ม เพิ่มเทปขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะฝืดตรงแนวที่ต้องการ และ สังเกตุว่าไม่มีน้ำหยดออกมาจากเกลียว ถือว่าใช้ได้


เมื่อประกอบก๊อกน้ำเข้ากับท่อแล้ว ควรจะทดลองใส่น้ำดูว่าไม่มีน้ำรั่วตรงเกลียว มิฉะนั้น ถ้าติดตั้งจนเสร็จหมดแล้ว น้ำรั่ว อาจต้องรื้อใหม่หมด เพราะถ้าถอดออกมาพันเทปเพิ่ม หมุนกลับเข้าไปอาจไม่ได้มุมเดิม บางทีทดลองดูแล้วไม่รั่ว แต่พอขันเข้าไปแล้วรั่วก็มี เพราะแรงดันน้ำในท่อสูงกว่าแรงดันตอนทดสอบ วิธีต่อก๊อกให้ตรงและแน่นคือ อย่าขันก๊อกเข้ากับเกลียวท่อในบ้านโดยตรง แต่ควรใส่ผ่านข้อต่อ โดยใส่ข้อต่อตัวเมียกับก๊อก แล้วใส่ข้อต่อตัวผู้กับเกลียวท่อในบ้าน แล้วจึงนำท่อพีวีซีมาติดกาวเชื่อมระหว่างข้อต่อตัวผู้กับตัวเมีย

ถ้าถอดก๊อกออกแล้วมีเทปพันท่อติดอยู่ ใช้มือแกะไม่ออก ลองใช้แปรงพลาสติกขัดออก หรือใช้ผ้าชุบน้ำถู หรือใช้อะไรแหลมๆค่อยๆเขี่ยออก ถ้าเขี่ยออกมาได้เส้นหนึ่งจะดึงต่อได้ยาว

ที่เปิดก๊อกบางตัว อาจมีร่อง หนีบมือได้ โดยเฉพาะเวลาเช็ด

ก๊อกสนาม ออกแบบมาเพื่อให้ใช้กลางสนาม จึงมักจะใช้สีสดใสเช่นสีส้ม เพื่อให้มองเห็นได้ง่าย แต่ไม่เหมาะจะใช้ในบ้าน เพราะว่า บิดยาก ฝืด ถ้าใช้ในบ้าน ใช้หัวก๊อกสเตนเลสที่บิดง่ายๆดีกว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้ก๊อกสนามนอกบ้าน ควรเลือกแบบที่ หัวถอดออกมาแล้วมีเกลียว เผื่อวันหลังจะใช้สวม ข้อต่อสายยางได้


ปั๊มน้ำ
ปั๊มทำงานด้วยหลักการเดียวกับการสูบลมจักรยาน เข็มฉีดยา ใบพัดเรือ หรือแม้กระทั่งการใช้ปากดูด เพียงแต่ใช้ไฟฟ้าทำงานแทนแรงงานคน มันจึงไม่ค่อยฉลาดเหมือนคน ถ้าใช้ผิดจากวิธีที่ออกแบบมาก็จะพัง

ปั๊มน้ำมีหลายชนิด ปั๊มที่เหมาะสมที่สุดสำหรับดูดน้ำและสารเคมีคือ ปั๊มไดอะแฟรม  แบบที่ใช้กับเครื่องกรอง reverse osmosis เพราะ สารที่ไหลผ่านปั๊มจะสัมผัสกับยาง 2 แผ่นเท่านั้น ไม่สัมผัสกับชิ้นส่วนภายใน ต่างจากปั๊มแบบลูกสูบหรือโรตารี่อาจมีน้ำมันปนเปื้อนมากับสารที่ไหลผ่าน พวกมันจึงเหมาะสำหรับพวกปั๊มลม หรือพวกน้ำมัน

ปั๊มน้ำที่ขายตามร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน จะเป็นปั๊มแบบหอยโข่ง ทำงานแบบอัตโนมัติเมื่อแรงดันน้ำขาออกตก ปั๊มบางยี่ห้อมีขนาดใหญ่ เพราะมีถังเก็บน้ำในตัว ใช้ปั๊มหอยโข่งอัดแรงดันเข้าถัง ที่วางขายในท้องตลาดมี 2 ชนิดตามฝาครอบที่เห็นภายนอกคือ ฝากลมเป็นแบบเก่า กับฝาสี่เหลี่ยมเป็นแบบใหม่ ถอดฝาครอบออกมาดูจะเห็นว่า แบบฝากลมมีปั๊มน้ำอยู่บนถังแรงดัน ทำงานโดยอัดน้ำเข้าถังแรงดันแล้วอาศัยอากาศในถัง ช่วยดันน้ำออก ทำให้แรงดันน้ำที่ปล่อยออกมาไม่คงที่ น้ำจะแรงแค่ช่วงต้นแล้วอ่อนในช่วงปลายเหมือนปล่อยลมออกจากลูกโป่ง ต่อมาจึงมีการพัฒนามาเป็นแบบฝาสี่เหลี่ยม ภายในมีถังแรงดันอยู่ข้างปั๊ม ในถังแรงดันมีถุงเก็บน้ำทำจากยาง (เรียกว่าไดอะแฟรม ซึ่งเป็นคนละอย่างกับปั๊มไดอะแฟรม) นอกถุงมีก๊าซไนโตรเจนดันยางจากรอบนอก ไนโตรเจนช่วยให้แรงดันน้ำคงที่อยู่ตลอดเวลา จึงเรียกกันว่าปั๊มแรงดันคงที่


ปั๊มมีโอกาสเสีย ช่างประปาจึงทราบกันดีว่า ควรมีการต่อท่อน้ำแยก เวลาปั๊มเสียจะได้ใช้น้ำประปาโดยตรง เพียงแค่เปิดปิดวาล์วน้ำ


ปัญหาของปั๊มที่ใช้ใบพัดดันน้ำ อย่างปั๊มหอยโข่งคือ มีแรงดูดต่ำ จึงใช้ในลักษณะเพิ่มแรงดันน้ำ
เหมาะสำหรับใช้กับ ระบบน้ำเสีย เช่น ดูดน้ำออกจากบ้านตอนน้ำท่วม หรือรดน้ำในสวน เพราะมีอัตราการไหลสูง แต่ไม่ค่อยมีกำลังดูดน้ำ ถ้าใช้ดูดน้ำต้องติดตั้งในที่ต่ำเพื่อดันน้ำ อย่างปั๊มจุ่มดูดน้ำจากบ่อ แต่คนส่วนใหญ่นำมาใช้กับน้ำประปาในบ้าน ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องใช้ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ช่วย ปั๊ม ต้องอยู่ต่ำกว่าถัง เพื่ออาศัยแรงดันน้ำจากถังเข้า ปั๊ม ส่วนน้ำเข้าถังต้องอาศัยแรงดันจากท่อประปา เพียงอย่างเดียว เราจึงเห็นบ้านทั่วไปที่ใช้ปั๊ม ชนิดนี้ ต้องติดถังเก็บน้ำไว้ชั้นล่าง ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมทำให้ปั๊มพังแล้ว ยังเสียทัศนียภาพ เปลืองพื้นที่ และเปลืองไฟ เพราะปั๊มต้องเปิดๆปิดๆตอนใช้น้ำ บาง คนแก้ปัญหาน้ำประปาไหลอ่อนจนไม่เข้าถังด้วยการฝังถังลงใต้ดินแล้วเจอ ปัญหาการบำรุงรักษาตามมา ตั้งแต่น้ำเสียไหลจากพื้นลงถังจนถึงท่อแตกใต้ดิน แถมยังทำให้ปั๊มอยู่สูงกว่าถัง  แล้ว ดูดน้ำไม่ขึ้น บางคนตั้งใจติด ปั๊มไว้สูงกว่าถังเพื่อกันน้ำท่วม โดยแก้ ปัญหาดูดน้ำไม่ขึ้นด้วยการติดวาล์วทางเดียวช่วยกันน้ำไหลย้อนกลับ แล้วใส่น้ำล่อลงในปั๊มเวลาไม่มีน้ำในท่อ บางคนไม่มีถังน้ำชั้นล่าง อาศัยต่อปั๊มหอยโข่งออกจากท่อประปาโดยตรง ซึ่งเสี่ยงปั๊มพังเวลาน้ำประปาไม่ไหลเป็นเวลานาน (ยกเว้นมีตัวตัดน้ำเมื่อน้ำขาด) แถมปั๊มที่วางขายทั่วไปยังมีอัตราการไหลของน้ำสูงกว่าน้ำประปาหลายเท่าตัว จนดึงน้ำจากท่อประปามาไม่ทัน ทำให้เปลืองไฟ และสร้างปัญหาให้เพื่อนบ้านเจอน้ำไหลอ่อน

การใช้ปั๊มที่ประหยัดพื้นที่และไม่ต้องบำรุงรักษามากคือ น้ำจากก๊อกควรไหลออกมาจากถังเก็บชั้นบน ไม่ใช่ไหลออกมาจากปั๊มโดยตรง ยกเว้นในกรณีที่ ฐานรากไม่รองรับทำให้
ติดถังชั้นบน ไม่ได้ หรือเป็นอาคารขนาดใหญ่มีคนใช้น้ำเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้ปั๊มหอยโข่งช่วยจากชั้นล่าง แต่ถ้าต้องการเก็บ น้ำไว้ในถังชั้นบน แล้วใช้ปั๊ม หอยโข่งช่วย ต้องมีถังน้ำอยู่ทั้งชั้นล่างและชั้น บน ซึ่งเปลืองพื้นที่ ทางออกที่ไม่ต้องมีถังชั้นล่างหรือใช้ถังขนาดเล็กได้คือ ใช้ปั๊มไดอะแฟรม

ปั๊มไดอะแฟรม  มี 2 ประเภทคือ ปั๊มอัด (booster) กับปั๊มจ่ายอัตโนมัติ (demand delivery) ถ้าเป็นปั๊มอัด จะมีแรงดันด้านส่ง (psi) สูง ใช้เพิ่มแรงดันน้ำแบบเดียวกับปั๊มหอยโข่ง แต่ถ้าเป็นปั๊มจ่ายอัตโนมัติ จะสามารถเปิดปิดเองได้ตามแรงดันน้ำขาออก เหมาะใช้ดูดน้ำประปาเข้าถัง สามารถทำงานได้ถึงแม้จะไม่มีน้ำผ่าน สามารถติดตั้งไว้ในระดับสูงขึ้นได้ (ตามความสามารถในการดูดของปั๊มแต่ละรุ่น) ส่วนข้อเสียของมันคือ อัตราการไหลต่ำกว่าปั๊มแบบอื่น ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเพราะเรามีถังเก็บน้ำช่วย

ปั๊มไดอะแฟรมมักจะไม่มีสวิทซ์ แต่จะมีสายไฟเปลือยๆมาให้ ซึ่งสายเปลือยเหมาะสำหรับต่อเข้ากับสวิทซ์ เพื่อที่จะได้สามารถเปิดหรือปิดปั๊มด้วยมือและอัตโนมัติ

การติดตั้งปั๊มจ่ายเพื่อดูดน้ำเข้าบ้าน จึงควรติดตั้งตัวกรองกรองหยาบก่อนเข้าปั๊ม เรียกว่า housing เพื่อป้องกันเศษผง ใช้กรอบใสจะมองเห็นระดับน้ำได้ แล้วจึงผ่านน้ำที่กรองแล้วเข้าปั๊ม ใช้น้ำที่ผ่านตัวกรองเป็นตัวล่อน้ำได้ด้วย ถ้าจะกรองละเอียดกว่านั้นก็ติดตั้งตัวกรองเพิ่มก่อนเข้าปั๊มได้อีก ปั๊มจะตัดการทำงานเมื่อความดันปลายท่อสูงขึ้นเนื่องจากการปิดท่อ พอความดันปลายท่อต่ำเนื่องจากการเปิดท่อ ปั๊มก็จะทำงานอัตโนมัติ ปั๊มจ่ายนี้จะมีความดันด้านส่งต่ำ ดูได้จากค่า psi แต่มีแรงดูดสูง ดูได้จากค่า priming การเลือกปั๊มพวกนี้จึงคำนวณแรงดูด จากค่า priming หักแรงเสียดทานในท่อ (เรียกว่า head loss ซึ่งรวมทั้ง head loss จากตัวกรองด้วย โดยเฉพาะเวลากรองเริ่มตันจะยิ่งมี head loss สูงขึ้นจนปั๊มดูดไม่ไหว ต้องใช้น้ำล่อ) ผลลัพธ์คือระยะสูงสุดที่ปั๊มจะดูดขึ้นไปถึง ถ้าผลลัพธ์น้อยกว่าความสูงของตึกก็จะดูดไม่ขึ้น ค่า head loss สามารถวัดได้ด้วยเกจวัดความดัน และสามารถแปลงจาก psi ไปเป็นฟุต โดยใช้สูตร psi x 2.31 = ความสูงเป็นฟุต

ถ้าปั๊มน้ำต้องเปิดๆปิดๆบ่อยๆ ควรเลือกแบบที่มีระบบลดความร้อนด้วย ถ้าเสียงดัง บางรุ่นก็มีระบบลดเสียง

อะหลั่ยตั้งแต่ปั๊มไดอะแฟรมจนถึงตัวกรองและข้อต่อ ซื้อได้จากร้านขายเครื่องกรองน้ำ ระบบท่อน้ำของไทยนิยมเรียกเป็นหุน วัดจากเส้นผ่าศูนย์กลางของวงนอกสุด โดย 1 หุน เท่ากับ 1/8 นิ้ว หรือจำง่ายๆว่า ท่อประปาในบ้านที่ใช้กันบ่อยที่สุดคือ 4 หุนเท่ากับ 1/2 นิ้ว แต่ถ้าเป็นท่อน้ำดื่มจะนิยมใช้สายอ่อนขนาด 3 หุนหรือ 3/8 นิ้วเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ หรือลดแรงดูดจากปั๊ม ดังนั้นถ้าจะแปลงจากท่อน้ำประปามาเข้าท่อน้ำดื่ม จึงอาจต้องมีข้อต่อที่ใช้แปลงเรียกว่าฟิตติ้ง (fitting) ถ้าเป็นฟิตติ้งที่ต่อเข้าสายอ่อนจะมี 2 แบบ แบบเก่าเวลาจะใส่หรือถอดต้องขันเกลียว ส่วนรุ่นใหม่จะเป็น speed fit คือเสียบสายเข้าไปแล้วล็อคเลย ยิ่งดึงยิ่งแน่น

เครื่องกรองน้ำ
เครื่องกรองน้ำที่กรองเชื้อโรคได้จริงคือแบบ reverse osmosis หรือที่เรียกย่อๆว่า RO เพราะกรองได้ถึง 0.0005 ไมครอน ในขณะที่เชื้อโรคที่มีขนาดเล็กที่สุดคือเชื้อไวรัส มีขนาดอย่างมาก 0.01 ไมครอน แต่ข้อเสียของเครื่องกรองแบบนี้คือ กรองแร่ธาตุจากน้ำออกไปหมดทั้งดีและไม่ดี ซึ่งจากข้อมูลของการประปา น้ำประปามีแมกนีเซียมสูงถึง 8 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือดื่มน้ำ 3 ลิตร (ประมาณ 2 วัน) เท่ากับกินกล้วย 1 ลูก ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย ดังนั้น เมื่อใช้น้ำ RO แล้ว ควรกินผักผลไม้ให้เพียงพอทุกวัน เพื่อป้องกันโรคขาดแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยของคนไทย ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ถึงแม้ว่าปัจจุบัน แต่ละบ้านจะไม่ได้ใช้น้ำ RO แต่ก็ยังเป็นโรคขาดแมกนีเซียมกันอยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่รู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง เครื่องกรองคาร์บอนธรรมดา จึงค่อนข้างจะปลอดภัยกว่า แต่สำหรับคนที่กินผักผลไม้สม่ำเสมอแล้ว เครื่องกรอง RO จะปลอดภัยกว่า เครื่องกรองน้ำ ควรเลือกแบบกระบอกใส่ใส้กรองเป็นพลาสติกใส เพื่อให้มองเห็นว่าข้างในมีสิ่งสกปรกอุดตันหรือไม่ แต่แบบใสถ้าโดนแดดอาจขึ้นตะไคร่น้ำ จึงควรติดตั้งไว้ในจุดที่ทึบแสง

คำพูดของผู้ผลิตน้ำประปาเชื่อถือไม่ได้ เพราะชอบพูดแต่ข้อดีเพื่อไม่ให้คนตื่นตระหนก อย่างช่วงที่น้ำท่วมปี 2554 ที่น้ำเน่าทะลักเข้ามาในคลองประปา การประปาบอกว่าน้ำประปาช่วงนั้นดื่มได้ แต่ผมนำมาเทใส่แก้ว ตั้งทิ้งไว้ในห้องแค่คืนเดียว น้ำมีกลิ่นเหม็นเหมือนหนูตาย

คีมรีเวท (Rivet)
ใช้ยึดวัสดุสองแผ่น เช่น พลาสติก หรือโลหะ เข้าด้วยกันอย่างถาวร (การถอดสามารถเจาะทำลายได้ไม่ยาก) ใช้กับพื้นผิวบางๆที่ไม่สามารถใช้สกรูหรือน็อตขันได้ หรือต้องการยึดด้วยความรวดเร็ว อย่างยึดบานพับกับประตูพลาสติก สกรูเกลียวปล่อยจะใช้กับพื้นผิวหนาๆ เช่น ไม้หรือปูน ถ้าเป็นพื้นผิวปิด เช่น ประตูพลาสติก ใช้รีเวทจะสะดวกกว่ามาก คือ ใช้สว่านเจาะนำ แล้วใช้คีมดึงรีเวท

คีมดึงรีเวทที่ทำจากจีน ราคาถูกจนถึงปานกลาง มักจะมีปัญหาจุกจิก  เช่น ดึงดอกรีเวทสุดแล้วไม่ตัดแกนให้ขาด หรือ ใช้แล้วดอกรีเวทติดอยู่กับคีม ดึงไม่ออก หรือดอกตกค้างอยู่ในคีม ต้องหาอะไรมาเขี่ยออก คีมดึงรีเวทของญี่ปุ่นหรือของฝรั่ง ดึงแล้วเบามือ ตัดแกนขาดง่าย อาจมีปัญหาบ้าง แต่ก็แก้ไขได้ง่าย เช่น แกนค้างอยู่ในคีม ก็มีวิธีถอดประกอบเขียนบอกไว้ข้างกล่อง แค่ถอดออกมาเพื่อจะดึงแกนที่ค้างอยู่ออกมา แล้วประกอบกลับไปใหม่ก็ใช้ได้เหมือนเดิม

คีมรีเวทที่ดี ควรจะเขียนบอกส่วนประกอบ เพราะว่า เวลาตัดแล้วขาติด จะได้ถอดข้างหลังออกมาแล้วประกอบกลับเข้าไปเหมือนเดิมได้

เฟอร์นิเจอร์
โต๊ะโซฟา ทุกอย่างที่วางของได้ ควรใช้สีขาว เพราะของใช้ส่วนตัวพวกโทรศัพท์ กระเป๋าเงิน มักจะมีแต่สีดำขาย ถ้าเฟอร์นิเจอร์เป็นพื้นสีดำ เวลามืดๆจะหายากมาก

เฟอร์นิเจอร์แบบ built-in เชื่อมสนิทไปกับพื้น จะดีที่สุด เพราะไม่มีช่องว่างให้สัตว์อย่างแมลงสาบที่อาจหลุดรอดเข้ามาในห้อง ได้อาศัยหลบ เตียงที่ยกสูงจากพื้น ควรทำใต้เตียงเป็นลิ้นชักเก็บของ ดีกว่าซื้อเตียงแบบมีขามาใช้

ข้อเสียของโต๊ะพลาสติก คือ โดนความร้อนไม่ได้ ถ้าเผลใช้พวกเครื่องปืนเป่าลมร้อน จะทำให้พลาสติกงอเสียรูปได้

เครื่องครัว
สเตนเลส เหมาะใช้กับหม้อ ถ้าใช้ใส่อาหารต้องระวัง เพราะไม่ถูกกับน้ำส้มสายชู กรดต่างๆ รวมถึงอาหารที่มีความเค็ม อาจจะละลายได้

อลูมิเนียม ไม่ควรใช้กับภาชนะทุกชนิด เพราะ โดนช้อนขูดแล้วหลุดร่อน กลายเป็นโลหะ เมื่อกินเข้าไปจะทำปฎิกริยากับกรดในกระเพาะ ดูดซึมเข้าไปเป็นพิษในร่างกาย ถึงแม้ว่าจะไม่ขูด แต่อาหารที่มีความเค็มสามารถละลายได้

ตู้เย็น

ตู้เย็น ควรจะตั้งอุณหภูมิของช่องแช่แข็งไว้ที่ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า เพื่อให้พวกเนื้อสัตว์เก็บได้นานขึ้น และ ช่องแช่เย็นไว้ที่ 1-4 องศาเซลเซียส เพื่อให้เก็บอาหารได้โดยไม่บูดเน่า เพราะแบคทีเรียจะเริ่มทำงานที่อุณหภูมิสูงกว่า 4 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากเวลาเปิดตู้เย็นบ่อยๆ อุณหภูมิภายในตู้จะสูงขึ้น จึงควรปรับช่องแช่เย็นไว้ที่อุณหภูมิต่ำสุดคือ 1 องศาเซลเซียส เพราะตู้เย็นปกติจะปรับได้ต่ำสุดเท่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้ น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง

เวลาปรับอุณหภูมิ ควรจะหาเทอร์โมมิเตอร์มาวางไว้ในตู้เย็น จะได้รู้ว่า ปรับแล้วได้อุณหภูมิเท่าไหร่ แล้วจดไว้ในคู่มือ ถ้าวันไหนตู้เย็นเริ่มไม่เย็น ดูเทอร์โมมิเตอร์แล้วก็จะรู้ได้ทันที


ตู้เย็นเสียบ่อย เกิดจาก ไฟตก เวลาไฟดับไม่มีปัญหา แต่เวลาไฟมา จะเกิดไฟกระชาก ไฟโวลต์สูงเกิน 220v ไหลเข้ามา ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพัง ตู้เย็นจะเกิดผลกระทบได้ง่ายที่สุด คอมเพรสเซอร์อาจจะไหม้ แผงวงจรอาจจะช๊อต แม้แต่พัดลมข้างในก็อาจมีปัญหาเช่นกัน ผลที่ตามมาคือ ตู้เย็นไม่เย็น

คนที่รู้เรื่องตู้เย็นจึงมักจะเตือนว่า เวลาไฟดับ ให้ดึงปลั๊กออก แต่การทำแบบนั้นลำบากมาก บางทีก็ลืม เพราะตู้เย็นไม่ได้มีคนเฝ้าเวลาใช้งานเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นที่ เปิดใช้ตามความต้องการ วิธีที่ดีกว่าการใช้คนคือ ติดตั้งปลั๊กป้องกันไฟกระชาก วิธีง่ายๆคือ surge protector ถ้าเป็นตู้เย็นมีแผงวงจร ควรเปิดฝามาดู บนแผงหลังไฟเข้าอาจมี varistor เป็นตัวกันไฟกระชากอยู่แล้ว ถ้าไม่มีจึงค่อยติดตั้งเพิ่ม ผู้เขียนเคยเห็นบ้านที่ตู้เย็นเสียบ่อยๆ แต่หลังจากเขาติด surge protector ก่อนเข้าบ้าน แล้วตู้เย็นไม่เคยเสียอีกเลย แต่ surge protector จะป้องกันเฉพาะไฟเกิน อุปกรณ์ป้องกันไฟตกที่ดีกว่า surge protector คือ ตัวหน่วงเวลาตู้เย็นที่เรียกว่า fridge guard ในตู้เย็นแพงๆบางยี่ห้อจะมีติดมาในแผงวงจร ไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเพราะจะตีกัน แต่ถ้าไม่มีควรซื้อติดตั้งเพิ่ม มียี่ห้อที่ผลิตและวางขายในเมืองไทย (ผู้เขียนใช้มา 5-6 ปีแล้วยังไม่พัง จนตู้เย็นพังก่อนด้วยตัวของมันเองที่ทำมาไม่ดี) นอกจากจะป้องกันไฟเกิน ไฟตกแล้ว พอไฟมา มันจะหน่วงเวลาสักพัก เพื่อป้องกันไฟติดๆดับๆ ทำให้คอมเพรสเซอร์พัง ซึ่งแม้แต่ใจกลางเมือง ก็เคยมีปัญหาไฟตกหรือไฟติดๆดับๆ ถึงแม้ว่าไม่บ่อยนัก บางทีไฟตกแค่ไม่กี่วินาที แต่ถ้าเป็นบริเวณที่ไกลความเจริญ ที่ไฟติดๆดับๆบ่อย ถือว่าตัวหน่วงเวลาตู้เย็นเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นมาก โดยปกติแล้วตัวหน่วงเวลาตู้เย็นจะวางขายเป็นแอมป์ ให้ดูสเปคของตู้เย็น ว่าไฟเข้ากี่แอมแปร์ แล้วซื้อตัวหน่วงเวลาตู้เย็นที่แอมป์สูงกว่า การติดตัวหน่วงเวลาตู้เย็นกับกำแพงหลังตู้เย็น จะทำให้ตัวกล่องได้รับความร้อนจากตู้เย็น จึงควรติดตั้งห่างออกมาจากหลังตู้เย็นเล็กน้อย

อีกปัญหาสำคัญที่ทำให้ตู้เย็นพังเร็ว คือ การขนส่ง ถ้าผู้ขนส่งตู้เย็นไม่มีประสบการณ์ จะวางนอนไป ซึ่งมีโอกาสทำให้ตู้เย็นเสียหายได้ด้วยหลายสาเหตุ ถึงแม้ว่าพอถึงที่หมายแล้ว จะตั้งทิ้งไว้เป็นวัน แต่อายุการใช้งานของตู้เย็นก็อาจสั้นลง ดังนั้น ถ้าซื้อตู้เย็น ควรถามเรื่องการขนส่ง แล้วถ้าเจอพนักงานขนส่งวางนอนมา ควรปฎิเสธที่จะรับสินค้า และที่สำคัญคือ เมื่อตู้เย็นมาถึงบ้านแล้ว อย่าเปิดเครื่องทันทีเพื่อทดสอบ เคยมีคนทำเช่นนี้แล้ว ตู้เย็นพังในเวลาไม่ถึงปี ควรดูคู่มือตู้เย็นก่อน ว่าใช้น้ำยาอะไร ต้องตั้งทิ้งไว้นานเท่าไรจึงเปิดเครื่องได้ น้ำยารุ่นใหม่ๆตั้งทิ้งไว้แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็เปิดเครื่องได้เลย

รถเข็น 2 ล้อ ใช้ขนตู้เย็น โดยใช้เชือกผูกตู้เย็นไว้
กับรถเข็น ถ้าลงบันได ต้องช่วยยกจากด้านล่าง
แต่ถ้าขึ้นบันได สามารถยกคนเดียวได้ ถ้าดึงไหว

สำหรับตู้เย็นเก่า ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายในลักษณะวางนอน ต้องระวังเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชิ้นส่วนตู้เย็น ถ้ามีขดลวดระบายความร้อนด้านหลัง ไม่ควรวางด้านหลังทับกับพื้น อีกเรื่องหนึ่งคือ คอมเพรสเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะยึดไว้กับตู้ในแนวดิ่ง พอวางนอนบวกกับกระเทือน จะทำให้ขาเสีย บางยี่ห้อใช้สปริงก็จะทำให้สปริงเสีย พอเปิดเครื่องใหม่ก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์มีเสียงดัง วิธีป้องกันคือ หาวัสดุกันกระแทกมารองคอมเพรสเซอร์ไว้ในขณะเคลื่อนย้าย เพื่อป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์เขย่า ส่วนภายนอกตู้เย็น จะใช้ยางนิ่มๆหรือแม้แต่ผ้าหนาๆมาพันไว้เพื่อกันกระแทก และกันประตูเปิดเอง การวางนอนปกติจะวางด้านข้างลง จะใช้ด้านใด ให้ดูว่าท่อน้ำยาที่ไหลออกจากคอมเพรสเซอร์อยู่ทางใด พยายามวางไม่ให้น้ำยาไหลออกออกคอมเพรสเซอร์ เพราะ น้ำมันหล่อลื่นที่ผสมอยู่กับน้ำยา จะไหลออกมาด้วย ถ้าไม่รู้ให้วางฝั่งบานพับไว้ด้านบน เพื่อป้องกันประตูเปิด พอถึงจุดหมายแล้ว ตรวจสอบว่าไม่มีของเหลวไหลออกมาด้านหลัง ถ้ามีอย่าเปิดเครื่อง แต่ถ้าไม่มี ยังต้องวางตั้งทิ้งไว้เท่ากับเวลาที่วางนอน ให้น้ำยาไหลกลับเข้าที่ก่อน จึงค่อยเปิดเครื่อง เพราะท่อแอร์มีขนาดเล็ก หากรีบเปิด น้ำยาจะไปกองอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ทำให้ไม่มีน้ำมันหล่อลื่นในคอมเพรสเซอร์ ทำให้คอมเพรสเซอร์ร้อนจนพัง ทั้งนี้ให้ดูคู่มือเป็นสำคัญ เครื่องใช้ทุกชิ้น ถ้าคู่มือละเอียดกว่า แสดงว่าทำมาดีกว่า แม้แต่การติดตั้งก็ควรทำตามคู่มือ อย่าเชื่อคำแนะนำของช่าง เพราะช่างพวกนี้มักจะอ่านหนังสือน้อย

ก่อนเคลื่อนย้ายตู้เย็น ให้ถอดส่วนประกอบข้างในพวกชั้นวางของ ออกมาไว้ข้างนอก หรือใช้เทปกาวยึดไว้ไม่ให้หลุด

ตู้เย็นที่เก็บไว้ไม่ได้ใช้นาน ควรทำความสะอาดข้างในตู้เย็นตามที่คู่มือบอก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ น้ำยาล้างจาน หรือ สบู่ ละลายในอ่างแล้วใช้ใช้ฟองน้ำจุ่ม นำไปเช็ดด้านในตู้เย็นเพื่อล้างคราบมันออก ใส่ถ่านไม้เข้าไปเพื่อดูดกลิ่นแล้วปิดประตู ควรใช้ถ่านจำนวนมากพอ เพราะถ่านจะใช้วิธีดูดกลิ่นผ่านพื้นผิว

การเลือกตู้เย็น มีปัญหาที่พบบ่อยคือ ประตูปิดไม่สนิท ทำให้วันต่อมาตู้เย็นไม่เย็น การเลือกซื้อตู้ เย็น จึงควรเลือกซื้อขณะมีตัวอย่างเสียบปลั๊กให้ดู ดูว่าถ้าเปิดแง้มไว้แล้ว แม่เหล็กดึงประตูได้เองหรือไม่ ตู้เย็นบางรุ่นมีระบบปิดประตูอัตโนมัติ แต่ราคาแพง บางรุ่นมีเสียงเตือนซึ่งช่วยได้บ้าง แต่บางทีก็อาจไม่ได้ยิน ตู้เย็นบางยี่ห้ออย่างเช่น โตชิบา ยางประตูห่วยมากใช้ไปไม่กี่ปียางเสื่อม ถ้าประตูตู้เย็นที่ใช้อยู่ ไม่ค่อยดูด ทำให้ประตูแง้มบ่อย วิธีง่ายๆก็คือ หาอะไรมารองให้ตู้เย็นด้านหน้าเงยขึ้นเล็กน้อย นอกจากเรื่องประตูปิดไม่สนิทแล้ว ให้ดูวัสดุภายในว่า เวลาดึงเข้าดึงออก มีโอกาสแตกหักง่ายหรือไม่ ผู้เขียนเคยใช้ตู้เย็นซัมซุง ซึ่งยี่ห้อนี้ขึ้นชื่อว่าห่วยมาก แค่หมุนปรับอุณหภูมิ แกนก็หักแล้ว เพราะแกนเป็นพลาสติก ส่วนที่หักบ่อยที่สุดคือ บานพับของช่องแช่เย็นจัด ที่ใช้ใส่เนื้อสัตว์ไม่แข็ง ที่เรียกว่า chiller ถ้าเป็นแบบดึงลิ้นชักแล้วบานพับเปิดออก บานพับมักจะหักตรงแกนหมุน เพราะแกนเป็นพลาสติกทั้งชิ้น ผู้เขียนเคยใช้ยี่ห้อโตชิบาแล้วเจอปัญหานี้ แถมด้วยปัญหาอื่นอย่างเช่น ยางขอบประตูเสื่อม ท่อน้ำยารั่ว ฯลฯ ตู้เย็นยี่ห้อที่ออกแบบมาดี จะต้องไม่มีบานพับ แต่จะทำเป็นลิ้นชัก ตู้เย็นบางยี่ห้อ ไม่มี chiller ซึ่งบางบ้านไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะเนื้อสัตว์จะแช่ช่องแข็งเก็บไว้หลายวัน ถ้าไม่ต้องการแช่แข็ง ก็แช่ในช่องแช่เย็นปกติ โดยปรับอุณหภูมิของช่องแช่เย็นให้ต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส

ผู้เขียนยังไม่เคยเจอตู้เย็นยี่ห้อไหนไว้ใจได้เลย แม้แต่ยี่ห้อของฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าทนที่สุดก็ยังเคยเสียในเวลาไม่ถึงปี เพราะฉะนั้น ก่อนซื้อให้ถามร้านค้าว่ามีปัญหาเปลี่ยนภายในกี่วัน พอซื้อมาแล้วให้รีบใช้ ถ้าใช้ไปไม่กี่วันแล้วมีปัญหาจะได้เปลี่ยนใหม่ได้เลย ไม่ต้องปวดหัวเรื่องซ่อม เพราะถ้าเจอช่างชุ่ยๆ ซ่อมแล้วจะใช้ได้ไม่นานก็พังอีก เผลอๆไปทำชิ้นส่วนอื่นพังเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเป็นบริษัทผู้ผลิตโดยตรงจะไม่ชอบบอกข้อมูลให้ลูกค้าซ่อมเอง แต่ชอบเข้ามาซ่อมเพื่อให้ได้ค่าแรงและค่าอะหลั่ย วิธีป้องกันปัญหาคือ
ตู้เย็นควรมีแค่ปุ่มปรับอุณหภูมิเย็นมากหรือเย็นน้อย ไม่ควรจะหมุนเปิดปิดได้ในปุ่มเดียวกัน เพราะ บางทีเราอาจจะเผลอหมุนปิดหรือมือไปโดนทำให้ตู้เย็นปิดเอง แล้วหาสาเหตุไม่เจอ คิดว่าตู้เย็นเสีย

การซ่อมตู้เย็น เนื่องจากไม่เย็น ขั้นแรกให้ดูว่า คอมเพรสเซอร์ทำงานอยู่หรือไม่ ถ้าทำงานอยู่ แล้วสั่นหรือมีเสียงดังหรือไม่ ถ้าท่อรั่วควรจะมีสีเขียวเกาะซึ่งเป็นสีของสนิมทองแดง และมีน้ำมันไหลออความชื้นไม่ได้ทำให้ท่อสึกกร่อนไว ความชื้นไม่ได้ทำให้ท่อสึกกร่อนไว เพราะท่อส่วนมากเคลือบสีมาแล้ว ยกเว้นจุดไหนที่สีลอก บางครั้งท่อไม่รั่ว และวัดไฟเข้าคอมเพรสเซอร์ปกติ (เฟสเดียวหรือ 3 เฟส) แต่คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน อาจมีเสียงดังแปลกๆ บางครั้งไฟไม่เข้าแผงวงจรแสดงว่าแผงเสีย บางทีตู้เย็นสองประตู เย็นแค่ช่องแช่แข็งช่องเดียว แต่ช่องแช่เย็นไม่เย็น ซึ่งเกิดจากท่อส่งความเย็นจากช่องแช่แข็งมายังช่องแช่เย็นเกิดตัน ถ้าตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งอยู่ข้างบน มักจะเกิดจาก น้ำที่หยดลงมา เจอไอเย็นพ่นตามลงมา จึงกลายเป็นน้ำแข็งอุดตัน แต่ถ้าช่องแช่แข็งอยู่ด้านล่าง อาจเกิดจากพัดลมที่ดูดความเย็นขึ้นไปเสีย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม แก้ไขได้ง่ายๆโดยแกะท่อส่งความเย็นออกมาซ่อม โดยเปิดตู้เย็นในช่องแช่เย็น จะเห็นท่อส่งความเย็นอยู่ติดผนังตู้ด้านใน ให้หาจุดขันน็อตแล้วจึงจะแกะออกมาได้ ถ้าท่อตันเพราะน้ำแข็งเกาะ ต้องล้างน้ำแข็งออก แล้ววันหลังอย่าซื้อตู้เย็นยี่ห้อนั้นอีก

ตู้เย็นสองประตู กินไฟกว่าประตูเดียว แต่มีประโยชน์มากกว่า เพราะช่องแข็งจะแช่แข็งได้จริงๆ บางทีตู้เย็นเสียช่องธรรมดาที่ใช้เก็บน้ำกิน แต่ช่องแข็งยังดีอยู่ สามารถย้ายของมาเก็บได้ ไม่เหมือนตู้เย็นประตูเดียว ช่องแข็งมักจะไม่แข็งจริง และ ถ้าตู้เย็นเสียแล้ว ช่องแข็งมักจะใช้ไม่ได้ด้วย ตัวบานพับช่องแข็งก็มักจะหักได้ง่าย

จุดที่ติดตั้งตู้เย็น ควรมีประตูอยู่ด้านหลังตู้ เพื่อเวลาซ่อม สามารถเปิดประตูด้านหลังโดยไม่ต้องย้ายตู้ เพราะการเลื่อนตู้เย็นที่มีของเต็มตู้จะลำบาก


ตู้กับข้าว
ขาตู้ไม่ควรเป็นเหล็ก เพราะ ใช้ไปนานๆจะขึ้นสนิมแล้วขาผุหัก เนื่องจาก ขาตู้มักจะแช่อยู่ในถ้วยน้ำเพื่อกันมด แล้วน้ำในถ้วยระเหยขึ้นมาทำให้เหล็กขึ้นสนิมเร็ว ผู้เขียนเคยโทรไปถามบริษัทผลิตตู้กับข้าวอลูมิเนียมยี่ห้อหนึ่ง บริษัทบอกว่าเป็นอลูมิเนียมทั้งหมด ไม่ใช่ขาเหล็ก แต่ผู้เขียนไม่เชื่อ จึงไปทดสอบด้วยตนเอง โดยใช้แม่เหล็กที่ดูดดีพอสมควรไปลองแปะดู ปรากฎว่าสามารถดูดติดได้

ตู้วางของ

ของชิ้นเล็กๆน้อยๆ ถ้าไม่มีที่เก็บ จะเกลื่อนบ้าน ที่เก็บที่ดีที่สุดคือตู้เหล็กแบบมีลิ้นชักตั้งแต่ช่องเล็กถึงช่องใหญ่ แต่ถ้าต้องวางในที่ๆมีความชื้นสูง เช่นในครัว เหล็กจะผุเร็ว ควรจะเปลี่ยนมาใช้ชั้นพลาสติก

ถ้าเป็นชั้นวางของ ขาเหล็กยึดผนัง ควรเลือกให้มีความยาวเท่ากับชั้นวางของส่วนที่ยื่นออกมา เพื่อจะรับน้ำหนักได้ทั้งชั้น

แผ่นเหรียญเลื่อนเฟอร์นิเจอร์

การเคลื่อนย้ายของใหญ่
รถเข็น มีตั้งแต่ 2-4 ล้อ แต่ละตัวจะมีระบุว่า รับน้ำหนักได้สูงสุดเท่าใดจึงจะไม่พัง รถเข็นพับได้มักจะรับน้ำหนักได้น้อยกว่าแบบพับไม่ได้ แต่เก็บและขนย้ายง่ายกว่า รถ 2 ล้อมักจะเป็นเหมือนรถเข็นตู้เย็น รถ 3 ล้อมีตั้งแต่เล็กๆเตี้ยๆ ใช้ย้ายของเล็กๆอย่าง ตู้เย็น เตาแก๊ส โดยสอดเข้าไปข้างใต้ ถ้าของใหญ่และหนักต้องใช้รถ 4 ล้อ จะรับน้ำหนักได้มาก หากเป็นของจุกจิกแล้วกลัวหล่น อาจใส่ตะกร้าแล้วใช้เชือกมัด ถ้าเป็นของใหญ่ใช้เชือกมัดอย่างเดียว

แผ่นเหรียญเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ (slide pad) ทำจากพลาสติก ใช้ย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือตู้เอกสารขนาดใหญ่ในระยะสั้นมากๆ สัก 1 ฟุตได้ โดยสอดเข้าไปรองทั้ง 4 มุม ช่วยป้องกันขาเฟอร์นิเจอร์เสียดสีกับพื้นเสีย หาย

มูลี่
มูลี่ที่ไม่ควรใช้คือแบบเป็นซี่ๆ เพราะใช้ไปนานๆฝุ่นเกาะ แล้วทำความสะอาดยาก ควรใช้แบบเป็นผืนเดียว ใช้เครื่องดูดฝุ่นดูง่าย

ปฎิทิน
ควรใช้แบบที่แสดงวันหยุดชดเชยด้วย ซึ่งได้แก่ปฎิทินที่แจกโดยหน่วยงานในสังกัดของรัฐ ส่วนพวกปฎิทินจีนมักจะไม่มีบอก

ปฎิทินแบบแขวนจะไม่เกะกะ เหมือนแบบตั้งโต๊ะ

คราบกาว
สติกเกอร์ติดกาวที่ลอกไม่ออก หากติดอยู่กับภาชนะ ให้นำไปแช่น้ำ จะลอกออกง่ายขึ้น ถ้าเป็นสติกเกอร์เก่ามาก แช่น้ำแล้วลอกไม่ออก ลองนำผ้าเก่าๆ ชุบน้ำ ถูไปเรื่อยๆ จะหลุดออกมาเป็นขุยๆ

คราบกาวล้วนๆที่ไม่มีสติกเกอร์ ใช้อะซิโตน(น้ำยาล้างเล็บ) ชุบกับกระดาษทิชชู่ หรือ ผ้าเก่าๆ (เน้นว่าเก่าๆ ใช้แล้วทิ้งได้ เพราะคราบกาวจะติดผ้าออกมา) จะใช้ได้กับทุกพื้นผิวยกเว้นยางพาราและพลาสติกบางชนิด


การวัด
ไม้บรรทัดที่ดี ขีดแรกคือเลข 0 จะต้องเริ่มต้นที่สุดขอบไม้บรรทัด อย่าเว้นช่องว่างออกมา เพราะเวลาวัดบางอย่าง ต้องเอาไม้บรรทัดชนขอบ ขีดวัดควรมีทั้งหน่วยเป็นนิ้ว และ ซม. และจะต้องวัดได้พร้อมกันทั้งนิ้วและ ซม. จากขอบเดียวกัน โดยไม่ต้องพลิกหรือหมุนไม้บรรทัด เพราะบางทีต้องตัดสินใจว่าจะใช้หน่วยไหนโดยไม่ต้องปัดเศษ ไม้บรรทัดบางยี่ห้อออกแบบมาไม่ดี ขีดเป็นนิ้วกลับหัวไปอีกฝั่งทำให้ดูยากเสียเวลา

เวอร์เนีย (vernier caliper) ใช้วัดเส้นผ่าศูนย์กลางวัสดุทรงกลม เช่น ท่อ และ วัดความลึกได้ด้วย เวอร์เนียที่ดี ควรจะมีปากคีบที่หนาพอสมควร เวลาคีบสกรูจะได้ไม่ตกร่อง และ เวอร์เนียส่วนใหญ่จะใช้วัดของชิ้นเล็กๆเช่น น็อต ท่อ จึงควรจะใช้เวอร์เนียเล็กๆจะดีกว่า เพราะ ละเอียดขึ้น และพกพาง่าย

ตลับเมตรที่ดี
ระดับน้ำ
เวลาติดตั้งหิ้งหรือเทพื้นปูนให้ได้ระดับ วัดได้จากที่วัดระดับน้ำ ที่วัดระดับน้ำที่ดี เวลาซื้อให้ลองวางบนวัตถุที่เป็นแนวราบ แล้วลองพลิกดูฝั่งตรงข้าม ว่าวัดได้เหมือนกัน ปัจจุบันมีเครื่องวัดระดับน้ำแบบเลเซอร์ แต่มีราคาแพงและใช้งานได้หลากหลาย เพราะ ต้องวางกับขาตั้งกล้อง จึงใช้วัดบริเวณพื้นเตี้ยๆลำบาก

ระดับน้ำที่แน่นอนที่สุดคือ น้ำธรรมดานี่เอง ลองเทน้ำลงไปบนพื้นผิวแล้วดูว่าน้ำไหลไปทางใด โดยเทน้ำน้อยๆช้าๆเหมือนเวลาปัสสาวะ ถ้าเป็นพื้นปูนก็จะดูได้ว่ามีน้ำขังตรงจุดใด


หม้อหุงข้าว
ควรเลือกแบบข้างในเป็นสเตนเลส จะเก็บความร้อนได้ดีกว่าอลูมิเนียม ควรมีแบบหุงข้าวกล้องได้ด้วย ที่สำคัญ อย่าเคลือบ teflon ถึงแม้ว่าจะทำความสะอาดง่าย แต่เวลาขูดแล้วอาจถลอก เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ยี่ห้อที่ผู้เขียนเคยใช้แล้วดีทนทาน คือ ชาร์ปรุ่นเก่า ถ้ารุ่นใหม่ก็เป็นพานาโซนิค ยี่ห้อที่แย่คือ ฟิลิป

การเลือกหม้อหุงข้าว ให้ดูว่ากินกี่คน กินกี่มื้อ ถ้ากินคนเดียว คนกินข้าวพูนจานจะใช้หม้อหุงข้าวขนาดประมาณ 270 cc (cc ของหม้อหุงข้าว ไม่เท่ากับ cc ของน้ำ) ถ้าหุงกินมื้อเดียว ไม่ควรใช้แบบอุ่น ควรใช้แบบหุงเสร็จแล้วไฟดับเลย ซึ่งได้แก่หม้อขนาดเล็ก

เครื่องเย็บปากถุง
เวลากินขนมไม่หมด สามารถเย็บปิดปากถุงไว้ได้ ไม่ต้องใช้หนังยางรัด เวลาเดินทาง ถ้าขนมถุงไหนฟู ก็ใช้เข็มเจาะเพื่อรีดอากาศออก แล้วเย็บปากถุงทับ

โคมไฟดูหนังสือ
โคมไฟดูหนังสือ ฐานควรจะกว้าง เวลามือแกว่งไปโดนแล้ว จะได้ไม่ล้มง่าย และ ไม่ควรมีแสงทะลุออกมาจากด้านบน เพราะว่าแสงจะเข้าตา

โคมไฟที่คุ้มค่าที่สุดในระยะยาวคือ แบบใส่หลอดเกลียว เพราะมีการพัฒนามาเรื่อยๆจากหลอดใส้ มาเป็นหลอดตะเกียบ และปัจจุบันเป็นหลอด LED ซึ่งประหยัดไฟมาก

ต้นไม้
ต้นไม้ที่ปลูกบังแดดให้ร่มเงา ควรเป็นต้นไม้ไม่ผลัดใบ (แต่ใบจะร่วงเป็นเรื่องปกติ) เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกวาดมาก และไม่ต้องเจอแดดร้อนในช่วงผลัดใบ ต้นไม้ที่ปลูกใกล้ตัวบ้าน รากต้องไม่แผ่กว้าง (รากใหญ่จะชอนไชไปทำอันตรายตัวบ้านได้) เช่น ต้นหูหนู (บางคนเรียกต้นสั่งทำ) รากจะแทงลงไปใต้ดินในแนวดิ่ง แต่หูหนูจะโตช้ามาก แค่ปีละคืบ จึงควรปลูกต้นไม้โตเร็วอื่นๆที่รากไม่แผ่ไว้ช่วยด้วย เช่น จำปีสีนวลปลูกแค่ 2 ปี โตถึงหลังคาบ้านชั้น 2 แล้ว หรือ บุหงาส่าหรีก็โตเร็วเช่นกัน แต่ไม้ดอกพวกนี้มักตายง่ายเพราะมีเพลี้ยแป้งมากัดกิน ซึ่งต้องหาวิธีป้องกันไว้ล่วงหน้า ต้นไม้อื่นๆ ที่รากไม่ไกล คือ แก้วมุกดา ชมพู่มะเหมี่ยว สนมังกร กันเกรา ลำดวน ขนุน(ขนุนมีรากเยอะ แต่เป็นรากฝอย ไม่ชอนไชตัวบ้าน) ฯลฯ ปลุกห่างจากบ้านแค่ไม่กี่เมตรก็ใช้ได้แล้ว ต้นไม้เหล่านี้หลายชนิดสามารถทนน้ำเค็มได้ดี เช่น จำปีสีนวล แก้วมุกดา ชมพู่มะเหมี่ยว เรื่องที่ควรระวังคือ ต้นไม้เหล่านี้ หลายชนิดทนน้ำมากไม่ค่อยได้ มักจะตายเพราะน้ำท่วม หรือดินอุ้มน้ำมากเกินไป อย่างเช่น จำปี

การเลือกซื้อต้นไม้ ต้องรู้ว่าเป็นกิ่งตอนหรือปลุกใหม่ เพราะ กิ่งตอนจะไม่มีรากแก้ว

ต้นไม้ที่ควรหลีกเลี่ยงคือ พวกที่ผลัดใบอย่างเช่น มะขาม จามจุรี ไผ่ พวกนี้ใบร่วงต้องคอยกวาดอย่างเดียวไม่พอ ใบยังปลิวเข้าบ้านเข้าหลังคา และเข้าไปสร้างความรำคาญให้ข้างบ้านอีก ต้นที่รากแผ่กว้าง ก็ไม่เหมาะที่จะปลูกตามบ้าน ต้นไม้ที่มีผลไม้กินได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะมีมดตามมา ถ้าร่วงลงพื้น มดก็จะอยู่ตามพื้น ต้นไม้อีกประเภทที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ต้นสลัดกิ่งได้เองตามธรรมชาติ เช่น พวกยางนา ไม้ควรอยู่ใกล้บ้าน เพราะถ้ากิ่งหลุดลงมาจะทำบ้านและรถเสียหาย ถ้าหล่นทับคนก็ถึงตายได้ วิธีสังเกตุต้นที่ไม่สลัดกิ่ง คือ กิ่งไม่ใหญ่และไม่แผ่ออกในแนวราบ ถึงแม้ว่าจะไม่สลัดกิ่ง ก็ยังไว้ใจไม่ได้ทั้งหมด เพราะเวลาเกิดจากฝนตกหนักหลายวัน ต้นอาจหักโค่นลงมาได้เช่นกัน ทั้งเกิดจากดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว หรือ ลำต้นหนักจนรากขาด

ถ้ามีต้นไม้ผลัดใบอยู่แล้วกวาดไม่ไหว ให้ใช้ blower เป่า

ต้นไม้พุ่มเล็กๆ อย่างเช่นต้นเข็ม มักเป็นที่อยู่อาศัยของยุงและหนู

วิธีทำลายต้นไม้ใหญ่โดยไม่ต้องตัด คือ

สัตว์
มดจะมาตามกลิ่น ทั้งกลิ่นอาหาร และกลิ่นตัว วิธีกำจัดมดที่ต้นเหตุคือ กำจัดกลิ่นที่มดคิดว่าเป็นอาหารออกไปให้หมด มดจะเริ่มหายไปใน 1-2 วัน อาจถูพื้นด้วยน้ำช่วยด้วย เพื่อล้างสารที่มดปล่อยไว้ตามทางให้ฝูงตามมาถูก ส่วนวิธีป้องกันคือ ถ้าตรงไหนไม่อยากให้มีมด อย่ากินอะไรตรงนั้น หรือกินอย่าให้มีเศษอาหารตก ถ้าโดนมดกัดเวลานอน ป้องกันโดยใช้พัดลมเป่าพื้นข้างตัว มดเจอลมจะไม่เข้ามา ถ้าใช้พัดลมเป่าไม่ได้ ใช้เแป้งเด็กทาตามซอกลำตัวที่มีกลิ่น จะช่วยป้องกันมดกัดได้มาก เพราะมดไม่ชอบแป้งเด็ก แต่ไม่ควรใช้แป้งเด็กโรยพื้น นอกจากจะเกิดฝุ่นแล้ว มดยังเดินอ้อมได้ ถ้าเปิดพัดลมไม่ได้ ใช้มุ้งตาถี่กว่าขนาดมด ปิดทางมดเข้าให้มิดชิด ถ้ามีมดเดินอยู่ตามพื้นนอกบ้าน แล้วต้องการไล่อย่างรวดเร็วใช้ blower เป่าจะปลิวไปหมด ถ้าใช้พัดลมบ้านจะไล่อย่างช้าๆ บางครั้งพัดลมอย่างเดียวไล่มดไม่ได้ เพราะมดเลี่ยงเดินตามเส้นทางที่ไม่มีลม กรณีนี้ต้องหาทางทำลายรัง โดยตามทางเดินของมดไปหารัง มดอาจจะทำรังชั่วคราวตามพื้นปูนที่มีสิ่งปกคลุมเหมือนหลังคา อย่างใต้โน๊ตบุ๊ค หรือใต้พัดลม เมื่อเจอแล้วย้ายหลังคามดออกไป ใช้น้ำหยดลงไปที่พื้น แล้วใช้ไม้ถูพื้นกวาดตั้งแต่ทางเดินมดไปจนถึงรัง เพราะมดจะอาศัยเดินตามเส้นทางจากสารเคมีที่ตัวอื่นปล่อยไว้ จะกวาดได้ทั้งมดและสารเคมีในครั้งเดียว หากไม่เจอรัง ใช้วิธีถูพื้นบริเวณที่พบมดเยอะ พยายามถูให้เป็นบริเวณกว้าง ถูทุกวันจะทำลายสารเคมีที่มดทำไว้บนทางเดิน ทำให้มดเดินมาไม่ถูก วิธีสุดท้ายที่ผู้เขียนใช้ได้ผลเวลาใช้วิธีอื่นไม่ได้ อย่างหน้าหนาวเปิดพัดลมเยอะไม่ได้ คือท่องคาถาไตรสรณคมณ์ก่อนนอน

หนูอยู่ได้เพราะมีรู วิธีป้องกันหนูเข้าบ้านคือ อุดรูทั้งหมด ถ้าเป็นพวกไม้อัดบางๆ หนูสามารถกัดทะลุได้ง่าย ต้องใช้อิฐหรือปูน บางบ้านเลือกที่จะเลี้ยงแมวไว้ในบ้านช่วงกลางคืนเพื่อไล่หนู

แมลงสาบ ชอบอยู่ในที่มืดและอับชื้น วิธีป้องกันแมลงสาบไต่คือ ใช้จารบีทา หากมีร่องให้แมลงสาบมุดเข้าออกโถส้วม ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงไป แมลงสาบจะตายเกือบหมด

ปลวกขึ้นบ้านแล้วเราไม่ทำอะไร มันไม่มีทางหยุด มันจะค่อยๆกินบ้านไปเรื่อยๆ ถ้ากินฝ้าเพดาน เพดานจะค่อยๆร่วงลงมาทีละชิ้นจนหมด ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเห็นชัด สิ่งแรกที่ควรทำคือ ใจเย็น หาทางเดินของปลวก และรังของมันให้เจอ แล้วขุดรังปลวกไปทิ้ง เพื่อลดการฆ่า หลังจากน้ันรีบใช้อาหารที่ปลวกกินแล้วตายยกรัง เพื่อกำจัดปลวกอย่างถาวร โดยใช้เหยื่อล่อที่ปลวกมากินแล้วตายยกรัง อย่างเช่น เชื้อรา หรือซันเจี่ยชนิดครีม ทาบนกระดาษรังทิ้งไว้ใกล้รังปลวกเดิม รังปลวกมักจะอยู่ตามพื้น ที่มืดและชื้น เช่น แถวห้องใต้บันได ใกล้ห้องน้ำ ที่คนไม่สามารถเห็นได้ มีลักษณะเป็นกองดิน หลังจากรื้อรังแล้ว ปลวกจะเริ่มสร้างรังใหม่ที่เดิมภายในเวลาแค่ครึ่งคืนเราจะเริ่มเห็นรอยดิน ที่ปลวกพอกขึ้นมาใหม่ พอผ่านไปสักปีก็จะเริ่มเห็นรังชัดและเริ่มกินบ้านใหม่ ปลวกจะชอบที่มืดและชื้น บ้านจึงไม่ควรมีที่มืดและชื้นที่ปลวกจะมาอาศัยอยู่ได้ ถ้าปลวกขึ้นตามกระดาษบนพื้นหรือฝาผนัง คงไม่มีปัญหา แต่เอาพวกกระดาษใส่ถุงพลาสติกไว้ ปลวกจะไม่มายุ่งอีก แต่ถ้าปลวกขึ้นบ้านตามฝ้าเพดานจะลำบากมาก เพราะทำให้โครงสร้างหลังคาพังได้ แต่ซ่อมแซมลำบาก ยาไล่ปลวกเบื้องต้นคือ ใช้ permethrin 0.1% หาซื้อได้ตามแผนกสุนัข เป็นน้ำยากำจัดเห็บหมัด ใช้ฆ่าปลวกได้ น้ำยาตัวนี้ไม่มีอันตรายกับคน เพราะเมื่อโดนผิวหนังจะทำปฎิกริยากับน้ำมันบนผิวหนังแล้วหมดฤทธิ์ภายใน 15 นาที ถ้าเข้าสู่ร่างกาย จะสามารถขับออกได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงอย่าให้โดนร่างกาย แต่การฉีดน้ำยาจะไม่มีอายุตลอดไป วันหนึ่งน้ำยาเสื่อมสภาพ ปลวกก็จะมาได้อีก หรือ ปลวกอาจจะเปลี่ยนเส้นทางได้

ระวังอย่าให้หมาแมวเข้ามาในบ้าน เพราะจะทำสกปรก พวกนี้ขี้และเยี่ยวไม่เป็นที่ทำให้เหม็นไปทั่ว โดยเฉพาะตรงล้อรถที่หมาทุกตัวชอบมาเยี่ยวใส่ ส่วนแมวก็อาจเอายางล้อรถยนต์มาเป็นที่ลับเล็บ วิธีป้องกันหมาคงไม่ยากแค่กำแพงเตี้ยๆก็กันได้แล้ว ปัญหาคือแมวที่กระโดดขึ้นบนกำแพงสูงสัก 2 เมตรได้ ต้องหาอะไรแหลมๆมาวางบนกำแพง เช่นเศษแก้ว หรือตะปู จะป้องกันแมวได้

ถ้าเห็นหมาหรือแมวกัดกัน อย่าเข้าไปใกล้ อย่าเข้าไปห้ามหรือไล่ด้วยปาสิ่งของ เพราะมันจะมากัดเราแทน  ถ้าจะไล่ให้ใช้น้ำฉีด  บางทีแมวนอนเฉยๆ เราเดินไปเหยียบมัน หรือไปจับมันข้างหลัง ทำให้มันตกใจ ก็อาจจะโดนกัดได้  ถ้าแมวชอบมาฉี่ ให้ใช้พริกไทยป่นผสมน้ำใส่ foggy ฉีดให้ทั่ว แมวจะไม่กล้ามายุ่งอีก



รวมช่างมืออาชีพ
ช่างซ่อมรถยนต์ รถกะบะ ติดต่อ เฮียบวร (แถวสามเสน) 0897853405


เริ่มเขียน 23 พค. 53
แก้ไข 26 มค.66